posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่หนึ่ง)

20 เมษายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร      

********************

เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการทำมาหากินและวิถีชีวิตของผู้คนแทบทุกกลุ่มคน  การเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง  หากไม่ช่วยก็ถือว่า พวกเขาไม่ได้รับในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับ หรือกลับกันคือ หากไปช่วยคนที่ไม่ควรช่วย มันก็ไม่ยุติธรรม

จากความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากการไม่ช่วยคนที่ควรช่วยและดันไปช่วยคนที่ไม่ควรช่วยนี้ ทำให้ผมนึกถึงความหมายของความยุติธรรมที่อยู่ในตำราปรัชญาการเมืองระดับพื้นฐานเล่มหนึ่ง มีผู้แต่งชื่อ Adam Swift เขาบอกว่า ความยุติธรรมคือ “การให้ประชาชนในสิ่งที่ประชาชนควรจะได้ และไม่ให้ในสิ่งที่ไม่ควรได้” ซึ่ง Swift บอกว่านี่เป็นเพียงกรอบกว้างๆของความยุติธรรม ส่วนในรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่จะว่ากันไป เช่น “อะไร” คือสิ่งที่ประชาชน “ควร” จะได้ ?

คำว่า “อะไร” กับกับว่า “ควร”นี้ สำคัญมาก ? เพราะคำว่า ”ควรได้” กับ “ต้องได้” หรือ “เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะได้” มันไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และในทางกลับกัน ความยุติธรรมก็ย่อมต้องรวมถึง การไม่ควร/สามารถจะพรากหรือไปเอาในสิ่งที่เป็นของๆประชาชนอยู่แล้ว และขณะเดียวกัน ความยุติธรรมก็ย่อมต้องรวมถึงการไปยึดเอาของที่ประชาชนบางคนไม่สมควรครอบครองหรือไม่ควรได้หรือไม่มีสิทธิ์ได้ แล้วนำไปให้คนที่ควรได้หรือเป็นสิทธิ์ของเขาอยู่แล้ว

อย่าเพิ่งงงนะครับ ค่อยๆอ่านทำความเข้าใจ และค่อยๆคิดไปว่า มีอะไรบ้างที่เราควรหรือต้องได้ และอะไรที่เป็นของๆ เราที่ไม่มีใครควรหรือมีสิทธิ์มาพรากจากเราไป ? และมีอะไรบ้างที่ขณะนี้บางคนครอบครองในสิ่งที่เขาไม่ควรครอบครอง ?

จากหลักการกว้างๆข้างต้น คราวนี้ก็ลองมาลงในรายละเอียดกันดูว่า จะหาทางทำอย่างไรที่จะจัดสรรสิ่งต่างๆให้กับประชาชนได้อย่างยุติธรรม นั่นคือ ให้ในสิ่งที่ประชาชนควรจะได้ และไม่ให้ในสิ่งที่ไม่ควรได้

ที่ง่ายที่สุดคือ ให้ประชาชนในฐานะที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมานั่งประชุมกันเพื่อกำหนดการจัดสรรทรัพยากรหรือเงินกองกลางหรืองบประมาณส่วนกลางว่าควรจะใช้ไปในทางไหน นั่นคือ ให้ประชาชนมาบอกเลยว่า ตัวเองต้องการอะไร ?      ถ้าปล่อยให้ว่ากันแบบนั้น ก็คงจะยุ่งพิลึกเพราะประชาชนมีความแตกต่างกันทั้งทางฐานะ ศาสนา ความรู้ความสามารถ เพศ ทำให้มีความต้องการที่แตกต่างกัน และถ้าใช้เกณฑ์เสียงข้างมากตัดสิน ก็อาจจะพบว่าไปละเลยสิทธิ์เสรีภาพของเสียงข้างน้อย อย่างเช่น กว่าบ้านเราจะมีกฎหมายให้พื้นที่แก่คนพิการก็ค่อนข้างล่าช้ามาก และยังมีเรื่องอื่นๆที่ถ้าใช้เสียงข้างมากตัดสินจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น

ครั้นจะตั้งกฎไปเลยว่า ความยุติธรรมคือ แบ่งให้ทุกคนเท่าๆกัน มันก็ไม่ยุติธรรมอีก เพราะทำไมคนรวยต้องได้เท่าคนจน คนที่ต้องกินมากถึงจะอิ่มทำไมต้องได้เท่ากับคนที่กินน้อยก็อิ่มแล้ว ฯลฯ

หรือจะตั้งกฎไปเลยว่า ต้องเก็บภาษีคนรวยไปช่วยคนจน  แน่นอนว่าคนจนต้องบอกว่ายุติธรรม แต่คนรวยคงไม่เห็นอย่างนั้น  แน่นอนว่า คนรวยก็อยากช่วยคนจน แต่ช่วยในลักษณะของการ บริจาคให้คนจนที่สมควรได้ ไม่ใช่มาบังคับเก็บภาษีเงินได้ไปให้คนจนทุกคน เพราะคนจนบางคนในสายตาคนรวย ไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือ และแม้กระทั่งคนจนด้วยกันเองก็ยังเห็นว่า คนจนด้วยกันบางคนไม่สมควรได้ ดังนั้น ถ้าจะมาออกกฎหมายเก็บภาษีแพงๆ แล้วเอาไปช่วยคนจนแบบเหมาเข่งโดยไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย คนรวยหรือคนที่ต้องถูกเก็บภาษีแพงๆก็ย่อมไม่พอใจและเห็นว่าไม่ยุติธรรม รวมทั้งคนจนด้วยกันเองก็น่าจะคิดแบบนั้น เพราะคนจนไม่สมควรได้เท่าๆกัน แต่คนจนบางคนควรได้มากกว่าคนจนบางคน  แต่ถ้าให้เท่าๆกัน มันก็ไม่ยุติธรรม เพราะนั่นคือ การให้ในสิ่งที่ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ควรได้ !

อ้าว ! แล้วจะทำยังไงดีหละทีนี้ จะหากฎเกณฑ์กติกาอะไรที่ทำให้ทุกคนที่มีความแตกต่างกันสามารถยอมรับได้และเห็นว่ายุติธรรมโดยถ้วนหน้า ? แต่แน่นอนว่า ถ้าถามว่าความยุติธรรมยังใช่การให้ในสิ่งที่ประชาชนควรได้ และไม่ให้ในสิ่งที่ไม่ควรได้หรือไม่ ? เชื่อว่า ทุกคนคงตอบว่า “ก็ใช่” อยู่ดี

ทีนี้ ฝรั่งเขาก็ช่างคิดกันจริงๆกับปัญหาเรื่องความยุติธรรมนี้ มีฝรั่งหลายคนขบคิดต่อปัญหาความยุติธรรมนี้อย่างจริงจัง คราวนี้ขอยกตัวอย่างมาคนหนึ่งก่อน อย่างเช่นมีอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านหนึ่งชื่อ จอห์น รอลส์ (John Rawls) พยายามขบคิดหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น  อาจารย์รอลส์เข้าใจดีว่า เมื่อผู้ใหญ่ลีตีกลองเรียกลูกบ้านตัวเป็นๆทุกคนในหมู่บ้านมาประชุมร่วมกันเพื่อบอกความต้องการว่าตัวเองควรได้อะไรและคนอื่นไม่ควรได้อะไร รับรองว่าผู้ใหญ่คงต้องขอลาออกหรือหนีไปบวช ก่อนที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจหนีปัญหาอย่างไร อาจารย์รอลส์ก็รีบตีตั๋วนั่งเครื่องบินๆด่วนไปลงที่หน้าบ้านผู้ใหญ่ และรีบดึงตัวผู้ใหญ่ออกมา ก่อนที่ผู้ใหญ่จะลาออกหรือหนีไปบวชเพราะปวดหัวกับปัญหาความยุติธรรมในหมู่บ้าน

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่หนึ่ง)

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่หนึ่ง)

รอลส์แอบไปกระซิบข้างหูผู้ใหญ่ถึงอุบายอันแยบยลที่จะให้ลูกบ้านทุกคนสามารถหากฎกติกาอันเที่ยงธรรมที่ตัวลูกบ้านเองยอมรับได้

รอลส์เริ่มต้นโดยถามผู้ใหญ่ว่า “ท่านผู้ใหญ่ ที่ลูกบ้านตกลงกันไม่ได้เพราะอะไร ?” ผู้ใหญ่ตอบว่า “ก็คนโน้นจะเอาอย่างนี้ คนนี้จะเอาอย่างนั้น ข้าไม่รู้จะจัดสรรยังไงถึงจะพอใจกันถ้วนหน้า อย่างที่ลุงผู้ใหญ่บ้านโน้นเขาก็มีปัญหาเดียวกัน ก็ไอ้ที่ว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และไม่ควรช่วยคนที่ไม่ควรช่วยอ่ะ” อาจารย์รอลส์ถามกลับว่า “อ้าว แล้วผู้ใหญ่รู้ไหมหละว่า ทำไมคนเขาถึงคิดไม่เหมือนกัน”  ผู้ใหญ่หันมามองหน้าอาจารย์ฝรั่งหน้าเสี้ยมใส่แว่นหนาอย่างเบื่อๆแล้วตอบว่า “ก็คนมันต่างกัน ไม่เห็นหรือ บางคนรวย บางคนจน ไอ้ที่รวยเขาก็ว่าเขาขยันขวนขวาย บางคนเขารวยเพราะเขาเรียนเก่งฉลาด บางคนมันก็เรียนไม่เก่ง บางคนมันก็จน ต่างๆนานา ต่างจิตต่างใจกันไง แหม เป็นอาจารย์เป็นฝรั่งเสียเปล่า ไม่น่าไม่รู้เรื่องนี้นะ คำไทยก็มีมานานแล้วว่า นานาจิตตังไง”

อาจารย์รอลส์แกล้งโง่ต่อว่า “แล้วทำไมคนเราถึงนานาจิตตังหละ ? พ่อผู้ใหญ่”

คราวนี้ผู้ใหญ่ลีชักเริ่มสงสัยว่า อาจารย์รอลส์ไม่น่าจะแกล้งโง่เท่ากับจะกวนตีนมากกว่า ก็เลยตอบอย่างโมโหๆไปว่า “คนเราเกิดมาก็ต่างกันแล้ว บางคนตัวโต บางตัวเล็ก บางคนหัวมันดีมาแต่เกิด โง่แต่เกิดก็มี แถมบางคนเกิดในบ้านรวย บ้างก็บ้านจน ต่างๆนานา เกิดก็ต่าง ครอบครัวก็ต่างกัน ถ้าเกิดในเมืองหลวงก็ได้เปรียบกว่าชนบท หรือเกิดเป็นผู้ชายก็ดีอย่างเสียอย่าง ผู้หญิงก็เหมือนกัน บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ จนด้วย  แต่ดันชกมวยเก่ง รู้จักไหม บัวขาว อ่ะ เขาดังไปทั่วโลก นี่เห็นว่า ผู้ปกครองเด็กๆในหมู่บ้านบอกว่า อยากให้ข้าจัดสรรกองทุนหมู่บ้านทำค่ายมวยฝึกเด็กๆ โตขึ้นจะได้เป็นแบบบัวขาว แล้วก็จะได้รวยมีชื่อเสียง แต่บางบ้านเขาก็อยากให้เอาเงินไปทำสนามฟุตบอลอะไรอย่างงี้ ข้าปวดกระบาล อาจารย์ไม่ช่วยแล้วอย่าเอาตีนราน้ำเลย”

คราวนี้อาจารย์รอลส์เลยบอกผู้ใหญ่ลีว่า “ช่วยสิครับ ที่บินมานี้ก็เพราะต้องการจะมาให้ขายไอเดียการแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรมไงครับ และจะช่วยผู้ใหญ่ก่อนใครเลย สนไหมหละครับ ?” ผู้ใหญ่ตอบทันทีว่า “สนสิ แต่ไม่เชื่อหรอกว่าจะแก้ได้ มันยากนะ ข้าคิดหัวแทบแตก ยังคิดไม่ออก”

ว่าแล้ว อาจารย์รอลส์ก็อธิบายอุบายของเขา

“ผู้ใหญ่ครับ ถ้าผู้ใหญ่เรียกลูกบ้านมาประชุมแบบนี้ ก็ย่อมจะต้องเกิดปัญหาแบบนี้แน่นอน ที่ไหนๆประเทศไหนๆก็มีปัญหาแบบนี้แหละครับ  เพราะมันก็นานาจิตตังกันทั้งนั้นใช่ไหมครับ และนานาจิตตังที่ว่านี้ มันก็มาจากเกิดมาต่างกัน ครอบครัวต่างกัน อะไรๆก็ต่างกัน เลยคิดต่างกัน ความยุติธรรมมันก็เลยไม่ลงตัว  ผู้ใหญ่ก็ลองบอกลูกบ้านใหม่สิครับว่า ลองให้พวกเขาสมมุติว่า ยังไม่รู้ว่าจะเกิดมาฉลาดหรือโง่ ตัวโตหรือเล็ก เป็นเจ๊กหรือเป็นแขก แดกเก่งหรือแดกน้อย ชอบอ้อยหรือชอบทุเรียน อ่านเขียนเก่งหรือเปล่า ชอบเหล้าหรือชอบฟังเทศน์  เพศหญิงหรือชาย หรือไม่เอาทั้งสอง ฯลฯ เมื่อให้ทุกคนลองคิดว่า ไม่รู้ว่าจะเกิดมาแล้วเป็นอะไรยังไง มีฐานะยังไง และอะไรๆอื่นก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นแบบไหนนะครับ”

ผู้ใหญ่ลีฟังแล้วมึนๆ “แล้วยังไงวะ !?”

อาจารย์รอลส์เจ้าปัญญาก็แนะนำต่อไปว่า “แล้วผู้ใหญ่ก็บอกว่า ให้ทุกคนสมมุติว่า ตอนนี้ ยังไม่มีกฎเกณฑ์กติกาอะไร ไม่ได้มีกฎหมายเก็บภาษีแบบไหน หรือมีสวัสดิการแบบไหน    พูดง่ายๆก็คือ บอกพวกเขาว่า ยังเป็นวิญญาณอยู่ ยังไม่ได้เกิดก็แล้วกัน  แต่มีจิตที่ยังไม่ได้เกิด แต่คิดเป็น ใช้เหตุใช้ผลเป็น ทีนี้ ก็ให้แต่ละคนลองคิดอ่านหาทางวางหรือสร้างกติกาเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมสำหรับตัวเองยังไง ดีไหมครับ ผู้ใหญ่ แล้วลองดูว่าลูกบ้านจะมีคำตอบออกมายังไง”

พอฟังแล้ว ผู้ใหญ่ก็อึ้งไปนิดนึง แล้วก็พยักหน้าหงึกๆ “เอ ฟังเข้าท่าดีนะ อย่างน้อยก็ถ่วงเวลาไปได้ หึๆ” ว่าแล้ว ก็รีบเดินกลับเข้าไปที่ลานหน้าบ้านที่เต็มไปด้วยลูกบ้านนั่งๆยืนๆสลอนกันอยู่  แล้วผู้ใหญ่ก็ประกาศว่า

“เอ้า หมู่เฮาทั้งหลาย ต่อไปนี้ ให้แต่ละคนลองคิดไปว่า ยังไม่ได้เกิดมา ไอ้ที่รวยอยู่ตอนนี้ ก็ไม่ได้รวย ไอ้ที่จนอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้จน ไอ้ที่หน้าโง่อยู่ตอนนี้ ก็ไม่ได้โง่ ไอ้ที่ทำหน้าฉลาดอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้ฉลาด ไอ้ที่เป็นกันอยู่ตอนนี้ไม่ได้เป็น คือแต่ละคนยังไม่ได้รู้ว่าจะเกิดมาเป็นยังไง อยู่บ้านไหน อะไรต่ออะไร แล้วกฎเกณฑ์อะไรต่างๆที่อยู่ในหัวตอนนี้ ก็ลบมันทิ้งไปก่อน แล้วลองนึกดูว่า ถ้าอยู่ในสภาพแบบที่ข้าว่ามานี้ พวกเราแต่ละคนจะวางกติกาจัดสรรข้าวของเงินทองกันยังไงถึงจะเป็นที่พอใจ อย่างที่เขาเรียกว่า ยุติธรรม นั่น”

คนแต่ละคนก็จะเริ่มคิดเริ่มจินตนาการกัน คนรวยก็คิดว่า ถ้าเกิดมาจน ก็ซวยแน่ และก็คงต้องเรียกร้องแบบที่คนจนในหมู่บ้านเรียกร้องอยู่  ส่วนคนจนก็คิดว่า ถ้ากูรวย กูก็ไม่อยากให้ใครมารีดภาษีไปง่ายๆ  ถ้าจะรีดก็ต้องเอาไปช่วยคนที่สมควรจริงๆ  คนรวยก็คิดว่า ถ้ากูซวยเกิดจนหรือเกิดไม่ทำมาค้าขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ ก็อยากจะให้มีเงินช่วยเหลือ คนที่นับถือศาสนาหนึ่งที่เคยเป็นศาสนาใหญ่ในหมู่บ้าน คิดเผื่อไปว่า ถ้าตัวเองดันเกิดมาแล้วไม่ได้นับถือศาสนานั้น แต่ไปนับถือศาสนาของคนกลุ่มน้อย ก็เลยอยากจะให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนากันดีกว่า ฯลฯ"

แต่โดยรวมๆคือ คนจะคิดเผื่อความโชคร้าย ความซวย ความไร้สิทธิ์ไร้เสียง ด้อยโอกาสไว้ก่อน ไม่ค่อยจะมีใครคิดไปในทางดีเท่าไรนักนอกจากพวกโลกสวยฝันหวาน เพราะถ้าเกิดมาดันดี มันก็ดีไป สมกับที่คิดจินตนาการ  แต่ส่วนใหญ่หรือทุกคนจะคิดเผื่อในทางร้ายไว้ก่อน ดังนั้น กติกาที่แต่ละคนคิดวางเป็นกฎหมู่บ้านในสภาพที่เป็นจิตก่อนเกิด จึงจะไม่น่าแตกต่างขัดแย้งกัน จนสร้างความปวดหัวให้ผู้ใหญ่อีกต่อไป  ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น รอฟังผลในคราวต่อไปครับ

ท่านผู้อ่านจะลองสมมุติตัวเองแบบที่อาจารย์รอลส์ออกอุบายให้ผู้ใหญ่บอกให้ลูกบ้านสมมุติตัวเองดูด้วยก็ได้ แล้วลองมาเทียบกันดูว่าตรงกับลูกบ้านผู้ใหญ่ลีไหม ? และคนในหมู่บ้านจะคิดเผื่อสถานการณ์โรคระบาดไว้ด้วยหรือเปล่า ?