posttoday

ความหวัง

28 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**********

1.

Studs Terkel (1912-2008) ใช้ปกรณัมกุณฑีของแพนดอร่าตั้งประเด็นให้คิดเกี่ยวกับท่าทีของเราต่อความหวัง

ตามปกรณัมโบราณ เมื่อซูสเทพบิดรได้ลงโทษโปรมีเธียสในฐานที่ขโมยไฟจากสวรรค์มามอบให้มนุษย์พร้อมกับศิลปวิทยาการแล้ว ก็ยังต้องการลงโทษมนุษย์ที่อาจหาญกล้าแข็งขืนต่อปวงเทพเจ้า จึงบรรจุสิ่งเลวร้ายต่างๆ เช่นความเจ็บปวด ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความยากลำบากทั้งหลาย ลงในกุณฑีขนาดใหญ่ ปิดฝาผนึกไว้ แล้วมอบให้แพนดอร่า สตรีงามที่ซูสมีเทวโองการให้สร้างขึ้นมาเพื่อส่งไปลงโทษมนุษย์ ซูสส่งแพนดอร่ามาหาเอปิมีเธียส เมื่อเอปิมีเธียสเห็นความงามของแพนดอร่าก็รับนางเป็นภรรยา โดยไม่ฟังคำของโปรมีเธียสที่เตือนน้องชายว่าอย่าได้รับของใดๆ ที่เทพเจ้าประทานมาเป็นอันขาด  

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แพนดอร่าอดใจไว้ไม่ไหวจะต้องรู้ให้ได้ว่าซูสบรรจุอะไรไว้ในกุณฑีที่มอบให้นางมา แพนดอร่า หรือบางตำราว่าเป็นเอปิมีเธียสเองก็เปิดฝากุณฑีออกมาดู ในจังหวะนั้น สิ่งเลวร้ายที่ซูสบรรจุไว้ก็หลั่งไหลออกมาสู่โลกจนหมด เหลือเพียงความหวัง อันเป็นสิ่งดีสิ่งเดียวที่ซูสบรรจุไว้ในกุณฑีแพนดอร่าชั้นลึกที่สุด ยังไม่ได้ไหลออกมา แต่แพนดอร่า จะด้วยความตกใจหรือมีอะไรมาดลใจให้ทำอย่างนั้น ก็ชิงปิดฝากุณฑี ความหวังเลยถูกขังไว้ข้างในนั้นต่อไป

ตามพจนานุกรมปกรณัมคลาสสิคของ Pierre Grimal เล่าตำนานนี้อีกแบบหนึ่งว่าในกุณฑีใบนั้นไม่ได้บรรจุความเลวร้ายลงมาให้โลก สิ่งที่อยู่ในนั้นล้วนแต่เป็นพรทุกประการที่มนุษย์ปรารถนา แต่เป็นเพราะแพนดอร่าเปิดฝากุณฑีโดยไม่ระวัง พรทั้งหลายเหล่านั้นแทนที่จะอยู่กับมนุษย์ ก็ลอยกลับคืนสู่สวรรค์จนหมด เหลือแต่เพียงความหวังที่ไม่หายไปไหน และอยู่ปลอบประโลมมนุษย์ในยามที่พวกเขาต้องเผชิญกับความทุกข์บรรดามีในโลก

2.

การมองโลกในแง่ดีหรือการมองโลกในแง่ร้ายสัมพันธ์โดยตรงกับท่าทีต่อความหวังที่เราแต่ละคนมี  

การตีความปกรณัมข้างต้นของ Nietzsche (1844-1900) คือตัวอย่างของการมองโลกและมองความหวังในแง่ร้าย ซึ่งมีนัยรวมถึงการมองเทพเจ้าในทางร้ายด้วย  

ในความเห็นของนีทเช่อ ไม่เพียงแต่กุณฑีที่ซุสมอบให้แพนดอร่าจะปล่อยความลำบากเลวร้ายทั้งหลายให้ไหลออกมาสู่โลกเพื่อทรมานมนุษย์ แต่ซุสเกรงว่าเมื่อมนุษย์เจอความลำบากเลวร้ายต่างๆ ทรมานจนรับไม่ไหว จะพากันตัดสินใจทิ้งชีวิตของตัวเองเพื่อหนีความเลวร้ายที่ประสบพบเจอ ซุสไม่อยากให้มนุษย์พ้นจากความทรมานไปได้ง่ายๆ แบบนั้น แต่อยากเห็นมนุษย์ปล่อยตัวเองให้ยอมรับความทรมานซ้ำใหม่เรื่อยไป จึงให้ความหวังติดมาในกุณฑี  

ในแง่นี้ ความหวังจึงไม่ใช่สิ่งดีสิ่งเดียวที่มีอยู่และเหลืออยู่ในภาชนะเจ้ากรรมใบนั้น นีทเช่อบอกว่าความหวังเป็นความชั่วร้ายยิ่งกว่าความชั่วร้ายอื่นใดหมด เพราะความหวังคือสิ่งที่มายืดเวลาการทรมานออกไปไม่จบสิ้น

3.

ถ้าความหวังถูกส่งลงมาทำงานในโลกอย่างที่นีทเช่อตีความปกรณัมแพนดอร่า  ความหวังแบบนั้นจะนำมนุษย์ไปลงเอยที่ความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า และความรู้สึกผิดหวังนี้เอง ที่ Albert O. Hirschman (1915-2012) ถือเป็นประเด็นใจกลางในการทำความเข้าใจกระแสพฤติกรรมในสังคมที่จะเห็นการสลับกลับไปกลับมาในเวลาแต่ละช่วง ระหว่างการอยู่แบบตัวใครตัวมันและต่างคนต่างทำไปอย่างมุ่งเน้นในทางผลประโยชน์ส่วนตัว กับการออกมารวมตัวกันเคลื่อนไหวกระทำการร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นขบวนการเพื่อเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ส่วนรวม เฮิชแมนพิจารณาความหวังกับความผิดหวังสัมพันธ์กับความเป็นจริงในแง่ที่ว่า มนุษย์เรามักตั้งความหวังไว้เกินจากความเป็นจริงในอนาคตจะตอบสนองได้ และแทบจะไม่เคยพบความเป็นจริงใดที่เกิดขึ้นจนให้เขาได้มากเกินจากความหวังที่ตั้งไว้

ความหวังที่ลงเอยด้วยความผิดหวังจากการออกมารวมตัวเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อมุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมนั้น เฮิชแมนบอกว่ามีที่มาสำคัญจาก overcommitment  ของคนจำนวนน้อย และ underinvolvement ของคนจำนวนมาก  เฮิชแมนฝากปริศนาธรรมข้อนี้ให้คนนำขบวนการหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแนวทาง วิธีการ และขีดความสามารถของคนต่างกลุ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางเมือง

4.

ในเรื่องความหวัง Studs Terkel รู้เฉลียวดีกว่านีทเช่อ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งได้ว่า เทอร์เกลเชื่อคำเตือนของโปรมีเธียสที่เตือนว่าอย่ารับของขวัญใดๆ จากเทพเจ้า ดังนั้น แทนที่เขาจะมองแบบนีทเช่อว่าความหวังเป็นสิ่งที่ซุสมอบให้มนุษย์ เขาเลือกมองหาที่มาของความหวังจากแหล่งอื่น และเขาพบมันในเรื่องราวการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยที่ไม่ยอมสิ้นหวัง ไม่ยอมให้ความหวังสูญเสียไป ในการลุกขึ้นสู้ของคนเหล่านี้ ความหวังเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาจะยอมสละ  

ความหวังเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะตาย

เทอร์เกลจึงเขียนประโยคเปิดในหนังสือของเขาว่า ไม่เคยมีที่ไหนที่ความหวังจะหลั่งรินลงมา  

“Hope has never trickled down. It has always sprung up.”