posttoday

วิธีการ “ทำมาหากิน” ในรัฐสภาไทย (3)

15 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**********************

การเมืองไทยเคยมีแนวคิดว่า “กินแบ่งอยู่รอด กินรวบวายวอด”

ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนิสิตน้องใหม่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปึ 2519 ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง คือเหตุการณ์วันที่6 ตุลาคม 2519 ที่ทหารได้ปลุกระดมว่านักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นลูกแกว(ญวน) และต้องการล้มล้างสถาบัน ซึ่งในตอนเย็นวันนั้นผู้เขียนกับเพื่อนได้ผ่านไปดู “ซาก” จากการเผาศพกันสดๆ ที่ต้นมะขามข้างสนามหลวง หน้าหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นด้วย และแทบจะไม่เชื่อสายตาว่าคนไทยจะทำกันได้ถึงขนาดนี้

บรรยากาศในมหาวิทยาลัยในช่วงนั่นค่อนข้างเงียบเหงา การเรียนการสอนเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินกำลังยึดครองประเทศไทยอยู่ อาจารย์บางท่านใช้แนวการสอนแบบ “ตีวัวกระทบคราด” คือแทนที่จะด่าทหารตรงๆ ก็อ้อมๆ ด่าผ่านระบบราชการ เพราะทหารก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ แต่ก็มีอาจารย์จำนวนหนึ่งที่ “เชลียร์ท็อปบู๊ต” ชื่นชมว่าทหารกำลัง “พลิกโฉม” การเมืองการปกครองของประเทศไทย โดยมีอาจารย์บางคนถึงกลับอ้างตัวเองว่าเป็นผู้เสนอไอเดีย “กินแบ่งดีกว่ากินรวบ” ในการร่างรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการร่วมด้วยคนหนึ่ง

ท่านใช้เวลาที่ควรสอนในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ท่านรับผิดชอบ บรรยายในเรื่อง “ทฤษฎีกินแบ่ง” อยู่หลายคาบหลายชั่วโมง โดยบรรยายถึงปัญหาทางการเมืองของไทยว่า ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 การเมืองไทยเต็มไปด้วย “การแย่งชิงอำนาจ” เริ่มตั้งแต่ในคณะราษฎรเองก็แบ่งเป็นฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือนเข้าแข่งอำนาจวาสนาระหว่างกันเรื่อยมาจนถึงหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ฝ่ายทหารจึงครอบครองอำนาจไว้ทั้งหมด และครอบครองต่อมาจนถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2512 ที่ทหารก็ยังปิดโอกาสไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจร่วมด้วย โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511ไม่ให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรี และผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรีก็คือนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร อันนำมาซึ่งการต่อรองในสภาจาก ส.ส.จนรัฐบาลคุมไม่อยู่และต้องทำรัฐประหารตัวเองใน พ.ศ. 2514ในที่สุด

แต่สถานการณ์กลับยิ่งแย่ลงไปเพราะนักศึกษาและปัญญาชนได้เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง กระทั่งทำให้เกิดการจลาจลในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม2516 แต่เมื่อขับไล่ทหารออกไปจากวงจรการเมืองแล้ว โดยกีดกันไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 บ้านเมืองหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2518 ก็หาได้มีความสงบเรียบร้อยไม่ สุดท้ายก็คือการที่ทหารตำรวจเข้าปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ดังกล่าว

“อาจารย์ลายพราง” ท่านนี้เล่าว่า ท่านเป็นคนที่นำเสนอให้มีการสร้างสมดุลอำนาจ ระหว่าง “กลุ่มอำนาจเก่า” คือทหารกับข้าราชการ เข้าด้วยกันกับ “กลุ่มอำนาจใหม่” คือนักการเมืองและนักธุรกิจ อันเป็นที่มาของการให้มีสภา 2 สภา คือให้ทหารกับข้าราชการเข้าไปอยู่ในวุฒิสภา และให้นักการเมืองกับนักธุรกิจเข้าไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ให้ทั้งสองสภาทำหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การควบคุมดูแลรัฐบาล และการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินของระบบราชการ โดยท่านเชื่อว่าด้วยการประสานอำนาจเช่นนี้ จะทำให้การเมืองไทยมีความราบรื่นและมีเสถียรภาพดีกว่าเดิม

แต่จากข้อมูลประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย พบว่าหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีขึ้นในปี 2522 กลุ่มการเมืองเสียงข้างมากจำนวนหลายพรรคได้ร่วมกันเสนอชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นไป “ตามโผ” ที่ฝ่ายทหารได้วางแผนการณ์ไว้ ทว่าในสภาเองกลับไม่ได้ “ราบรื่น” ดั่งที่ฝ่ายทหารและผู้ร่างรัฐธรรมนูญคาดการณ์ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรก็มีการต่อรองตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลอยู่ไม่หยุดหย่อน

ในขณะที่ในวุฒิสภาก็มีความขัดแย้งกันของสมาชิกที่มาจากทหาร 2 กลุ่มใหญ่ คือนายทหาร จปร.รุ่น 5 ที่เติบโตมาทตามอาวุโส อยู่ในส่วนบังคับบัญชาระดับกรม กับนายทหาร จปร.รุ่น7 ที่กำลังเติบโตขึ้นมาในตำแหน่งควบคุมกำลังในส่วนกำลังรบต่างๆ ในระดับกองพัน จนเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ถูกสภาผู้แทนราษฎรยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยเสียงที่ง่อนแง่นในทั้งสองสภา พร้อมกับที่มีกระแสข่าวว่าจะต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

โดยนายทหาร จปร.7 ได้หนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ เพราะมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าพล.อ.เกรียงศักดิ์ ทำให้พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการเปิดอภิปราย นี่ก็แสดงว่าทฤษฎี “กินแบ่ง” ที่ท่านอาจารย์ลายพรางท่านนั้นได้กล่าวอ้างจึงไม่เป็นความจริง

แม้ว่าภายใต้การนำประเทศของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะมีความสงบราบรื่นพอสมควร แต่ก็เป็นด้วยบุคลิกภาพของพล.อ.เปรม เอง ที่เป็นคนวางตัวดี ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ โดยให้ “องครักษ์พิทักษ์ป๋า” คอยเข้าช่วยเหลือ หรือถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทหารกับนักการเมือง ก็จะมีคนที่อาสาเป็น “กาวใจ” เข้าแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้อยู่เสมอ

แต่ที่สุด “แก่นแท้ของการเมืองไทย”ซึ่งก็คือการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็ยังมีอิทธิพลอยู่เหนือกติกาต่างๆ แม้จะเชื่อกันว่าได้วางกลไกไว้เป็นอย่างดี แต่ที่สุดก็ไม่อาจจะพยุงรัฐบาลของ พล.อ.เปรมให้อยู่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง โดยได้เกิดปรากฎการณ์ “เบื่อป๋า” จนกระทั่งพลเอกเปรมต้องประกาศวางมือทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ.2531นั้น

ว่ากันว่าการร่างรัฐธรรมนูญ .ศ. 2560 ก็มีแนวทางที่พยายามจะเลียนแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 นั้นไว้ เพื่อที่จะ “ดึงดูด” ให้นักการเมืองเข้ามาสนับสนุนทหาร โดยได้พยายามที่จะ “จัดสรรปันส่วน” ผลประโยชน์ต่างๆ ให้สวยงาม แต่ด้วยเนื้อหาที่แท้จริงที่ยังคงมีคนมองอยู่ว่า นี่ก็คือการวางแผนที่จะให้มีการ “สืบทอดอำนาจ” ของทหาร จึงอาจจะทำให้รัฐบาลทหารชุดนี้มีจุดจบเช่นเดียวกันกับรัฐบาลของพล.อ.เปรมในยุคนั้นได้เช่นเดียวกัน

มาดูกันว่านักการเมืองไทยจะมีวิธี “เอาตัวรอด” ในทางการเมืองต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ประสานอำนาจ” ระหว่างทหารกับนักการเมือง ที่ยังจะต้อง “ถูลู่ถูกัง” กันต่อไป

*******************************