posttoday

เกษตรอ่วมหนัก...ราคาตกและแทรกซ้อนด้วยภัยแล้ง

20 มกราคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ภาคส่วนที่มีปัญหามากที่สุดแต่ไม่ค่อยมีปากเสียง คือ เกษตรกรมีจำนวนครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 4.251 ล้านครัวเรือนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของเกษตรกรทั้งหมดมีแรงงานร่วม 12 ล้านคนคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำ เป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญเพราะเป็นฐานบริโภคเอกชนที่มีประชากรมากที่สุด

ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวนา ชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สวนยางพารา และพืชเกษตรต่างๆ ดำรงชีวิตด้วยความไม่แน่นอนต้องพึ่งดิน ฟ้า อากาศที่มีความแปรปรวนปีเดียวกันมีทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้งและต้องเจอกับราคาขายสินค้าที่ถูกกดราคา ต้นทุนการผลิตสูง หนี้ครัวเรือนของประเทศสัดส่วนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร

ปัญหาเหล่านี้ผู้แทนราษฎรทั้งหลายรู้ดีและรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ทราบปัญหาดี การแก้ปัญหาเป็นเพียงแค่ไม่ให้มาเดินขบวนหน้าทำเนียบหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับถูกฝังกลบไม่แก้อย่างจริงจัง

สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสไปประชุมร่วมกับองค์กรเกษตรกรชาวสวนยางเนื่องจากเคยทำงานร่วมกันมาหลายปี พบว่าปัญหายังคงเดิมจะผ่านมากี่ปีแห่กันมาพูดเรื่องราคาและปัญหาเดิมๆ ซึ่งเคยคุยกันตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีไปจนถึงนายกรัฐมนตรีก็แก้กันไม่จบ

เช่น โครงการส่งเสริมเอายางพาราไปแปรรูปเพื่อลดซัพพลายหวังดึงราคาผลักดันให้เอาไปราดผิวทำถนนทางวิชาการบอกทำได้มอบนโยบายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการมาถึงวันนี้ก็ยังเงียบ ด้านราคาปี 2561 ว่าแย่แล้วแต่ปี 2562 กลับตกต่ำกว่าอีก

ส่วนหนึ่งเพราะไทยพึ่งพาผู้ซื้อจากจีนซึ่งไม่ใช่เฉพาะยางแต่สินค้าเกษตรต่างๆ ล้วนพึ่งพาตลาดจีนที่ชอบเข้าไปล้วงลูกเข้ารับซื้อถึงในสวนเป็นตัวกลางหรือ "ล้ง" ทั้งขายทั้งซื้อเหมาหมดจนเดียวนี้นักลงทุนจีนเห่กันมาตั้งโรงงานปลายน้ำผลิตและส่งออกเองไม่เหลือให้ใครกิน

กลับมาที่เรื่องยางพาราปัญหาหลักเกิดจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอยู่ในช่วงชะลอตัว การส่งออก 15 ประเทศลำดับแรกมีสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เป็นบวกนอกนั้นติดลบหมด ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักชนิดเดียวที่กินไม่ได้ใช้เป็นวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม

เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยางคอนดอม คิ้วยางในรถยนต์ แหวน-ปะเก็น ที่นอน-หมอนยางพารา ปูสนามฟุตซอล ไม่เว้นแม้แต่เอาไปทำหนังสติ๊กรัดของหรือรัดผมรวมไปถึงลูกโป่งให้เด็กเล่น แต่ข้อเท็จจริงยางพาราต้นน้ำในระดับเกษตรกรชาวสวนยางหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม อย่างเก่งก็ขายตรงให้กับโรงงานทำคอมปาวด์ ยางก้อน ยางแท่ง ยางลัง การแปรรูปยางพาราเชิงพาณิชย์ยังไม่ค่อยเป็นจริงเป็นจัง

ทั้งที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาทำกันมาหลายสิบปีเหตุเพราะเป็นงานวิจัยทางวิชาการไม่ใช่เชิงพาณิชย์

ที่ยกตัวอย่างเกษตรกรชาวสวนยางให้เห็นถึงภาครวมเกษตรกรทั้งประเทศเป็นจุดเปราะบางเพราะเป็นรากเหง้าของการพัฒนาที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากที่สุดการเข้าถึงเทคโนโลยีมีข้อจำกัด ถูกเอาเปรียบจากการกึ่งผูกขาดทั้งด้านการซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย แม้แต่การขายก็ถูกกดราคาผ่านกลไกต่างๆ ทำให้ครัวเรือน

เกษตรนับวันก็ยิ่งจน ปัญหาด้านราคาเมื่อมาเจอสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ออเดอร์ที่เป็นดีมานด์ลดลงแต่ด้านซัพพลายเท่าเดิม ยิ่งราคาตกก็ยิ่งผลิตให้มากเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปทำให้มีผลผลิตส่วนเกินที่ตามมาคือราคาที่ลดลงแต่ต้นทุนการผลิตสูงทั้งจากค่าจ้างและผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำสุดในอาเซียนตลอดจนปัจจัยการผลิตต่างๆ ล้วนมีราคาสูง

รายได้เกษตรสามารถสะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งเชิงเงินบาทและเหรียญสหรัฐที่หดตัว ปี 2562 สินค้าเกษตรภาครวมหดตัวเชิงเงินบาทติดลบร้อยละ 8.46 สินค้าเกษตรที่มูลค่าติดลบ อาทิเช่น ข้าวติดลบร้อยละ 24.34, ยางพาราติดลบร้อยละ 10.56, อ้อยในรูปน้ำตาลทรายติดลบร้อยละ 2.5, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังติดลบร้อยละ 15.76 ฯลฯ

เห็นตัวเลขนี้แล้วน่าเป็นห่วงยังไม่รวมปัจจัยเงินบาทแข็งค่าปีที่แล้วเทียบต้นปีปลายปี (Y/Y) แข็งค่าร้อยละ 6.5 หากเป็นยางพาราทุกการส่งออก 1 เหรียญสหรัฐราคาหายไปประมาณ 3.23 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา FOB ยาง Rss-3 ก.ก.ละ 46.84 บาท)

ส่วนพืชอื่นๆ ไปคำนวณกันเองเงินที่หายไปผู้ส่งออกคิดเป็นต้นทุนที่ต้องไปกดราคารับซื้อส่วนจะสัดส่วนเท่าไรคงตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรอง

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในปีนี้คือภัยแล้งที่ว่าจะหนักสุดในรอบ 3 ทศวรรษจะแก้ปัญหากันอย่างไรเร่งออกมาตรการให้ชัดและเร็ว ที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีว่างบประมาณน้ำแล้งมีน้อยเพราะเทียบกับงบส่วนใหญ่ไปมุ่งเน้นที่อีอีซีและโครงสร้างพื้นฐาน ที่จริงช่วง 5 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำเพื่อชลประทานรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดควรจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำชุมชนหมู่บ้านไม่ใช่แค่ 500-600 แห่ง

อีกทั้งควรมีโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสำคัญของภาคอีสาน เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงครามไม่ให้ไหลลงแม่น้ำโขงที่จะทำให้หลายจังหวัดมีน้ำใช้ทั้งปีแต่โอกาสก็ผ่านไปแล้ว

ที่ต้องเชียร์คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรในพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ครม.เคาะวงเงินรวมกัน 6.97 หมื่นล้านบาท อย่าคิดมากถึงจะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุแต่เกษตรกรยามนี้ไม่มีเงินและเจอภัยแล้งเงินพวกนี้จะช่วยได้บ้าง

ส่วนที่จะทำต่อเนื่องจะเอาเงินจากไหนมาเพราะยังมีโครงการประชารัฐต่างๆ เงินสวัสดิการแห่งรัฐ, เงินช่วยเหลือคนชรา, เด็กเล็ก, ผู้หญิงท้องต้องใช้งบประมาณปีละหลายแสนล้านบาท เงินจะเพิ่มขึ้นทุกปีกลายเป็นว่าประชาชนเสพติดรัฐสวัสดิการ "ให้แล้วไม่ให้เป็นเรื่องแน่นอน"

กลายเป็นภาระของประเทศทำให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ไม่มีความมั่นคง เป็นเศรษฐกิจที่อาจโตแค่เปลือกนอกแต่อ่อนเปลี้ยอ่อนแรง...ไม่ตอบโจทย์สโลแกนมั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืนนะครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)