posttoday

ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดจะกำหนดแนวโน้มค่าเงินสัปดาห์นี้

28 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย ...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย ...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.00-30.40 โดยประเมินว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเงินบาทในสัปดาห์นี้มาจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง โดยในช่วงสัปดาห์นี้สหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 ซึ่งตลาดคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงมาขยายตัวที่ 1.6%QoQ saar และช่วงปลายสัปดาห์จะมีรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่อาจเริ่มแสดงสัญญาณการชะลอลงของภาคแรงงานเช่นกัน

ในฝั่งของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะยังเกินดุล และสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทต่อไป เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ที่เงินบาทแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30.20 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สูงขึ้น หลังจากแนวโน้มของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นไปด้วยดี โดยนายแลรี่ คัดโลว์ ที่ปรึกษาทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวว่าอาจยกเลิกภาษีที่มีกำหนดเรียกเก็บในเดือนธันวาคมได้ หากการพบปะระหว่างคุณทรัมป์และคุณสี จิ้นผิงในเดือนพฤศจิกายนราบรื่น รวมทั้งทรัมป์ยังกล่าวว่า ข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 กับจีนอยู่ในกระบวนการเพื่อให้มีการลงนามในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย ปัจจัยดังกล่าวช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากตัวเลขเศรษฐกิจของยุโรปที่ออกมาอ่อนแอ ความเสี่ยงของประเด็น Brexit มากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงของนายบอริส จอห์นสันยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาสหราชอาณาจักร และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวกำหนดการออกจาสหภาพออกไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ ความไม่แน่นอนดังกล่าวนี้ กดดันให้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อไป ทั้งนี้ ในวันศุกร์เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และปิดตลาดที่ระดับ 30.16

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นสำคัญที่ตลาดยังคงติดตามเป็นเรื่องของ Brexit สืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit กับทางอียูได้ก่อนหน้านี้ และรัฐสภายังไม่มีมติรับ-ไม่รับร่างข้อตกลงดังกล่าว ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรมีมติเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit (Withdrawal Agreement Bill) ด้วยคะแนนเสียง 322 ต่อ 308 เสียง สะท้อนภาพที่ข้อตกลงนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง แต่ในทางปฏิบัติอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คุณบอริส จอห์นสันได้คาดหวังไว้จากกำหนดเดิมวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าอียูจะพิจารณาขยายกำหนด Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 มกราคม 2563

ด้านประเด็นเรื่องสงครามการค้ามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีข่าวว่าสหรัฐฯ อาจพิจารณายกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่มีกำหนดในเดือนธันวาคมนี้หากการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ดูเหมือนว่าตลาดได้รับรู้ข่าวดีจากเรื่องข้อตกลงการค้าในขั้นแรก (Phase 1) ไปหมดแล้วและกำลังมองหาปัจจัยใหม่ที่จะมาชี้นำตลาดต่อไป ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักเคลื่อนไหวทรงตัวอยู่ในกรอบ โดยนักลงทุนมุ่งเป้าไปที่การประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ ในวันที่ 29-30 ตุลาคม 62 ซึ่งเมื่อพิจารณาดูจากความน่าจะเป็นบนตลาดฟิวเจอร์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps ในการประชุมเดือนตุลาคมได้ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 90% (ณ วันที่ 25 ตุลาคม 62 เวลา 16.00 น.) จากระดับ 82% ในช่วงปิดสัปดาห์ก่อนหน้า

ขณะที่ประเด็นสำคัญในประเทศมีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยเดือนกันยายนหดตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกันอยู่ที่ -1.37% YoY ผิดจากที่ตลาดคาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัว 2.7% YoY สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอจากผลกระทบของสงครามการค้า แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังพอมีหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ ”ชิม ช้อป ใช้” ที่ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับที่ดีมาก คงต้องมาลุ้นกันว่ามาตรการจากภาครัฐในช่วงโค้งสุดท้ายนี้จะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.0% หรือไม่ ขณะที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยมีความชันลดลงและยังเห็นแรงซื้อเมื่ออัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นมา โดย ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.43% 1.40% 1.40% 1.41% 1.46% และ 1.52% ตามลำดับ

ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดจะกำหนดแนวโน้มค่าเงินสัปดาห์นี้



กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 3,344 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,248 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,607 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 15 ล้านบาท