posttoday

จินดามณี (8)

27 สิงหาคม 2562

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*********************************

จินดามณีฉบับที่ อ.ฉันทิชย์ นำมาศึกษา วิเคราะห์และทำคำอธิบาย เป็นฉบับตัวเขียนของ “ขุนนิมิตอักษร” ซึ่งมีเนื้อความเพิ่มเติมจาก “จินดามณี เล่ม  1” ที่กรมศิลปากรและสำนักพิมพ์เพชรกะรัต พิมพ์เผยแพร่อีกมาก จึงมีเนื้อหาที่ทรงคุณค่าอีกมากมาย

นอกจากตั้งต้นด้วยฉบับที่มีเนื้อความมากกว่าแล้ว อ.ฉันทิชย์ได้เปรียบเทียบกับต้นฉบับสมุดไทยในหอสมุดแห่งชาติอีก 10 ฉบับ และของท่านเองอีก 1 ฉบับ ซึ่ง ท่านได้บอกว่า “แต่ละฉบับมีผิดแผกกันบ้างโดยการคัดเขียนและการตกเติม แม้กระทั่งการลำดับเรื่องหรือหมวดหมู่ของโคลงฉันท์ก็สลับกันไปบ้าง แต่ว่าเมื่อพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่าเหมือนกัน สักแต่ว่าเปลี่ยนลำดับกันไปบ้างเท่านั้น ในการชำระครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เรียงลำดับตามฉบับที่เห็นว่าถูกต้องดีกว่าฉบับอื่นๆ เป็นเกณฑ์”

แต่ละตอน ท่านได้ “ถอดความ”  “อธิบายศัพท์” และทำคำ “อธิบาย” ไว้อย่างกระจ่าง เริ่มจากบท    ไหว้ครู ซึ่งเขียนเป็นร่ายอ่านได้ไม่ยากนัก แต่เมื่ออ่านที่ท่านถอดความแล้ว ก็จะเข้าใจได้มากขึ้น และชัดเจนขึ้น คำอธิบายศัพท์ส่วนมากจะเป็นการ “แปลศัพท์” สั้นๆ แต่บางคำก็จะมีอรรถาธิบายยาว เช่น คำว่า พระสุรัสวดี ซึ่งเป็น “พระแม่แห่งการศึกษาผู้เป็นพระชายาของพระพรหม” มีคำอธิบายไว้ค่อนข้างยาว จากนั้นจะ “ปิดท้าย” ด้วย  การอธิบายเปรียบเทียบต้นฉบับต่างๆ พร้อมข้อสันนิษฐานหรือคำวินิจฉัยไว้ อ่านแล้วก็จะเข้าใจและเห็นคุณค่าในจินดามณีมากขึ้นอย่างชัดเจน

อ.ฉันทิชย์ ใช้วิธีแยกเรื่องเป็นข้อๆ ไม่เขียนติดต่อกันเป็นพืดไป ทำให้เข้าใจได้ง่ายไม่สับสน และง่ายต่อการอ้างถึงต่อไปด้วย ส่วนของบทไหว้ครูซึ่งมีเพียง 5 บรรทัดนั้น เป็นข้อ 1  ส่วน “อักษรศัพท์” ซึ่งเต็มไปด้วยศัพท์มากมายยาวเหยียดถึง 6 หน้าครึ่ง อ.ฉันทิชย์ แยกอธิบายเป็น 10 ข้อ ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนจบ รวมทั้งหมด 184 ข้อ อ่านแล้วเข้าใจ และได้ความรู้เพิ่มเติมเป็นอันมาก

 ส่วนที่น่าจะยากที่สุดคือการถอดโคลงรหัส ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยากหรือไม่มีทางเข้าใจได้ออกมา ทำให้อ่านแล้วเข้าใจ และเห็นคุณค่า เช่น โคลงฤาษีแปลงสาร

o ลิตขิศอิศรเท้ไ           ฤนลบา

 งงฟถี่นวท่วข่าสาร      มนุ่หน้าห เ

รรมคาทุศรเสนถา       งงยะลุงถึยล เ

มอำยตฤศรจพจ้า เ      นิ่นเช้าอพื่เ ใด

ถอดแล้ว จะเป็น

o ลิขิตอิศเรศไท้           นฤบาล

พังถี่ถ้วนข่าวสาร        หนุ่มเหน้า

มรรคาทุเรศสถาน       ยังลุะ ถึงเลย

 อำมฤตยรศพจนเจ้า     เนิ่นช้าเพื่อใด

นอกจากถอดรหัสให้แล้ว อ.ฉันทิชย์ ได้อธิบายความหมายของ “ฤาษีแปลงสาร” และ วิธีอ่านฤาษี     แปลงสารไว้ ดังนี้

"การเขียน ‘ฤาษีแปลงสาร’ มีมาแต่โบราณกาล จนกระทั่งมีผู้นำไปใส่ไว้ ในเรื่องพระรทเสน ตอนไปหามะงั่วหาวมะนาวโห่ ที่เมืองทานตะวันของนางมารสารตรา โดยถือสารของนางมารสารตราไปด้วย ซึ่งในสารนั้นบอกว่าเมื่อพระรทเสนไปถึงเมืองแล้วให้นางเมรีจับฆ่าเสีย ครั้นพระรทเสนไปกลางป่าพบพระฤาษีองค์หนึ่ง ไต่ถามข้อความพอรู้เรื่อง ก็สงสาร ด้วยกลัวพระรทเสนจะถูกฆ่าตายเสียเปล่าๆ จึงได้ ‘แปลงสาร’ นั้นเสียใหม่ เป็นให้นางเมรีแต่งงานกับพระรทเสนแทนจับฆ่า ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อรหัสแบบนี้ว่า ‘ฤาษีแปลงสาร’ ”

“วิธีอ่าน รหัสฤาษีแปลงสาร ถ้าใช้ความสังเกตให้ดีก็จะทราบว่าไม่ยาก เพราะเอาพยัญชนะตัวหลังกลับมาไว้ข้างหน้า เช่น จะเขียน ‘ลิขิต’ ก็เขียนสลับพยัญชนะเสียใหม่ว่า ‘ลิตขิ’ เป็นดังนี้ทุกวรรคทุกคำ เป็นการเขียนแบบหนึ่งที่นิยมศึกษากันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา”

ขอเสนออีกตัวอย่างคือ โคลงเสือนอนซ่อนเล็บ

พยัคฆานอนซ่อนเล็บ (ยังไม่ได้ถอด)

o เหี้ยมใจบอกออก             เล็บ

ขยับคอยขยายผันผ่อน        ซ่อน

 เฟื้ยมฟุบกายระวังนั่ง          นอน

นอนตายเนื้อหมู่จับโจม        เสือ

พยัคฆานอนซ่อนเล็บ (ถอดแล้ว)

o เสือโจมจับหมู่เนื้อ              นอนตาย

นอนนั่งระวังกาย                 ฟุบเฟื้ยม

ซ่อนผ่อนผันขยาย              คอยขยับ

เล็บออกบอกใจเหี้ยม            เล็บสร้อยนอนเสือ

อีกตัวอย่างของการถอดโคลงรหัส

องค์นงค์นาฏ (ยังไม่ได้ถอด)

จินดามณี (8)

องค์นงค์นาฏ (ถอดแล้ว)

 o อรองคนงนาฎสร้อย          เสาวภาค พี่เอย

เรียมชำเลืองโฉมหลาก         เพริศพริ้ม

อรศรีช่างยิ้มปาก                 ด้วยพี่

 เรียมรับเชิญด้วยยิ้ม             พี่แย้มหลากโฉม

 

.......................................