posttoday

กาวใจที่ไม่มีวันแห้งเหือด

17 สิงหาคม 2562

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**********************************************

ความมั่นคงของรัฐบาลคือปัญหาใหญ่ของรัฐบาล “เรือเหล็ก - ตู่ 2” ที่ดูท่าทางว่าอาจจะล่มได้ทุกเมื่อ ด้วยเหตุที่มีเสียงปริ่มน้ำในสภาผู้แทนราษฎรคือสาเหตุหนึ่ง และด้วยการบริหารงานรัฐบาลที่อาจจะมีการขัดแข้งขัดขากันไปโดยตลอดอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็คงจะต้องพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ให้อยู่รอดต่อไปให้ได้ แต่เท่าที่เห็นก็จะมีเพียงการใช้ “กาวใจ” คือการถนอมน้ำใจและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลให้แนบแน่น แต่รัฐบาลจะใช้กาวใจนี้เป็นผลดีไปนานเพียงใด เพราะการประกอบกันขึ้นของรัฐบาลคณะนี้เต็มไปด้วยรอยแยกมาตั้งแต่ต้น และก็จะต้องมีรอยแยกเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นระยะๆ

ทหารที่ยึดครองการเมืองไทยมาแล้วหลายรอบ เป็นเวลาสั้นบ้างยาวบ้าง ต่างก็คิดหาวิธีที่จะอยู่ในอำนาจให้มีเสถียรภาพ หรืออย่างน้อยก็ปกป้องให้อำนาจนั้นมีความมั่นคงแข็งแรงให้มากที่สุด ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป บางยุคก็ใช้วิธีกำจัดศัตรูคู่แข่งขัน หรือกีดกันไม่ให้มีใครขึ้นมามีอำนาจทัดเทียม เช่นในยุคของคณะราษฎร ช่วง พ.ศ.2475-2489 

เช่นเดียวกันกับยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นมามีอำนาจอย่างเต็มที่อีกรอบใน พ.ศ.2490-2494 ที่เป็นการกำจัดคณะราษฎรในฟากพลเรือนให้หมดอำนาจไป แต่หลังจากนั้นก็พยายามผ่อนคลายความเป็นเผด็จการโดยพยายามสร้างระบบรัฐสภาที่ควบคุมโดยฝ่ายทหาร แต่ก็ประสบความล้มเหลวเพราะมีการโกงการเลือกตั้งในปี 2500 โดยทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สืบต่อมาจนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ได้พยายามสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง พร้อมกับสร้างกลไกในการควบคุมนักการเมือง เช่นการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ไม่ให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรี เพื่อให้นักการเมืองมีอำนาจในขอบเขตที่จำกัด แต่ข้าราชการซึ่งประกอบด้วยทหารเป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นรัฐมนตรีได้ โดยคาดหวังว่า ส.ส.จะต้องพึ่งพิงทหารและ “ไปไหนไม่รอด” โดยการตั้งพรรคของทหารคือพรรคสหประชาไทย และวางแผนให้ให้เป็นพรรคที่จะต้องได้เสียงเข้ามามากที่สุดในสภา ซึ่งผลการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 ก็เป็นไปตามนั้น

แต่สิ่งที่ทหารคิดไว้ว่า ส.ส.จะ “อยู่ในกำมือ” อย่างราบคาบนั้นกลับ “ผิดคาด” เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจของความเป็นผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ของราษฎรอย่างเข้มข้น มีการยื่นญัตติและตั้งกระทู้ถามรัฐบาลอย่างมากมาย จนรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลบ่นว่า “รำคาญ” ที่สุดนายกรัฐมนตรีคือจอมพลถนอมต้องใช้ “กาวใจ” คือให้นายทหารบางคนเข้าไปพูดคุยกับ ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลเพื่อขอร้องให้ช่วยกันประคับประคองรัฐบาล ถึงขั้นที่ต้องมีการ “ใส่ซอง” เป็นค่ายกมือให้ ส.ส.แต่ละคนเป็นหลักหมื่น(เทียบเป็นเงินสมัยนี้ก็หลักแสน เพราะราคาก๋วยเตี๋ยวเมื่อ 50  ปีที่แล้วราคาแค่ชามละ 2-3บาทเท่านั้น)

ว่ากันว่าในการประชุมสภาแต่ละสัปดาห์เพื่อให้ญัตติและการผ่านกฎหมายต่างๆ เป็นไปอย่างราบลื่น ก็จะต้องมีการจ่ายเงินค่ายกมือนั้นนับล้านบาท เพื่อจ่ายให้ ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลจำนวนนับร้อยคนนั้น ต่อมารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาและเพิ่ม “กาวตราช้าง” เข้าไปอีก นั่นก็คือการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่ ส.ส.เป็นเงิน “บำรุงพื้นที่” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “งบ ส.ส.” จำนวนคนละหลายล้านบาท ซึ่งก็แน่นอนว่า ส.ส.ได้เอาไปใช้กันอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นกันในวงกว้าง และสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก จนในที่สุดจอมพลถนอมก็ “ล้มสภา” ด้วยการทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง ในวันที่ 17พฤศจิกายน 2514  โดยอ้างเหตุถึงปัญหาดังกล่าว ดังที่รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลชุดนั้นเขียนบันทึกไว้ว่า

“รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2515 ผ่าน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2514 ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติรับหลักการในวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้วแต่เพราะ ส.ส. บางส่วนต้องการเพิ่มเงินงบประมาณในส่วนเงินบำรุงท้องที่เป็นเงิน 448 ล้านบาททั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณไว้เพียง 224 ล้านบาทอาจทำให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลต้องสะดุดและหยุดชะงักลงทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลและ ส.ส. บางส่วน”

ที่ผู้เขียนเล่าเรื่องรัฐบาลทหารในสมัยจอมพลถนอมมาอย่างค่อนข้างละเอียดนี้ ก็เพราะอยากให้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ปกครองที่คิดจะ “เอาอกเอาใจ” นักการเมืองว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ หรือแม้จะทำไปแล้วก็ไม่ยั่งยืน ซ้ำร้ายข้อเรียกร้องของนักการเมืองก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ที่สุดรัฐบาลก็ตามไม่ทันและตอบสนองไม่ทัน สุดท้ายก็จะนำความล่มจม(เสีย)หายมาสู่รัฐบาลนั้นเอง

ตอนนี้รัฐบาลลุงตู่ท่านก็ให้คนเอาตำแหน่งทางการเมืองไปแลกเปลี่ยนกับการให้ความสนับสนุน แต่ตำแหน่งเหล่านี้ก็มีจำกัด ทั้งยังได้ข่าวมาว่ามีการ “ตั้งค่าตัว” เป็นเงินเป็นทองจำนวนมากออกมาแล้ว ซึ่งเงินทองเหล่านี้ก็ต้องมีคนจ่ายหรือ “รับหน้าเสื่อ” เป็นเจ้ามือคอยดูแล แต่เงินทองสมัยนี้ก็หายากกว่าสมัยก่อน ไหนลุงตู่จะห้ามไม่ให้มีการคอร์รับชั่น ไหนผู้คนในสังคมจะจับตาดูกันเป็นตาสัปรด รัฐบาลและคนที่เป็นกาวใจก็ต้องพยายามหา “กาวชนิดใหม่ๆ” เตรียมไว้สมานรอยแยกที่กำลังจะเกิดขึ้นเรื่อยๆและ “แปลกๆ” นั้นด้วย

ที่จริงกาวที่เป็นเงินทองหรือตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ ทางการเมือง ก็ไม่ใช่สิ่งที่นักการเมืองทั้งหลายต้องการเท่าไหร่นัก อย่างเช่นที่หัวหน้าพรรคไทยศิวิไลย์อ้างเหตุผลที่ต้องถอนตัวออกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็แค่บอกว่า “ไม่ได้รับเกียรติ ผู้มีอำนาจโกหก ไม่จริงใจ” หรือในขณะที่ผู้เขียนกำลังส่งบทความนี้นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยก็ออกมา “เคาะราคา” แล้วว่า ถ้ารัฐบาลทำนโยบายเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ไม่เป็นไปตามที่พรรคเรียกร้อง ก็จะพิจารณาถึงการร่วมอยู่ในรัฐบาลเหมือนกัน

 นี่คือ “ศักดิ์ศรีของผู้แทนราษฎร” หรือ “กาวตราช้าง” ที่รัฐบาลต้องมีไว้ประจำรัฐสภา