posttoday

กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางเลือกของโอกาสรับผลตอบแทน

29 กรกฎาคม 2562

โดย...ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

โดย...ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับการลงทุนที่ชื่อว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund หรือ IFF) แต่บางท่านก็อาจสงสัยว่า IFF คืออะไร และดีอย่างไร?

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งในปี 2554 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาใช้ในการระดมทุนเพื่อไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอันจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของรัฐ และเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุนให้ทั้งรัฐและเอกชนเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทั่วไปมีทางเลือกในการลงทุนในโครงสร้าง

ปัจจุบันในประเทศไทยมีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแล้วจำนวน 7 กองทุน คิดเป็นมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 รวม 345,303 ล้านบาท

IFF ถือเป็นกองทุนรวมปิดที่มีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท และถือเป็นการลงทุนที่ระดับความเสี่ยง 7 จึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว โดยสามารถเข้าลงทุนด้วย 3 วิธี

วิธีแรก ลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินผ่านการถือครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะเหมาะสมกับทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถโอนความเป็นเจ้าของได้ เช่น ทรัพย์สินของภาคเอกชน

วิธีที่ 2 ลงทุนในสัญญาแบ่งรายได้/สิทธิการเช่าในทรัพย์สิน ซึ่งจะเหมาะสมกับทรัพย์สินของภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการโอนกรรมสิทธิ์สัมปทานในทรัพย์สิน

วิธีที่ 3 ลงทุนโดยการเข้าถือหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ IFF สามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ (Greenfield Project) ได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 30% ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุน แต่หากเกินสัดส่วนดังกล่าวจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยประเภทกิจการที่ IFF ลงทุนได้มีหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ระบบผลิตไฟฟ้า ประปา พลังงานทางเลือก ระบบขนส่งทางราง (รถไฟและรถไฟฟ้า) ทางพิเศษ ท่าอากาศยานหรือสนามบิน และท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น

โครงสร้างของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางเลือกของโอกาสรับผลตอบแทน

สำหรับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังรอความสดใส อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุน ก็คือ การแบ่งหรือกระจายสัดส่วนเงินลงทุน ในพอร์ตการลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) หลายๆ กอง ซึ่งถือเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนในรูปกระแสเงินสดรับสม่ำเสมอจากสัญญาเช่า และส่งต่อเงินปันผลกลับมาถึงผู้ลงทุน

อีกทั้งยังช่วยกระจายและลดความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการถือสินทรัพย์เชิงกายภาพที่หลากหลาย ที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับรายได้รวมของพอร์ตลงทุน โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอาจเป็นรูปของเงินปันผลของรายได้จากการดำเนินงานของโครงการที่เราลงทุน เช่น เงินค่าโดยสารรถไฟฟ้า เงินจากการเก็บค่าทางด่วน

ทั้งนี้ ประโยชน์ต่อผู้ลงทุน คือ มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของเงินปันผลที่สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวและเงินฝาก อีกทั้งมีโอกาสเติบโตจากการปรับขึ้นค่าเช่า รวมถึงกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหน่วยลงทุนหรือหน่วยทรัสต์

หากเป็นผู้ลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไป การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจะได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเงินปันผล ซึ่งผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับยกเว้นเป็นระยะเวลา 10 ปีต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

นอกจากนั้นในอีกทางหนึ่ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ที่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพดีขึ้น และในด้านสภาพคล่องของการลงทุนถ้าต้องการใช้เงิน กองทุนรวมประเภทนี้จะมีการนำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนเพื่อให้สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานหรือ กองทรัสต์ ที่มีสภาพคล่อง นักลงทุนไม่ต้องการรอจนครบกำหนดอายุโครงการก็ขายหน่วยลงทุน / หน่วยทรัสต์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลของโครงการที่ลงทุนอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อประโยชน์ต่อตัวการลงทุนของท่านด้วยนะครับ