posttoday

รับมือDisruptive

08 มีนาคม 2562

วันนี้มีข้อเสนอแนะการเตรียมรับมือเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology)

เรื่อง กัปตัน ป.

วันนี้มีข้อเสนอแนะการเตรียมรับมือเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) มานำเสนอครับ ซึ่งพอคัดแยกเป็นหัวข้อๆ ได้ดังนี้

1.ขับเคลื่อนการศึกษา “งานในอนาคต” (Future of Work) เนื่องจากแรงงานมนุษย์ต้องปรับตัวด้านการศึกษาตลอดชีวิต จึงต้องมีการลงทุนพัฒนาและสร้างโอกาสให้คนได้เรียนรู้ตลอดอายุงาน ตั้งแต่เยาว์วัย (ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน) ระหว่าง (เข้าสู่ตลาดแรงงาน) ต้องมีอาชีพสำรอง Second Jobs ในรูปแบบธุรกิจส่วนตัว หรือเมื่อเข้าช่วงเกษียณ (ออกจากตลาดแรงงาน) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

2.ขับเคลื่อน “มาตรการคุ้มครองทางสังคม” (Social Protection) โดยภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจควรต้องส่งเสริมคุณค่าของคน เพื่อให้ทุกกลุ่มคนหรืออาชีพกลุ่มเสี่ยง Disruptive มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านและปรับตัวไปประกอบอาชีพใหม่ เช่น นโยบายด้านการเงินเพื่อการกู้ยืมเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาทักษะ หรือส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมหรือนโยบายด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการจ้างงานคนควบคู่เทคโนโลยี เป็นต้น

3.ขับเคลื่อนการศึกษา “กองทุนเพื่อนแรงงาน” วัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพแรงงานตั้งแต่ก่อน-เข้า-หลัง ออกจากตลาดแรงงาน กองทุนนี้จะต้องสร้างเครือข่ายเพื่อการลงทุนทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพแรงงานหรือระหว่างชุมชนผู้ใช้แรงงาน

เช่น จ.ปราจีนบุรี มีผู้ใช้แรงงานกว่าล้านคนใน 5 เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ล้วนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งส่งออกและจำหน่ายในประเทศ หากสามารถเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการนำร่องโครงการ สินค้าลดราคาจากโรงงาน

โดยกองทุนเพื่อนแรงงานเข้าไปสนับสนุนเงินกู้กับการรวมตัวไปเจรจาต่อรองกับนายจ้างนำสินค้าโรงงานมาเปิดตลาดนัดแรงงาน หรือ ทำการตลาดให้ผ่านขายทางออนไลน์

สำหรับหลักการปล่อยสินเชื่อหรือการสนับสนุนด้านต่างๆ ของกองทุน คือ ผู้ใช้แรงงานต้องเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิก อบายมุข เหล้า หวย หรือการพนันทุกอย่าง รวมถึงต้องออกกำลังกายหรือทำประโยชน์สาธารณะเป็นคุณสมบัติสำคัญของสมาชิกกองทุน และ แนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดการออมเพื่อการลงทุน การผลิตสินค้าและการค้าขายระหว่างกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้วยกัน

จะว่าไปกองทุนเพื่อนแรงงาน คือ หนทางส่งเสริมฐานสร้างเศรษฐกิจพึ่งตนเองให้เข้มแข็ง อันเป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ ลดความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ตัวเองและครอบครัว จึงควรสนับสนุนด้านวิชาการและสร้างความเข้าใจการจัดตั้งกองทุนเพื่อนแรงงานเพื่อรองรับปัญหา Disruptive

และ 4.ขับเคลื่อน “ศูนย์วิจัยแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด” (Disruptive Technology) จ.ปราจีนบุรี เนื่องจากแนวโน้มการจ้างงานจะใช้เทคโนโลยีชั้นสูง Automation and Robotics มาทดแทนคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันเกิดแรงงาน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกยังปรับตัวทันและกลุ่มที่สองปรับตัวไม่ทันแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนงานที่อยู่ในการผลิตหรือบริการที่เป็นกระบวนการผลิตซ้ำๆ (แรงงาน 2.0) หรือที่เรียกกันว่า "คนงานในสายพาน" เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเลิกจ้าง

แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้เสี่ยงเพราะถูกเทคโนโลยีมาแทนที่เท่านั้น แต่แนวโน้มอาจถูกแรงงานต่างด้าวแย่งงานอีกด้วย