posttoday

บินไทยขอแจง

06 มีนาคม 2562

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 “มือสายฟ้า” ได้นำเสนอบทความในหัวข้อเรื่อง “วิกฤตการบิน”

เรื่อง มือสายฟ้า

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 “มือสายฟ้า” ได้นำเสนอบทความในหัวข้อเรื่อง “วิกฤตการบิน” โดยเล่าถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างปากีสถานกับอินเดีย สร้างความโกลาหลมาถึงธุรกิจการบินทั่วโลกไปด้วย เนื่องจากปากีสถานปิดน่านฟ้า

โดยเฉพาะเมื่อช่วงวันที่ 26-28 ก.พ. 2562 ในส่วนของการบินไทยประกาศงดทำการบินทุกเที่ยวบินไปยุโรป แต่มีการตั้งข้อสังเกตสายการบินอื่นๆ ที่บินไปและกลับกรุงเทพฯ-ยุโรป ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำไมยังทำการบินได้ โดยการบินไทยอ้างเหตุผลค่อนข้างคลุมเครือเพียงประการเดียวว่าปากีสถานปิดน่านฟ้า

ล่าสุด วานนี้ครับ ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย ขอชี้แจงบ้าง

เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริง “มือสายฟ้า” จึงขอนำคำชี้แจงมาลงดังนี้นะครับ

1.เส้นทางบินหลักของแต่ละสายการบินจะแตกต่างกัน โดยแต่ละสายการบินจะใช้เส้นทางที่บินไปยังจุดหมายปลายทางที่มีระยะทางใกล้ที่สุด และใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ ความแรงของกระแสลม ค่าผ่านทางของแต่ละน่านฟ้า ความหนาแน่นของเที่ยวบินที่บินในเส้นทางบินดังกล่าว สภาพภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ ฯลฯ

โดยเส้นทางหลักนี้ แต่ละสายการบินจะต้องสร้างเส้นทางหลักไว้ล่วงหน้าในแผนการบินเป็นเส้นทางที่ทำการบินอย่างสม่ำเสมอ และไม่สามารถขอเส้นทางบินไว้โดยที่ไม่ทำการบิน รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำการขออนุญาตล่วงหน้าก่อนจึงจะทำการบินได้

เช่น ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใต้ประเทศไทย เส้นทางหลักที่บินไปยุโรปที่เหมาะสมที่สุดคือ บินผ่านน่านฟ้าตะวันออกกลางในขณะที่ประเทศไทยสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เส้นทางหลักที่เหมาะสมในการบินไปยุโรปคือ บินผ่านน่านฟ้าประเทศปากีสถาน

2.กรณีปิดน่านฟ้าปากีสถาน มีสายการบินอื่นที่บินออกจากประเทศไทยไปยังยุโรป เปลี่ยนไปใช้เส้นทางบินอื่นที่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าและมีอยู่ในแผนการบินของสายการบินนั้นๆ อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีเที่ยวบินที่ทำการบินจากประเทศไทยไปยังยุโรปเพียง 1-2 เที่ยวบิน/วัน
เท่านั้น จึงใช้ระยะเวลาไม่นานในการปรับเส้นทางบินใหม่

3.เมื่อเกิดกรณีปิดน่านฟ้าปากีสถาน การบินไทยได้ใช้แผนสำรองฉุกเฉินทันที โดยพิจารณาเส้นทางบินอื่นในการทำการบินไปยุโรป ด้วยการขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนการบินของการบินไทย รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลาในการติดต่อประสานงาน

เนื่องจากการบินไทยโดยขออนุญาตผ่านน่านฟ้า 2 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 ผ่านสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทางที่ 2 ผ่านประเทศอิหร่านและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อนุญาตให้การบินไทยก่อน บริษัทจึงได้เลือกบินผ่านน่านฟ้าสาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังยุโรป

ทั้งนี้ บริษัทคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารและการปฏิบัติการบินเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร

สุดท้ายนี้ บริษัทขอขอบคุณ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ที่เป็นสื่อกลางสะท้อนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ช่วยเผยแพร่ข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป

เรื่องราวก็เป็นประการฉะนี้ และขอขอบพระคุณในการชี้แจงครับ