posttoday

น้ำกับฝุ่น

07 กุมภาพันธ์ 2562

ปัญหาเรื้อรังที่กลายเป็นภัยพิบัติของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จนต้องหวาดผวากันทุกปี นั่นก็คือน้ำท่วมกับฝุ่น แม้จะมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

เรื่อง มะกะโรนี

ปัญหาเรื้อรังที่กลายเป็นภัยพิบัติของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ จนต้องหวาดผวากันทุกปี นั่นก็คือน้ำท่วมกับฝุ่น แม้จะมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย แต่ดูเหมือนสองเรื่องนี้น่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะมีฤดูจำเพาะที่เวียนมาถึงอย่างชัดเจน น้ำท่วมจองฤดูฝน ส่วนพิษหมอกควันนั้นจองฤดูหนาว แต่ข้อกังวลในทั้งสองเรื่องจะหายไปอย่างถาวรหรืออย่างน้อยก็จะเบาใจลงได้ เป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

เรื่องน้ำท่วมนั้นเป็นปัญหาที่เหมือนจะมีพัฒนาการที่ล่วงหน้าไปแล้ว เพราะบทเรียนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำโดยสิ้นเชิง จากกรณีที่รัฐบาลไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่สอดรับส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ แค่อยากมีความคืบหน้าแถลงเป็นข่าวให้เห็นว่าได้ทำอะไรไปบ้าง สุดท้ายก็รับมือสถานการณ์ไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

แต่วันนี้ ทุกครั้งที่เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ข้อกังวลเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ก็ใช่จะหมดไป บ่อยครั้งก็ยังมีความกังวลว่าจะเกิดท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554 แต่ก็ยังไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และยังคงทำงานแบบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เมื่อฝนตกปริมาณมาก ก็สั่งการให้พร่องน้ำ และระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และทันเวลา

หลังเกิดอุทกภัยครั้งนั้น งบประมาณจำนวนมากถูกอนุมัติ ส่วนใหญ่คือถมถนน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง ยังได้รับงบประมาณไปยกระดับถนนที่น้ำเคยท่วมถึงให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม แต่กลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ ถนนสูง ทำให้น้ำในบางพื้นที่ระบายไม่ได้ ขณะที่กำแพงสองฝั่งแม่น้ำยังก็ทำให้ระบายออกจากพื้นที่ไม่ได้เช่นกัน

นอกจากความกลัวน้ำท่วมซ้ำรอย ปี 2554 จะทำให้เกิดปัญหา ต่างคนต่างสร้างของภาครัฐแล้ว อาจจะสร้างปัญหาไปถึงระบบป้องกันน้ำในพื้นที่ของเอกชนที่ต่างคนต่างสร้างเช่นกัน และสร้างโดยไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปกำกับดูแล

วันนี้ สภาพทางกายภาพของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก และเกิดคำถามว่า หน่วยงานราชการมีข้อมูลพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ถูกต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมาแค่ไหน

เพราะทุกวันนี้ มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย และเอกชนที่สร้างใหม่ ก็ต่างสร้างและถมพื้นที่ตนเองเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามอีกว่า จะยังสามารถใช้แบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วมที่เคยใช้ในอดีตเพื่อคำนวณความเสียหายกันช่วงก่อนหน้านั้นได้อีกหรือไม่

กลับมาที่ฝุ่น ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว โดยจะเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศรถยนต์ใหม่ตามมาตรฐาน EURO6 ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนใส่รถยนต์เก่า การเผาในที่โล่งเป็นความผิดอาญา และมาตรการอื่นๆ อย่างปิดโรงงานในบางช่วงเวลาหากมีความจำเป็นจริงๆ เนื่องจากตรวจพบว่าโรงงาน 1 แสนแห่ง มีความเสี่ยงประมาณ 1,700 แห่ง จึงสั่งการให้หยุดปรับปรุงประมาณ 600 แห่ง

มติ ครม.ดังกล่าวมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติในระยะยาวอีกมากมาย บางเรื่อง เช่น เรื่องความพยายามกำจัดรถยนต์เก่าไปจากท้องถนน ซึ่งถือว่าเป็นยาแรงสำหรับคนทั่วไปทีเดียว ทำให้เกิดคำถามว่า ในทางปฏิบัติจริง จะทำได้แค่ไหน ลำพังแค่เรื่องจัดการกับรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสาร ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร

แนวคิดเรื่องจะให้เปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ดี แต่เราสามารถทำได้แค่ไหนกัน โดยเฉพาะเมื่อดูราคารถยนต์ไฟฟ้า แม้จะลดภาษีแล้วราคาก็ยังสูงลิบ กินข้าวแต่ละมื้อยังลำบาก จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ