posttoday

แย่งงาน

25 มกราคม 2562

ปัญหาคนไทยตกงานถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง จากผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology

เรื่อง...กัปตัน ป.

ปัญหาคนไทยตกงานถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง จากผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology เพราะแนวโน้มการจ้างงานจะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมาทดแทนคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นย่อมเกิดแรงงานสองกลุ่ม กลุ่มแรกยังปรับตัวทัน ผ่านการอบรมพัฒนาฝีมือทักษะหรือเรียนรู้เอาตัวให้รอดและกลุ่มที่สองปรับตัวไม่ทันแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มงานที่ใช้กระบวนการผลิตหรือบริการที่มีกระบวนการซ้ำๆ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเลิกจ้าง แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้เสี่ยงเพราะถูกเทคโนโลยีมาแทนที่เท่านั้น แต่แนวโน้มอาจถูกแรงงานต่างด้าวแย่งงานอีกด้วย

เพราะแนวโน้มผู้ประกอบการนิยมนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยใช้บริการบริษัทนำเข้าแรงงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมา หรือลาว ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าแรงงานแบบเหมาช่วงกว่าสองร้อยบริษัทเกิดขึ้นเพราะสภาวะขาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย จึงเกิดความต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ต่อไปการจ้างแรงงานต่างด้าวจะผ่านสายตารัฐบาลทั้งสองประเทศ ในการขอนำแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่น แรงงานภาคเกษตรมีความต้องการแรงงานสูง เช่น ตัดอ้อย สวนยาง สวนปาล์ม หรือประมง รวมถึงอุตสาหกรรมโรงงานแปรรูปที่เรียกกันว่าสาวโรงงาน จึงเกิดการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม จึงมีความสำคัญมาก ที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่านั้นคือการตรวจสอบบริษัทจัดหางานและนายจ้างที่ต้องไม่เอารัดเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน ดังนั้นเมื่อการจ้างแรงงานต่างด้าวปลอดภัยมากขึ้นกว่าในอดีต บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งนิยมใช้แรงงานต่างด้าวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานที่ทักษะต่ำและเป็น
กระบวนการผลิตแบบซ้ำๆ

ข้อสังเกตที่ควรตระหนัก คือ แรงงานต่างด้าวที่นำเข้ามาอายุเฉลี่ยส่วนใหญ่ประมาณ 20-30 ปี ขณะที่แรงงานไทยในระบบส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 40 กว่าปี จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมผู้ประกอบการบริษัทใหญ่ๆ นิยมจ้างแรงงานต่างด้าว เพราะได้กำไรกว่าจ้างคนไทย กล่าวคือแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อายุน้อย กล้าทำงานหนัก ทำงานเสี่ยง และ ขยันทำโอที
ขณะที่แรงงานไทยอายุเยอะ สมรรถภาพด้านร่างกายเสื่อมถอยจึงไม่นิยมทำงานหนักและเสี่ยง

ในอดีตสหภาพแรงงานมีอิทธิพลสูงแต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคเสื่อมถอย หลายภาคอุตสาหกรรมเริ่มปลดคนงาน หรือบางธุรกิจมีความต้องการแรงงานน้อยลง จึงทำให้อำนาจต่อรองสหภาพถดถอย นายจ้างกลับมีอิทธิพลสูงแทน เพราะมีทางเลือกด้านเทคโนโลยี และแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกแทนคนไทย อำนาจต่อรองของสหภาพจึงถูกบั่นทอน ในอดีตต้องยอมรับว่าบทบาทสหภาพเกือบทุกแห่งคล้ายๆ กัน คือ ตัวแทนเจรจาต่อรองค่าจ้าง โบนัส หรือสิทธิสวัสดิการต่างๆ แก่สมาชิกที่ควรจะได้รับ และมุ่งรวมกลุ่มเพื่อออมทรัพย์ให้กับสมาชิก

สหภาพแรงงานต้องปรับทำอย่างไรจะให้แรงงานไทยเป็นแรงงานทักษะสูง ที่เป็นที่ต้องการและมีบทบาทในโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคตมากขึ้น รวมทั้งควรมีการพัฒนาและจัดเก็บข้อมูลอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าอาชีพหรือแรงงานกลุ่มใดจะตกงาน หรือโดนเทคโนโลยีหรือแรงงานต่างด้าวแย่งงาน จะได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลกันทัน