posttoday

หลังฝุ่นจาง

16 มกราคม 2562

โลกออนไลน์กำลังตื่นตัวเรื่องวิกฤตฝุ่น PM 2.5 หรือหมายถึง ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ

เรื่อง มะกะโรนี

โลกออนไลน์กำลังตื่นตัวเรื่องวิกฤตฝุ่น PM 2.5 หรือหมายถึง ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ ขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมของเราทั้งหลาย ฝุ่นที่ว่านี้ มาจากกิจกรรมหลากหลาย และหากระบุเจาะจงถึงมลพิษใน กทม. และปริมณฑลสาเหตุหลักๆ ก็หนีไม่พ้น เครื่องยนต์ (ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์)

เดิมในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ได้มีการกำหนดว่า ฝุ่น PM 2.5 ไม่ควรจะมีค่าที่วัดได้เกินกว่าที่องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency, US.EPA.) กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายปี (ตรวจวัดทั้งปีแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย) เท่ากับ 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 35 มคก./ลบ.ม. และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่าเฉลี่ยรายปี เท่ากับ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม.

ประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับ PM 2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของ US.EPA. และองค์การอนามัยโลก โดยให้เหตุผลว่า จากผลการศึกษาวิจัย พบว่าค่าประมาณของระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สูงกว่าค่าที่พบในประเทศทางตะวันตก ทำให้คาดว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานรายปีของ PM 2.5 ในระดับสูงหรือ 25 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในกรุงเทพฯ หรือเขตอื่นๆ ที่มีค่ามลภาวะทางอากาศค่อนข้างสูง

หลายวันมานี้ เมื่อมีข่าวว่า 26 จุดใน กทม.มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ บางพื้นที่ ค่าสูงสุดพุ่งไปถึง 93 มคก./ลบ.ม. กราฟตรวจวัดมีสีแดง ข่าวนี้ส่งผลให้เกิดความตื่นกลัวจนหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพกรองฝุ่นพิษได้ขาดตลาด กลายเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้
ไปในเวลาชั่วข้ามคืน บางแห่งถึงกับฉวยโอกาสขึ้นราคา

ร้อนถึงกระทรวงพาณิชย์ ต้องประสานโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยให้เร่งนำสินค้าออกกระจายเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะกระแสความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้น โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ต้องออกมายืนยันว่าสินค้าไม่ขาดแคลน แต่เกิดจากคนตื่นกลัวจนแห่ซื้อกักตุน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูสถิติปริมาณฝุ่นรายวัน วัดจากในอากาศ กทม.ในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงไปกว่าในปีก่อนๆ จากบันทึก ระบุว่า ปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่สูงจนน่าตกใจเป็นของปี 2556 ซึ่งพบว่าสูงถึง 35 มคก./ลบ.ม. และเมื่อสถานการณ์ของปีนี้คลี่คลายลงค่าเฉลี่ยก็อาจจะไม่ได้สูงกว่าปี 2556

จะว่าไป วิกฤตฝุ่นสะท้อนไปถึงรากสารพัดปัญหาของประเทศไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งการเมืองในอดีตที่หลงลืมไปแล้วว่าตนเองเคยมีส่วนอะไรกับปัญหานี้บ้าง และปล่อยให้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรถยนต์เรื้อรังมาถึงปัจจุบัน

ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเองก็เอาแต่บ่นๆ แต่ก็ไม่กล้าทำสิ่งที่ควรทำเพราะกลัวทำให้เสียคะแนนนิยม

ย้อนกลับไปที่ชาวเน็ตซึ่งแม้จะมีแง่มุมที่ดีที่ตื่นตัวเรื่องนี้ โดยเฉพาะในแง่ของการระวังดูแลด้านสุขภาพของแต่ละคน แต่อีกไม่นาน ฝุ่นพิษก็จะจางลงด้วยปัจจัยจากฤดูกาล และเมื่อถึงเวลานั้นชาวเน็ตก็จะหันไปสนใจเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่จะหลงลืมไปเสียด้วยซ้ำว่าเรื่องนี้เคยเกิดขึ้น เลิกสนใจว่ารากเหง้าของปัญหายังมีอยู่หรือไม่ เลิกตื่นตัวที่จะแก้ปัญหา