posttoday

มหา'ลัยยุคดิสรัปชั่น

03 มกราคม 2562

เมื่อ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาบอกเองว่า

เรื่อง มะกะโรนี

เมื่อ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาบอกเองว่า ปีนี้มีจำนวนมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ถึง 92 แห่ง ที่เปิดรับสมัครลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.mytcas.com มาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 มีที่นั่งเหลือถึง 1.2 แสนที่ หรือเหลือพอๆ กับปีก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมตอกย้ำวิกฤตที่สถาบันอุดมศึกษากำลังแบกอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนหน้านี้ท่านทั้งหลายคงเคยได้ผ่านตาข้อมูลปัญหานี้ เช่นที่เคยที่ระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ ในกำกับรัฐและเอกชนมากถึง 170 แห่ง แต่จำนวนผู้เรียนที่ลดลง ส่งผลให้หลายคณะวิชาของมหาวิทยาลัยบางแห่งมีผู้เรียนบางตา บางคณะบางสาขาถึงกับต้องปิดตัวลงไปอย่างเงียบๆ บ้างแล้ว ขณะที่บางสาขาถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงว่าเป็นสาขาล้าหลัง ไม่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในยุคมรสุมดิจิทัลดิสรัปชั่นหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เข้ามาสั่นคลอน รื้อถอน เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวอย่างต่อเนื่อง

แต่ละปีหากนำจำนวนตัวเลขผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาทั้งหมดมาหารเฉลี่ยกับจำนวนสถาบันอุดมศึกษา 170 แห่ง จะได้จำนวนผู้เข้าเรียนใหม่ประมาณปีละ 3,500 คน และกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขผู้เรียนใหม่ควรจะอยู่ที่ 4,000-5,000 คน จึงจะถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการแบบไปต่อได้ หรือมีรายได้เพียงพอที่จะวางแผนบริหารโดยไม่สะดุด

ตัวเลขที่น้อยลงอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นโจทย์ให้สถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะที่ไม่มีชื่อเสียงดึงดูดต้องกุมขมับ

แต่ความพยายามในเรื่องดังกล่าว สุดท้ายมักจะใช้วิธีการไม่ต่างจากปีก่อน คือทำได้แค่การประชาสัมพันธ์ ซึ่งที่สุดก็ต้องยอมรับว่าเปลืองงบประชาสัมพันธ์ไปอย่างเปล่าประโยชน์ หมดฤดูรับนักเรียนยังได้ตัวเลขผู้เข้าเรียนจำนวนต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ เปิดรับกี่รอบตัวเลขไม่กระเตื้อง และในที่สุดผู้เรียนที่ลดลงอย่างน่าใจหาย จะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะเรื่องจำนวนและคุณภาพของอาจารย์ผู้สอนตามมาด้วย

ที่สุดแล้วอาจจะต้องหมายถึงการจำกัดรายจ่ายทุกๆ อย่างลง เพื่อประคองตัวหลีกเลี่ยงยุบหรือปิดคณะนั้นๆ เสีย โดยเฉพาะคณะที่ถูกปูนแดงกาหัวว่าเป็นสาขาที่ด้อยคุณค่าทางวิชาการ ไม่สามารถที่จะขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล โอกาสที่จะได้ไปต่อก็ตีบตันลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

คณาจารย์บางรายซึ่งปกติมักจะอยู่ในคอมฟอร์ตโซนหรือพื้นที่สุขสบายไม่สะท้านต่อปัญหานี้ ก็ตกอยู่ในอาการช็อก หรือกระทั่งหมดความพยายามหาทางแก้ บางรายได้แต่ร้องแรกแหกกระเชอ เมื่อรู้ว่าภัยนี้กำลังมาถึงตัว หรือเมื่อรู้ว่ายากจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่ก็สิ้นท่าในการพยายามหาทางออกอย่างจริงจัง

แน่นอนว่านอกจากจะต้องรับมือกับปัญหาผู้เรียนลดลง จนต้องหันมาแข่งขันกันเองแล้ว ทุกแห่งยังผวาที่ต้องรับมือกับโลกออนไลน์ที่ว่ากันว่าสามารถตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ได้ดีกว่า สามารถทำทุกวิถีทางเพื่อทางรอดของตัวเองได้อย่างรวดเร็วทันใจ แม้ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาของไทยยังจับมือกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อต้านการเรียนแบบเต็มรูปแบบ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าดิจิทัลดิสรัปชั่นย่อมไม่ละเว้นเรื่องนี้แน่

สถาบันอุดมศึกษาของไทยต่างรู้อยู่แก่ใจว่าโลกยุคใหม่กำลังเข้ามารื้อถอนการเรียนแบบเดิมๆ และตั้งโจทย์ให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวก่อนจะเสียท่าให้กับโลกออนไลน์เหมือนวงการอื่นๆ อยู่ทุกนาที