posttoday

สถาบันไทยโคเซ็น

19 ธันวาคม 2561

เสริมความเข้มแข็งทางการศึกษา และสร้างโอกาสให้สอดคล้องกับ ยุคสมัย

เรื่อง สลาตัน

เสริมความเข้มแข็งทางการศึกษา และสร้างโอกาสให้สอดคล้องกับยุคสมัย เมื่อ “สถาบันไทยโคเซ็น” ซึ่งเป็นโรงเรียนทางวิศวกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนโคเซ็น ที่เปิดทำการเรียนการสอนจำนวน 51 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น

สถาบันไทยโคเซ็น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำหลักสูตรการเรียนการสอนออกมาสอนนอกประเทศและไม่เคยนำไปเปิดสอนในประเทศใด วันนี้ห้องเรียนแบบโคเซ็นถูกยกมาไว้ในห้องเรียนของประเทศไทย นำร่องในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า​เจ้าคุณ​ทหาร​ลาดกระบัง​ (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี​พระ​จอมเกล้า​ธนบุรี​ (มจธ.) สร้างเมล็ดพันธุ์ทางการศึกษาสมัยใหม่ เน้นทักษะทางวิศวกรรม ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญมีงานรองรับเป็นจำนวนมาก ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ประเทศจะสร้างนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถตรงกับตลาดแรงงานอย่างแท้จริง

กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. เผยข้อมูลน่าสนใจว่า สถาบันไทยโคเซ็น มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 13 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินอุดหนุนการศึกษาของนักศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น และงบดำเนินงานของสำนักงานโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นจำนวน 1,200 ล้านบาท ตลอดจนเงินนอกงบประมาณ จำนวน 2,700 ล้านบาท จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)

โครงการดังกล่าวจะสตาร์ทเริ่มดำเนินการรับสมัครนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อที่สถาบันไทยโคเซ็น ในปีการศึกษา 2562 ด้วยวิธีการสอบคัดเลือกเช่นเดียวกับการสอบเข้าเรียนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้ใน 13 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีวิศวกรนักปฏิบัติกว่า 1,000 คน ที่เป็นกำลังคนที่สำคัญของประเทศ

ส่วนของการบริหารงานของสถาบันไทยโคเซ็นนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยบริหารงานในเบื้องต้น และในท้ายที่สุดจะส่งต่อการบริหารงานของสถาบันไทยโคเซ็นในรูปแบบของ องค์การมหาชน และมีอิสระในการดำเนินงาน

แล้วความเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาเราจะรู้สึกมั่นใจระบบการเรียนการสอนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะประเทศไทยไม่เคยสัมผัสหรือนำหลักสูตรการเรียนเช่นนี้มาใช้ อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะผลิตแรงงานที่จบด้านวิศวกรรมป้อนสู่ตลาดแรงงานจะยังคงสำคัญและเป็นความต้องการของบริษัทต่างๆ อีกต่อไปหรือไม่ หลายอาชีพในวันนี้ถูกระบบปฏิบัติการ AI เข้ากลืนกินแทนมนุษย์ไปไม่น้อยแล้ว

กระนั้นทางกระทรวงศึกษาธิการ ยันขอให้มั่นใจในคุณภาพของสถาบันไทยโคเซ็น เพราะทัดเทียมกับโคเซ็นญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เพราะมีครูที่มีความเชี่ยวชาญมาสอน อีกทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโคเซ็นประเทศญี่ปุ่นก็เป็นที่ยอมรับอย่างมาก และมีบริษัทมาเสนองานให้ผู้ที่จบการศึกษากว่า 30 บริษัท ดังนั้น เด็กไทยที่จบสถาบันไทยโคเซ็น นอกจากจะมีงานทำแน่นอนแล้ว ยังเป็นบุคลากรที่สามารถสร้างนวัตกรรม​และเทคโนโลยีได้ด้วย

ถือเป็นอีกมิติทางการศึกษาที่มีขีดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาบุคลากรของประเทศ นำรูปแบบการศึกษาทันสมัยมาประยุกต์กับนักศึกษาไทย อนาคตหวังว่าผลผลิตจากสถาบันไทยโคเซ็นจะสัมฤทธิ์ผลได้จริง มีแรงงานเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมเพียงพอต่อตลาดแรงงานที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนอยู่ในขณะนี้ เนื่องด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดทำให้สาขาอาชีพนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมหาศาล

สุดท้าย ทำให้ต้องเหลียวหลังคิดว่า แล้วหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทย เรายังไม่ตอบโจทย์หรือยังไม่พร้อม