posttoday

เกมวัดกะโหลก

13 ธันวาคม 2561

การเมืองไทยที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบทศวรรษ

เรื่อง มะกะโรนี

การเมืองไทยที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบทศวรรษ เป็นช่วงเวลาที่หลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบทบาทของโลกออนไลน์ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงคาดการณ์กันว่า โลกออนไลน์จะเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในการเมืองและการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ปีที่แล้ว สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สรุปพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย โดยระบุว่า ใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงาน/เรียนหนังสือ เฉลี่ย 6 ชั่วโมง 30 นาที/วัน ปีนี้ผลสำรวจยังไม่ออกมา แต่ใครก็บอกได้ว่าการใช้งานย่อมเพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อจำกัดในการเข้าถึงนับวันยิ่งน้อยลงๆ ทุกที

หลายปีที่ผ่านมา ความเห็นทางการเมืองถูกนำเสนอผ่านโลกออนไลน์ตลอดเวลา ทั้งแบบวงกว้างและเฉพาะกลุ่ม มีทั้งด้านบวกและด้านลบต่อผู้ใช้งานเอง

นักวิชาการด้านสื่อมักจะให้ความเห็นว่า ด้านลบของโลกออนไลน์ ก็คือ เรื่องราวทางการเมืองที่ได้จากโลกออนไลน์ตอบสนองต่อสิ่งที่เชื่ออยู่แล้วมากเกินไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความสนใจทางการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจนนั้นได้สร้างอุปนิสัยเลือกเสพสื่อตรงตามที่ตัวเองคิดหรือเชื่ออย่างเหนียวแน่น

ทุกๆ วันสารพัดความเห็นในแบบที่ได้กดไลค์ไว้จะโผล่ขึ้นมาตอกย้ำยืนยันในสิ่งที่แต่ละคนเชื่อ จนยากจะมีความเห็นต่างหรือความหลากหลายหลุดลอดเข้ามา หรือหากมี (กรณีที่เปิดกว้าง ไม่จำกัดแค่เฉพาะกลุ่ม) ก็เป็นไปในเชิงเหน็บกัดหรือป่วนฝ่ายตรงกันข้าม

จึงกล่าวได้ว่าจุดแข็งของโลกออนไลน์ก็คือ ถูกใช้เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาความคิดแต่ละคนให้เชื่ออย่างถอนตัวไม่ขึ้น การแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างสุดโต่งจะคงอยู่อย่างไม่มีพลังใดจะมาเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเชื่ออย่างยิ่งว่า นักวางกลยุทธ์การเลือกตั้งแต่ละพรรค หรือขั้วการเมือง จึงเลิกที่จะเสียเวลาไปกับการพยายามเปลี่ยนความคิดฝ่ายที่ไม่ชอบตน และหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ยังไม่ปักใจเชื่อฝ่ายไหนอย่างเหนียวแน่นให้ยอมเทคะแนนให้ เป็นบทเรียนการใช้ประโยชน์จากดาต้าที่มีโมเดลให้เห็นแล้ว

โมเดลที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ฝากไว้ให้ทั้งโลกถอดรหัสนั้นบอกเราว่า ทรัมป์ ชนะได้ด้วยบิ๊กดาต้าที่ได้จากการทำโพลทุกสัปดาห์ นำโพลมาวิเคราะห์ผ่านโมเดลวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง จนทำให้ระบุได้ว่า มีคนอยู่ราว 13.5 ล้านคน ใน 16 รัฐสำคัญ ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะเลือกใคร

ผลโพลช่วยให้รู้ว่าคนพวกนี้อยู่ในพื้นที่ไหน ทรัมป์ต้องไปจัดหาเสียงที่ไหน และต้องโฆษณาให้คนแถวไหนและคนกลุ่มไหน โดยทีมงานเน้นใช้ระบบโฆษณาในเฟซบุ๊กเป็นหลัก ใช้เครื่องมือนี้เข้าถึงคนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่อาจเทคะแนนให้

ขณะเดียวกันก็ใช้วิธีปล่อยข่าวทำลายฝ่ายตรงข้าม ปั้นเนื้อหาข่าวที่ฝ่ายตรงข้ามเคยพลาดมาตอกย้ำ หวังให้คนที่ชอบฝ่ายตรงข้ามเห็นแล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง หมดแรงบันดาลใจที่จะออกมาลงคะแนน แน่นอนว่ายังมีรายละเอียดอื่นๆ ของการใช้บิ๊กดาต้าอีกมากมาย

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งรอบนี้ จะยิ่งเข้าทำนอง “กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน” และอาจจะมีบรรยากาศที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งน่าจับตามองอย่างยิ่ง