posttoday

เพิ่มโทษค่าปรับ

04 ธันวาคม 2561

คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนจากปัญหารถจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่บนทางเท้าอยู่บ่อยครั้ง

เรื่อง ทองพระราม

คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนจากปัญหารถจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่บนทางเท้าอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนเด็กนักเรียนจนได้รับบาดเจ็บตามที่ปรากฏในสังคมโซเชียล พฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นและพบเห็นได้ทุกแห่งทั่วเมือง

แม้จะมีป้ายประกาศเตือนห้ามกระทำผิดกฎหมายมีโทษจับปรับตามเส้นทางต่างๆ แต่ไม่อาจระงับจำนวนผู้กระทำผิดให้หมดไปได้ เพราะจากสถิติการจับปรับในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา ตามโครงการจับจริง ปรับจริง ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจสามารถจับผู้กระทำผิดได้กว่า 1 หมื่นราย และปรับเป็นเงินได้กว่า 4 ล้านบาท

สะท้อนว่าจำนวนผู้กระทำผิดยังไม่มีแนวโน้มไม่ลดลง โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุด มักพบผู้ฝ่าฝืนและขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าเช่นเดิม ดังนั้น กทม.จึงต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น โดยเพิ่มอัตราค่าปรับต่อผู้ขับขี่บนทางเท้า จากอัตราต่ำสุด 500 บาท เป็น 1,000-5,000 บาท

ทำไมเรื่องนี้จึงแก้ปัญหาได้ยาก นั่นเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมอะลุ่มอล่วย ทำกันมานาน เอาแต่ความสะดวกส่วนตัวไม่นึกถึงผู้อื่นดังนั้นกฎหมายที่เข้มงวดและจริงจังจะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก แม้ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้เคยมีนโยบายการเพิ่มอัตราค่าปรับขั้นต่ำ 500 บาท โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อปรับหรือเพิ่มภาระใช้จ่ายให้กับประชาชน เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมีจิตสำนึกถึงสังคมส่วนรวมเป็นหลัก แต่กลับยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร

ด้านหนึ่งหากพิจารณาในแง่มุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจ พบว่ามีข้อจำกัดด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ โดยแต่ละเขตมีเจ้าพนักงานราว 50-60 คน แต่ด้วยถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีถนน ตรอกซอยจำนวนมาก มีภารกิจหน้างานหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาร้านค้าหาบเร่แผงลอย ป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย รวมถึงคอยอำนวยความสะดวกด้านหน้าโรงเรียน จึงทำให้การจับปรับรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าไม่ทั่วถึง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประจำได้ทุกจุดได้ตลอด 24 ชั่วโมง บางจุดจึงเล็ดลอดสายตาไปบ้าง ยกเว้นจุดที่ กทม.กำชับให้กวดขันบนถนนสายหลัก 233 จุด เรียกได้ว่าลับหลังเจ้าหน้าที่จะมีผู้กระทำผิดทันที

อย่างไรก็ตาม มาตรการหนึ่งที่ กทม.กำลังศึกษาหาความเป็นไปได้ คือ โครงการนำกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) จับภาพผู้กระทำผิด พร้อมส่งใบสั่งเป็นจดหมายไปยังที่พักอาศัย รูปแบบเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของสำนักเทศกิจกำลังหารือว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

โดยในปัจจุบันกล้องซีซีทีวีในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอยู่ 5 หมื่นตัว ทว่าเป็นกล้องเพื่อความปลอดภัย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจับผู้กระทำผิด แต่หากสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้ก็จะเพิ่มช่องทางป้องกันห้ามปรามผู้กระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือจิตสำนึกรณรงค์ห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ส่วนบุคคลขึ้นมาจอดกีดขวางบนทางเท้าไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพบนทางเท้าของผู้อื่น แต่เมื่อการรณรงค์ไม่ประสบความสำเร็จ ทางออกเดียวหนีไม่พ้นการเพิ่มอัตราค่าปรับจากเดิม200-500 บาท เพราะทุกวันนี้ไม่สามารถทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าเกรงกลัวต่อกฎหมาย

หลังจากนี้เจ้าหน้าที่เทศกิจจะเข้มงวดมากขึ้น เพิ่มอัตราค่าปรับขั้นต่ำอยู่ที่ 1,000 บาทเป็นอย่างน้อย ถ้าไม่มีเงินชำระต้องยึดรถ แม้ว่า กทม.ไม่ต้องการจับปรับเพิ่มโทษ แต่เชื่อว่ามาตรการเข้มงวดเท่านั้นที่จะแก้ปัญหานี้ให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด