posttoday

ตึกสูงระฟ้า

06 พฤศจิกายน 2561

หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครกำลังขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดย...แสงตะเกียง 

หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครกำลังขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยมีขนาดสูงเสียดฟ้าผุดขึ้นมาขนาบข้างกับบ้านเรือนในชุมชนใกล้เคียงให้ดูเล็กลงไปถนัดตา

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ายุคสมัยของการพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมีการสร้างอาคารสูงเกิดขึ้นหลายแห่ง เกิดเป็นคำถามจากภาคประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า การก่อสร้างอาคารสูงโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเช่นนี้ควรหยุดได้แล้วหรือไม่ เนื่องจากกรุงเทพฯ อยู่ในภาวะแออัด

ล่าสุด ได้มีประชาชนจำนวนกว่า 8,000 คน ร่วมกันคัดค้านโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมความสูง 36 ชั้น บนถนนพระราม 4 โดยมีพื้นที่ติดต่อกับพิพิธภัณฑ์ตำหนักปลายเนิน เขตคลองเตย

โบราณสถานทางประวัติศาสตร์ของชาติ อดีตเป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) สุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

โดยวังปลายเนินสร้างขึ้นเมื่อปี 2454 เป็นเรือนไทยโบราณที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะรับลมได้เป็นอย่างดี จึงถูกใช้เป็นที่พักตากอากาศ พร้อมทั้งเป็นสถานที่ทำงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งใช้ออกแบบสถาปัตยกรรมโบราณที่โดดเด่นมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน

เช่น ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร และทรงออกแบบพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

ทั้งนี้ ถ้ามีการก่อสร้างคอนโดความสูงหลายชั้น หวั่นเกรงจะเกิดแรงสั่นสะเทือนระหว่างก่อสร้าง ส่งผลกระทบต่อรากฐานของวังปลายเนินที่มีเสาเข็มเป็นไม้สักโบราณได้รับความเสียหาย ไม่สามารถกลับมาบูรณะซ่อมแซมได้อีก

รวมถึงคอนโดต้องมีการถมที่ดินให้มีระดับความสูงเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้พื้นที่รอบข้างกลายเป็นที่ต่ำ จึงเป็นห่วงว่าพื้นที่ของวังปลายเนินจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้าน เสียง ฝุ่นควัน โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ไม่ปรากฏรายงานบันทึกการประชุมและแผนการก่อสร้าง ทั้งยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยซ่อนเร้นต้องพิจารณา คือ หากมีการพัฒนาถมที่ดินให้สูงขึ้นเพื่อสร้างอาคารสูงแห่งใหม่จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาที่ดินทรุดตัว กลายเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซากเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ทางออกที่เหมาะสมควรจึงขยายไปพัฒนาในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม ให้กลายเป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ หรือเมืองใหม่ได้อีกมาก ไม่จำเป็นต้องพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

สอดรับกับความคิดเห็นของนักวิชาการด้านผังเมืองหลายคน สะท้อนว่ากรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่ภาวะเมืองแน่นไปด้วยตึงสูงระฟ้า นับได้ว่าเมืองเติบโตเต็มที่ถึงขีดสุดแล้ว

ผลที่ตามมาคือความแออัด ฉะนั้นไม่ควรสร้างอาคารใดในกรุงเทพฯ อีก แม้ กทม.จะไม่สามารถไปห้ามไม่ให้สร้างอาคารสูงในเมืองได้ แต่ก็มีกฎหมายควบคุมอาคาร ควบคุมการก่อสร้างอยู่

ดังนั้น จะสร้างอะไรต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ถี่ถ้วนนับจากนี้