posttoday

มหา'ลัยออนไลน์

04 ตุลาคม 2561

ระบบการศึกษาในบ้านเรากำลังถูกท้าทายถึงความอยู่รอดได้หรือไม่

โดย...กัปตัน ป.

ระบบการศึกษาในบ้านเรากำลังถูกท้าทายถึงความอยู่รอดได้หรือไม่ ทั้งมหาวิทยาลัยและอาจารย์ผู้สอน เหมือนอนาคตจะไม่สดใสอย่างที่คิดอีกต่อไป เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์กำลังเข้ามาแทนที่ หรือเด็กรุ่นใหม่เรียกเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ว่า MOOC หรือชื่อเต็มๆ คือ Massive Open Online Courses รายวิชาหลักของหลักสูตรออนไลน์ที่เปิดให้กับคนจำนวนมาก มีทั้งแบบเรียนฟรีและจ่ายเงิน

สำหรับบ้านเรายังเป็นเรื่องใหม่อยู่ มีบ้างบางมหาวิทยาลัยชื่อดังที่เริ่มหันมาลงทุนเปิดธุรกิจด้านนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาขาดทุน ไม่มีนักเรียนนักศึกษาเข้ามาเรียน เพราะมหาวิทยาลัยล้นห้องเรียนร้าง เกิดภาวะแย่งชิงนักศึกษาถึงขั้น ลด แลก แจก แถม หรือลดราคากันจนลืมใส่ใจคุณภาพการเรียนการสอน

เกิดคำถามว่าแล้วการเรียนการสอนออนไลน์เป็นอย่างไร แน่นอนอันดับแรกไม่ต้องเข้าชั้นเรียน และจะเข้าเรียนเมื่อไรก็ได้ โดยการเรียนการสอนผ่านแอพพลิเคชั่น รูปแบบการสอนมีทั้งวิดีโอ เอกสารประกอบที่สามารถโหลดมาอ่านผ่านโทรศัพท์มือถือได้สะดวกแบบตลอดเวลา แบบไม่ต้องพกหนังสือหรือตำราให้หนักกระเป๋า มี Discussion Board มี List Website หรือเอกสารที่ควรอ่านเพิ่มให้ และให้ลองทำแบบฝึกหัดจริง หากเกิดข้อสังสัยอยากซักถามทิ้งโน้ตไว้ อาจารย์ผู้สอนจะมาตอบให้ตลอดเวลา ไม่มีเวลาปิดทำการเหมือนมหาวิทยาลัย

บางโปรแกรมวิชาอาจเรียนแบบไม่เอาวุฒิการศึกษา หรือบางสาขาวิชามีวุฒิการศึกษาขึ้นอยู่กับจะเลือกเรียนว่าอยากมีการทดสอบและประเมินผลด้วยหรือไม่ จึงไม่แปลกว่าสถาบันกวดวิชาเดี๋ยวนี้หันมาติวทางออนไลน์มากขึ้น หรือแม้แต่การเรียนการสอนง่ายๆ ในระดับประถมถึงมัธยมปลาย เรื่องสอนภาษาอังกฤษเด็กสมัยนี้หัดพูด หัดฟัง หัดเขียน จากยูทูบที่มีลูกเล่นการนำเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจ เด็กๆ ชอบ เช่น เอาการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่แต่งตัวประหลาดๆ มีเพลงประกอบเร้าใจ สอดแทรกการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษสามารถตรึงความสนใจของเด็กในการเรียนภาษา

การเรียนการสอนในยูทูบมีทุกสาขาวิชา อยู่ที่ว่านักยูทูบเปอร์คนใดเก่งในการนำเสนอมากกว่ากัน ย่อมมีค่าตอบแทนเป็นโฆษณาเข้ามาว่าจ้าง ดังนั้นพ่อแม่ยุคนี้จึงไม่ค่อยไปพึงโรงเรียนกวดวิชา บุตรหลานตัวเองก็รู้ภาษาอังกฤษได้เหมือนกัน แถมสนุกกว่าด้วย

สำหรับการเรียนผ่านออนไลน์ที่ต้องจ่ายเงิน ส่วนใหญ่จะมีใบประกาศนียบัตรให้ด้วย จะเน้นวิชาทางสายอาชีพทางเทคโนโลยี วิชาส่วนใหญ่มักจะเน้นทางธุรกิจ ไอที การออกแบบกราฟฟิกต่างๆ เช่น การใช้ MS Office Adobe หรือมีวิชาให้เลือกที่หลากหลาย เช่น การทำอาหาร การเขียนโปรแกรม โยคะ ศิลปะการป้องกันตัว ฯลฯ

ที่น่าสนใจ คือ การสอนมีให้ดูวิดีโอ หรือมีไฟล์ตัวอย่างที่เป็นข้อสอบมาให้ลองทำตาม ที่สำคัญก่อนเลือกเรียนสิ่งใด ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรีวิวย้อนหลัง ประวัติผู้สอนว่าสอนดีไหม หรือวิชาที่จะเรียนน่าสนใจแค่ไหน ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินเรียน

อนาคตมหาวิทยาลัยกับอาชีพครู คงถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับตัว ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ เมื่อเทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่คน โดยเฉพาะความน่าเชื่อของระบบการศึกษาในชั้นเรียนกำลังต่อสู้กับการเรียนการสอนออนไลน์ จึงเป็นห่วงแผนการปฏิรูปการศึกษาไทยจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้หรือไม่