posttoday

เบี้ยหัวแตก

02 ตุลาคม 2561

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือ พื้นที่แสดงภาพถ่ายรูปปั้น ไปจนถึงบทกวี ที่ช่วยหล่อหลอมจิตวิญญาณของผู้คนให้สมบูรณ์

โดย...แสงตะเกียง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือ พื้นที่แสดงภาพถ่ายรูปปั้น ไปจนถึงบทกวี ที่ช่วยหล่อหลอมจิตวิญญาณของผู้คนให้สมบูรณ์ กำลังอยู่ในภาวะไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ คิดเป็นเงินจำนวน 9 ล้านบาท เกิดเป็นคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

หากไม่ใช่เพราะการบริหารผิดพลาดของผู้บริหารหอศิลปฯ เนื่องจากใช้ประโยชน์จากพื้นที่ย่านใจกลางเมือง เขตปทุมวัน ได้เพียงน้อยนิด อีกทั้งขาดการเชิญชวนให้ประชาชนอยากเดินทางมาเยี่ยมเยือนหอศิลปฯ บ่อยครั้ง ท้ายที่สุดจึงมีรายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่าย

จากนั้นเลือกทางออกด้วยการเรียกร้องให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จ่ายเงินงบประมาณสนับสนุนปีละ 40 ล้านบาท พร้อมทั้งขอให้แก้ไขหนังสือสัญญาที่ได้เริ่มทำไว้เมื่อปี 2554 ในข้อ 8 ที่ระบุว่าบรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษีใดๆ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการหอศิลปฯ ตกเป็นความรับผิดชอบของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิฯ มีหน้าที่ต้องชำระ

ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารหอศิลปฯ ใช้โอกาสในการประชาสัมพันธ์งานแสดงนิทรรศการเบียนนาเล่ ด้วยการจัดแถลงข่าวโอดครวญว่าในอีกไม่ช้า ห้องน้ำหอศิลปฯ อาจไม่มีน้ำและไฟฟ้าให้ประชาชนได้ใช้ นอกจากนี้คำกล่าวของผู้บริหารบางคนยังมีแต่คำกระทบกระเทียบเสียดสี เลยเถิดไปว่ากล่าว สภา กทม. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเสียอย่างนั้น ระวังวิสัยทัศน์เช่นนี้จะทำให้เยาวชนเสื่อมศรัทธาได้

ส่วนสาเหตุที่ กทม.ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณประจำปี 2562 ให้กับทางหอศิลปฯ ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 49 ตามระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ในการสนับสนุนงบประมาณ ต่อมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสภา กทม. ได้ท้วงติงว่าการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ตราข้อบัญญัติเงินอุดหนุนของ กทม.พ.ศ. 2560 เพื่อให้การหนุนงบประมาณกับมูลนิธิฯ ถูกต้องตามกฎหมาย เงินสนับสนุนจึงไปอยู่ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.)

โดยมูลนิธิฯ ต้องเขียนเสนอโครงการมาให้ สวท. เพื่อจัดสรรงบประมาณ และต้องแจกแจงรายละเอียด ที่มา หลักการและเหตุผลให้ชัดเจน แต่มูลนิธิฯ เขียนเสนอโครงการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ไม่ผ่านการพิจารณางบประมาณปี 2562 กทม.จึงจ่ายเงินให้ไม่ได้ เรื่องก็มีเท่านี้เอง

สำหรับการแก้ไขสัญญาในข้อ 8 ฝ่ายกฎหมายชี้แจงว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นสัญญาให้สิทธิในตัวอาคารหอศิลปฯ อีกทั้งรายละเอียดในสัญญาเป็นไปตามมาตรฐาน เช่นเดียวกับสัญญาการเช่าบ้านที่ผู้อยู่อาศัยจะต้องเป็นผู้ชำระค่าสาธารณูปโภคเอง แต่เรื่องของ
หอศิลปฯ คือ ผู้เช่า (ผู้บริหารหอศิลปฯ) เรียกร้องให้เจ้าของบ้าน (กทม.) นำบิลค่าน้ำ ค่าไฟไปจ่ายให้ด้วย เท่ากับได้อยู่แบบฟรีๆ

หากพิจารณาให้ดีเงินภาษีประชาชนปีละ 40 ล้านบาท มีค่ามหาศาลนำไปช่วยเหลือผู้คนได้อีกมาก ถ้าอยากให้ประชาชนเข้ามาเที่ยวหอศิลปฯ ก็ควรเป็นการบ้านของผู้บริหารต้องไปคิดหาทางแก้ปัญหา ไม่ใช่อ้างว่าถ้า กทม.ไม่จ่ายเงินสนับสนุนหอศิลปฯ อาจทำให้ต้องปิดตัวลงกลางปี 2562 ถ้ากล่าวเช่นนี้จะไม่ต่างอะไรจากการนำภาพศิลปะมาเป็นตัวประกัน

ถึงกระนั้นเพื่อไม่ให้หอศิลปฯ ต้องยุติลง เบื้องต้น กทม.ให้สำนักวัฒนธรรมฯ นำค่าน้ำ ค่าไฟไปชำระให้ก่อน จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือติดตามทวงทีหลัง และให้สำนักงบประมาณและสำนักงานกฎหมาย ศึกษาความเป็นไปได้ในการขอจัดสรรงบเร่งด่วนให้กับหอศิลปฯ ด้วยวิธีการใดได้บ้าง ท้ายที่สุด กทม.ต้องจ่ายเบี้ยหัวแตกอีกตามเคย