posttoday

ช้าก่อน...อี-สปอร์ต

17 กันยายน 2561

อี-สปอร์ต (E-Sport) ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ให้การรับรองสมาคมอี-สปอร์ต เท่ากับรับรองว่าเป็นกีฬา

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องน่าคิดเกี่ยวกับอี-สปอร์ต (E-Sport) ที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้ทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์นี้สืบเนื่องจากการที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ให้การรับรองสมาคมอี-สปอร์ต ซึ่งเท่ากับรับรองว่าเป็นกีฬาด้วย

แต่ทว่าแวดวงวิชาการทั่วโลกยังไม่ได้ยอมรับการแข่งขันวิดีโอเกมว่าเป็นกีฬา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชัดเจนว่า การเล่นมากเกินไปจะนำไปสู่โรคการติดเกม เป็นโรคกลุ่มใหม่ ที่เป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาพจิตในปัจจุบัน

ความจริงแล้ว อี-สปอร์ต เป็นวาทกรรมของบริษัท เนื้อแท้คือการแข่งขันวิดีโอเกม แม้แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ไม่รับรองว่าเป็นกีฬา

การยกตัวเลขรายได้ของนักแข่งหรือรายได้จากการโฆษณานั้นเทียบไม่ได้กับผลร้ายที่เกิดขึ้น โดยในสหรัฐอเมริกามีคนเล่นเกมจำนวน 60 ล้านคน แต่มีผู้เล่นอาชีพที่มีรายได้ประจำแค่ 57 คน

เท่ากับว่าจำนวนผู้เล่น 1 ล้านคน จะเป็นอาชีพได้ 1 คน แต่มีผู้ติดเกม 8 หมื่นคน คนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพ สมาธิสั้น เสียพัฒนาการ

WHO จึงประกาศให้ Game Disorder เป็นโรคทางจิตเวช เป็นความผิดปกติเช่นเดียวกับการเสพติด พฤติกรรมอื่นๆ เช่น ติดการพนัน โดยไม่มีกีฬาใดในโลกที่ทำให้เกิดการเสพติดได้

ในต่างประเทศมีการรับรองเพียงให้เป็นสมาคมเพื่อไปแข่งขัน แต่ไม่ใช่รับรองว่าเป็นการกีฬา แต่กรณี กกท.รับรองว่า เป็นกีฬาเท่ากับรับรอง 2 ต่อ ทำให้บริษัทและสมาคมใช้เป็นโอกาสโฆษณา ทั้งที่ปกติก็ทำการตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้วในฐานะวิดีโอเกม

ผลก็คืออัตราเด็กติดเกมเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว รวมทั้งปัญหาที่ตามมาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ละทิ้งการเรียน การพูดปด ลักขโมย ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ โดยแค่ 6 เดือนแรก (ต.ค. 2560-มี.ค. 2561) ของการประกาศก็มีปัญหาดังกล่าวเพิ่มกว่าเท่าตัว

ประเทศต่างๆ ที่มีกลไกการดูแลดีกว่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นกีฬา แต่ไทยซึ่งมีจุดอ่อนกลับไปสนับสนุนให้เป็นกีฬา

จุดอ่อนของไทยก็คือในแง่ Demand Side เด็ก พ่อแม่ไม่เข้าใจผลเสีย โอกาสการติดเกม ซึ่งต้องป้องกันด้วยการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก ต้องไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่มีในห้องนอน

ในแง่ Supply Side บริษัทขาดจรรยาบรรณในการโฆษณาและการตลาด

ส่วน Regulator ทั้ง กกท.และสมาคมขาดความสามารถในการควบคุม

ทั้งหมดอย่าได้เห็นแก่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงผลระยะยาว

ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาจัดการแบบหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่ ทั้งออกกฎหมายห้ามนำมาในโรงเรียน ลงทะเบียนบัตรประชาชนเพื่อควบคุมอายุ เกมต้องหยุดเมื่อครบ 2 ชั่วโมง เป็นต้น

นี่แหละคือจดหมายที่ยกข้อกังวลและข้อเสนอแนะมาพร้อมๆ กัน

อี-สปอร์ต จึงควรหยุดก่อนอย่าเพิ่งไปไกลนัก