posttoday

ละเลงเงินรณรงค์

05 กันยายน 2561

ที่ผ่านมาประเทศไทยรณรงค์ปัญหาการสูบบุหรี่มายาวนานหลายสิบปี เป้าหมายเพื่อป้องกันนัก “สูบหน้าใหม่”

โดย..สลาตัน

ที่ผ่านมาประเทศไทยรณรงค์ปัญหา “การสูบบุหรี่” มายาวนานหลายสิบปี เป้าหมายเพื่อป้องกันนัก “สูบหน้าใหม่” ที่ผลิดอกออกผลเพิ่มขึ้นไปสู่กลุ่มทุกเพศและวัย จนสร้างปัญหากลายเป็นวาระแห่งชาติที่สังคมต้องหวนกลับมาแก้ไข โดยตระหนักถึงความถูกต้องซึ่งมีมาตรการในสังคมชัดเจนอยู่

ไม่ว่าจะเป็นการห้ามขายบุหรี่ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุข สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และร้านขายยาตามกฎหมาย สถานศึกษา สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก มาตรการเหล่านี้เป้าหมายหวังลดอัตราการซื้อขายครอบคลุมไปถึงการให้งด ละ เลิกสูบหรี่ แล้วมาตรการทางกฎหมายเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร หากรัฐบาลเองยังส่งเสริมให้เกิดโรงงานยาสูบแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก สวนทางกับการรณรงค์อย่างมาก !!

ตอกย้ำชัดเจนที่ล่าสุด รัฐบาลทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านบาท ให้การยาสูบแห่งประเทศไทยขยายฐานการผลิตบุหรี่เพิ่มที่เขตอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากรัฐบาลเชื่อเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อีกทั้งยังนำรายได้ไปพัฒนาประเทศได้ ??

การทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ถามว่าเราได้ประโยชน์อะไร ทั้งที่คนในประเทศกำลังรณรงค์ปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่อย่างครึกโครม โดยเฉพาะองค์กรอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ที่พยายามกลั่นกรองความคิดไปสู่การปฏิบัติลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ลง ในขณะที่รัฐเองกลับนำเงินจำนวนมากทุ่มลงไปกับโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ แล้วมาตรการที่หลายฝ่ายพยายามรณรงค์กันมาตลอดไม่สูญสลายไปใช่ไหม

ส่วนประเด็นการอ้างว่านำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ ตรงนี้ถือว่าเห็นด้วย แต่ประเทศไทยมีวิธีการหารายได้จากช่องทางอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย ไม่จำเป็นต้องมาหากินกับธุรกิจเมามอมสังคมมอมเมาคนในประเทศตัวเอง อนาคตแทนที่นักสูบจะลดน้อยลงตามวัตถุประสงค์ชาติ ภาพนั้นอาจเปลี่ยนไปกลายเป็น “สังคมแห่งควันบุหรี่” ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่ม ช่องทางการซื้อขายง่ายสะดวกขึ้นอีกเช่นกัน

ในขณะที่ข้อมูลแผนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ปี 2560-2564 สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วางเป้าหมายการลดโรคและภัยสุขภาพ จากเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกในเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระดับโลก ที่ต้องการให้ในปี 2568 ลดการบริโภคยาสูบลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

โดยอัตราการบริโภคยาสูบในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปต้องไม่เกินร้อยละ 14.7 ในปี 2568 สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบจึงได้กำหนดเป้าหมาย รวมถึงการลดอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของประชาชนลดลงร้อยละ 35 ในปี 2564 ผลการดำเนินรณรงค์ปัญหาบุหรี่ถือว่าได้ผลพอสมควร โดยเฉพาะการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ตามสถานศึกษา โรงเรียน ฯลฯ

ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (ปี 2534-2558) พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เหลือ 10.9 ล้านคน ในปี 2558 ในจำนวนนี้ พบว่าเป็น Gen Z ที่มีอายุ 15-18 ปี จำนวน 3.1 แสนคน หากเราช่วยกันป้องกัน Gen Z จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90

ดังนั้น นโยบายการลงทุนด้านยาสูบยังยึดโยงกับเรื่องรายได้มากกว่าสุขภาพของคนไทย แผนรณรงค์จึงกลายเป็นแค่ละครล้อไปกับสังคม พร้อมละเลงเงินให้สูญเปล่าไปเท่านั้น