posttoday

วาระแห่งชาติยางพาราไทย

27 กรกฎาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

วันจันทร์ที่ 23 ก.ค. 2561 ผมจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน เรื่อง "การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานยางพาราไทยกับมาเลเซียเพื่อแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดีและตอบสนองความต้องการในตลาดโลก" ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับเงินทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

งานสัมมนาได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ผมนำเสนอ คือ "วาระแห่งชาติยาง พาราไทย" ซึ่งต้องทำ 16 เรื่อง คือ 1.การปรับโครงสร้างหน่วยงานยางพาราของประเทศให้ทำงานเป็นเอกภาพ แบ่งบทบาทหน้าที่ในแต่ละด้านชัดเจน เช่น การวิจัย การพัฒนาพันธุ์ การและทำตลาด ซึ่งสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันเหมือนที่มาเลเซียดำเนินการ การรวม 3 หน่วยงานของไทย ซึ่งมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันการและทำตลาดต่างประเทศยัง ไม่ตอบโจทย์ปัญหายางพาราอย่างจริงจัง 2.เกษตรกรต้องเป็นเอกภาพ ควรมีการตั้งเป็นกลุ่มตัวแทนของเกษตรกรยางพาราของประเทศ 1 สถาบัน แล้วมีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เข้ามาเป็นคณะกรรมการเพื่อเสนอปัญหาของเกษตรกรยางพาราไปในทิศทางเดียวกัน 3.Big Data ยางพารา เพื่อเป็นฐานข้อมูลยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศทันสมัยที่สุดและควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงดูแล

4.จัดตั้งศูนย์เตือนภัยยางแห่งชาติ (Rubber Warning Center) มีแบบจำลองทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่สามารถจะคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในตลาดโลกที่มีผลกระทบต่อยางพาราของไทย 5.การค้าพาณิชย์ออนไลน์ชายแดน (Rubber Cross Border E-commerce : RCBEC) ส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำยางและผลิตภัณฑ์ยางไปขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ โดยตั้งอยู่ท่าเรือสงขลา ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการ EEC 6.ตั้งศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของโลก เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตล้อเครื่องบิน  ผลิตภัณฑ์อิฐผสมยางพารา  ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อการก่อสร้างและหมอนรถไฟผสมยางพารา เป็นต้น 7.ตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนามาตรฐานยางพาราในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของชาวสวนในเรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และลดสิ่งปลอมปนในการผลิตยาง พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

8.ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเครดิตให้กับกลุ่มสหกรณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อตลาดต่างประเทศ (Rubber Fund) อุปสรรคสำคัญในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราของกลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน คือ การส่งออกผู้ขายจะต้องให้เครดิตลูกค้าโดยส่งสินค้าไปก่อนและอาจมีการจ่ายเงินให้อีก 30 วันหลังจากส่งออก ขณะที่กลุ่มเกษตรกรต้องจ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานก่อน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน 9.ส่งเสริมให้มีการผลิตยางแผ่นรมควันคุณภาพสูง (Premium RSS) ผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตยางแผ่นรมควันชั้นที่ 1 และ 2 หรือเรียกว่า "Premium RSS" เหมือนที่ จ.ระยอง ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ราคาสูงกว่า RSS3 ถึง 1-2 บาท

10.ศูนย์กลางการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้น  ส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยต่างๆ สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 11.ตั้ง Outlet ผลิตภัณฑ์ยางพาราในแต่ละจังหวัด (One Rubber one province : OROP) เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราของผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ 12.ตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์และห้องทดลองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละภูมิภาคเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMES  กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ มีศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 13.ตั้งผู้แทนการค้ายางพาราของไทย (Thailand Rubber Trade Representative : TRTR) เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMES  กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าเพื่อนำสินค้าของเกษตรกรและสหกรณ์ไปแสดงและจำหน่าย

14.ศูนย์เรียนรู้เพื่อการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และเกษตรผสมผสาน เพื่อให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการผสมผสานระหว่างยางพารากับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ปรับแก้กฎหมายเรื่องการซื้อขายไม้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายไม้เศรษฐกิจอย่างเสรี อบรมวิธีการกรีดยางที่ถูกวิธีให้การชาวสวนและผู้รับจ้างกรีดยางเพื่อเพิ่มผลิตและรายได้และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจให้กับเกษตรกร และสหกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการหาช่องทางจำหน่ายสินค้า 15.ผลักดัน "ท่าเรือยางพารา" ที่ จ.สงขลา เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งแทนที่จะส่งไปยังท่าเรือของมาเลเซีย และสุดท้ายตั้งคณะกรรมการยางพาราแห่งชาติเพื่อให้การผลักดันยางพาราและผลิตภัณฑ์ "สุดซอย" ผมหวังว่าสิ่งที่ผมพบจากงานวิจัยจะมีส่วนทำให้ยางพาราไทยมีอนาคตขึ้นครับ