posttoday

BTS บ่นได้แต่อย่าไล่ส่ง

29 มิถุนายน 2561

กลายเป็นปมน้ำของชาวกรุงเทพฯ เมื่อระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง จนทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนมีปัญหาติดขัด

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

กลายเป็นปมน้ำของชาวกรุงเทพฯ เมื่อระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง จนทำให้การเดินทางไปไหนมาไหนมีปัญหาติดขัด

เสียงบ่น เสียงวิจารณ์ลามไปทั่ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์กลายเป็นประเด็นสะเด็ดสะเด่า

ถือเป็นปกติ เมื่อระบบขนส่งที่เป็นหัวใจการเดินทางขัดข้อง คนใช้บริการก็ต้องตำหนิเป็นธรรมดา

แต่ทว่าสิ่งที่จะเกินเลยคือการไล่ส่ง อาทิ การไล่ให้ถอนสัมปทาน การกดดันในรูปแบบอื่นๆ เสียอย่างนั้น

นี่ก็เกินเลยไป

ในฐานะคนใช้บริการก็บ่น ก็ว่า เป็นสิทธิทำได้ เจ้าของโครงการก็ต้องไปปรับปรุงการบริการ แต่จะไปทำอะไรที่มันมากมาย ก็ถือว่าเกินสิทธิตัวเอง

อย่าลืมว่าระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบที่เกิดขึ้นโดยรัฐไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่า จ.กทม.

กทม.ไม่ต้องเสียเงินสักสลึง เอกชนลงทุนทั้งหมด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มากนัก

ไม่เชื่อลองไปค้นดูก็ได้ บรรดาโครงการรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนระบบรางที่เป็นต้นทุนราวๆ 75% ของโครงการ และให้เอกชนมารับสัมปทานเดินรถเพียงอย่างเดียวที่เป็นต้นทุนราวๆ 25%

แรกๆ รถไฟฟ้าสายนี้ รู้จักกันดีในชื่อโครงการรถไฟฟ้าธนายง

การก่อสร้างใช้เวลายาวนาน เจอปัญหาสารพัด เปิดกิจการเดินรถมาก็แทบเป็นลมสลบ

สาเหตุเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่าที่ประเมินเอาไว้

โครงการรถไฟฟ้าธนายง ยังต้องมาเจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างบานปลาย จากการที่ไปกู้เงินจากต่างประเทศมาก่อสร้าง

สุดท้ายโครงการรถไฟฟ้าธนายง ก็ลงเอยด้วยการใช้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

เจ้าของโครงการธนายง ต้องไปสู้กับบรรดาสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อปกป้องธุรกิจตัวเองไม่ให้ถูกยึด

ช่วงนั้นโครงการรถไฟฟ้าสายนี้อยู่ในห้องไอซียู หายใจพะงาบๆ

แต่ทุกอย่างก็ผ่านมา โดยหลังออกจากแผนฟื้นฟูก็มีการใช้วิชาทางการเงิน ควบรวมกิจการในเครือของธนายง จนกลายเป็นโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส

และเป็นจุดตั้งต้นที่เริ่มทำให้โครงการนี้ มีกำไร โดยเฉพาะเมื่อมีการแตกลูก แตกหลาน ตั้งบริษัทในเครือของตัวเองมาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การทำโฆษณา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การใช้นวัตกรรมทางการเงิน ทางตลาดทุน อาทิ การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน การรับจ้างเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ฯลฯ

ทั้งหมดเมื่อรวมกับปริมาณคนใช้ที่มากขึ้น ถึงทำให้เกิดกำไร

ใจเขา ใจเรา เมื่อการบริการมีปัญหาก็ต่อว่ากันไปเถอะ แต่อย่าได้เกินระดับความพอดี

เส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสกว่าจะถึงวันนี้ ต้องบอกว่าก็แทบตายกันไปข้าง

ถ้าไม่อึดจริง ไม่เขี้ยวจริง ไม่ฝีมือจริง อยู่ไม่รอดหรอก