posttoday

ยุคทุนนำ

27 เมษายน 2561

โดยหลักการของธรรมชาติแล้วจะเป็นผู้คัดสรรว่าใครจะอยู่รอดได้ เป็นคำกล่าวที่เปรียบเทียบได้กับธุรกิจทีวีดิจิทัลในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว

โดย...นาย ป. 

โดยหลักการของธรรมชาติแล้วจะเป็นผู้คัดสรรว่าใครจะอยู่รอดได้ เป็นคำกล่าวที่เปรียบเทียบได้กับธุรกิจทีวีดิจิทัลในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว

ยังจำกันได้บรรยากาศเมื่อครั้งเปิดประมูลช่องทีวีดิจิทัล บรรดามืออาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงทุนใหญ่ทางธุรกิจต่างลงมาแข่งขันกันแบบยอมเทหมดหน้าตัก เพื่อหวังจะได้มีช่องทีวีดิจิทัลของตัวเองมาไว้ในครอบครอง

วาดฝันกันไปไกลว่า เม็ดเงินจากธุรกิจโฆษณาที่ประเมินกันว่าปีละนับแสนล้านบาทลอยมาอยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดดฉุดไม่อยู่ ทั้งข้อมูลข่าวสาร การเสพความบันเทิงเริงรมย์ 
ที่ช่างเป็นความเสรีไร้พรมแดน

ทว่าผ่านมาไม่กี่ปีฝันสลายกันไปตามๆ กัน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ผู้บริโภคสื่อทีวีดิจิทัลลดน้อยลงจากการไปบริโภคสื่อในช่องทางสื่อโซเชียลมิเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ฯลฯ

ในยุค 4.0 กลายเป็นว่าผู้ผลิตข่าวสารในแต่ละวันกลายเป็นประชาชนทั่วไปก็สามารถทำข่าวได้เองได้ผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว

การกระจายข่าวเป็นไปในรูปแบบการแชร์ หรือรีวิว ข้อมูลข่าวสารอยู่ในรูปแบบวิดีโอ ภาพ คอมเมนต์ บุคคลหรือข่าวใดๆ สามารถดังได้เพียงชั่วข้ามคืนหากกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล แทบจะทุกช่อง
ทีวีดิจิทัลหรือสื่อสิ่งพิมพ์ยังนำข่าวสารเหล่านี้มานำเสนอ

ปัจจุบันราคาสมาร์ทโฟนถูกกว่าทีวีเครื่องหนึ่งเสียด้วยซ้ำไป ไม่แปลกที่พฤติกรรมการนั่งดูทีวีอยู่กับบ้านหายไป เพราะวันนี้จะดูอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว

หากบริเวณนั้นมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ดังนั้นรูปแบบโฆษณาก็เกิดช่องทางใหม่ในการนำเสนอ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งโด่งดังร่ำรวยแค่จ้างดาราหรือเน็ตไอดอลดังๆ มารีวิวสินค้าตัวเองผ่านสื่อโซเชียล สินค้าขายดิบขายดี

ในตอนนั้นคาดกันว่ามูลค่าจริงๆ ของสัมปทานทีวีดิจิทัลน่าจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยกระแสแย่งชิงกันสูง ทำให้มูลค่าพุ่งไปแตะ 5 หมื่นกว่าล้านบาท จึงเกิดข้อเรียกร้องให้ภาครัฐยกเลิกจ่ายค่างวดที่เหลือ

ยิ่งทุกวันนี้ธุรกิจสื่อก็ไม่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเหมือนอดีต แล้วจะเอารายได้ที่ไหนมาจ่าย ดังนั้นใครสายป่านยาวกว่าเท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้ บนสนามรบอันดุเดือดนี้สู้กันที่เงินทุนและเรตติ้ง

จึงได้เห็นปรากฏการณ์ บาดเจ็บ ล้มตายกันไปกันมาก บางช่องต้องเปิดทางให้ทุนนอกเข้ามาเทกโอเวอร์

มาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลเข้ามาอุ้มแค่พักชำระหนี้ กับอนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตได้ จากนี้ไปคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการทีวีดิจิทัลอีกระลอก

เป็นที่รู้กันดีว่าทุนทางธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มาซื้อกิจการทีวีดิจิทัลมิได้หวังกำไร แต่เพื่อให้มีสื่อในมือเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร และเป็นช่องในการโฆษณาธุรกิจในเครือ

เมื่อความอยู่รอดขึ้นอยู่กับเงินทุน การนำเสนอเนื้อหาสาระเพื่อประโยชน์สาธารณะผ่านช่องทางทีวีดิจิทัลย่อมรางเลือน จะเหลือกี่ช่องหรือกี่รายการที่จะทำข่าวหรือรายการเพื่อคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม 
ที่นับวันปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ความพยายามของกรมประชาสัมพันธ์ หรือเอ็นบีที พยายามขอมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกให้มีโฆษณาได้ โดยคิดว่าการทำรายการหรือข่าวดีๆ ต้องใช้เงิน ถ้าคิดแบบนี้จะมีแผนปฏิรูปสื่อไว้ทำไม เปลืองภาษีประชาชนเปล่าๆ ใช่ไหม