posttoday

ไม่ต้องขอ

18 ธันวาคม 2560

เวลานี้ก็ต้องบอกเสียงดังๆ ได้เต็มปาก เพราะนับว่าเป็นช่วงท็อปของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

โดย...ทองพระราม

เวลานี้ก็ต้องบอกเสียงดังๆ ได้เต็มปาก เพราะนับว่าเป็นช่วงท็อปของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งกำลังตกเป็นเป้าสายตาจากสังคมทั่วทุกหัวระแหง

กับประเด็นการครอบครองแหวนและนาฬิกายี่ห้อหรู จนกลายเป็นประเด็นให้บรรดากระจอกข่าวเกาะติดถึงที่มาที่ไปต่อเรื่องนี้ ว่าท้ายสุดแล้วผลการพิสูจน์จะลงเอยอย่างไร

แม้เรื่องนี้จะยังไม่มีบทสรุปออกมาอย่างเป็นทางการและคงต้องใช้เวลาพิสูจน์ตรวจสอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทำประเด็นนี้ให้กระจ่าง

จากเรื่องดังกล่าวทำให้ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาวิงวอนสื่อมวลชน ช่วย "ลดราวาศอก"

พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อโดยมีใจความสำคัญ "ผมไม่ต้องให้กำลังใจอะไร ท่านเข้มแข็งพอ พล.อ.ประวิตร เป็นทหาร สามารถดูแลตัวเองได้ เราไม่ใช่เด็กๆ กันแล้ว ขอร้องสื่อให้ลดราวาศอกกันบ้าง กฎหมายว่าอย่าง ก็ไปว่ากันตามขั้นตอน อย่าไปมองในทางที่แย่ทั้งหมด ไปดูข้อกฎหมายก่อน"

เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำดังกล่าวแบบผิวเผินแล้ว ท่านนายกฯ คงต้องการให้สื่อยุติการทำหน้าที่ตรวจสอบ และปล่อยให้กระบวนการทางกฎหมายทำหน้าที่ของตัวเอง

ซึ่งอันนี้ก็พอเข้าใจว่าบ้านเมืองมีกฎหมาย มีขื่อมีแป จะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นมิได้ แต่ก็อดฉงนสงสัยเมื่อสื่อมวลชนยิงคำถามต่อเรื่อง พล.อ.ประวิตร ตกเป็นเป้าถูกร้องเรียนหลายเรื่อง

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยอมรับว่า "ใช่" เพราะสื่อนั่นแหละ หลายคนก็จ้องอยู่เช่นกัน เขาต้องการตีให้แตกออกจากตนก็รู้อยู่ "ผมเองก็ แข็งแรงเยอะ ถ้ายิ่งไม่มีคนอยู่ด้วยก็จะยิ่งดุกว่าเดิม จะใช้อำนาจอย่างเต็มที่"

หากนายกฯ ยังพอจำความได้อยู่บ้างเวลาท่านให้สัมภาษณ์ มักจะมีคำหนึ่ง คือ "ช่วยกันตรวจสอบ" ซึ่งมักใช้คำนี้เสมอ และจะแปลก หรือไม่ถ้าสื่อจะทำหน้าที่ตรงนี้

และอย่าลืมสื่อมวลชนนั้นมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมถึงแบ่งเบาภาระรัฐไปในคราวเดียวกัน ด้วยการสะท้อนความต้องการประชาชนกลับไปยังรัฐเพื่อลดการเผชิญหน้า

ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนกับการตรวจสอบครั้งนี้จึงไม่เกินเลยขอบเขตหน้าที่อันพึงกระทำได้หรือควรจะเป็น เพราะหากท่านนายกฯ ขอให้สื่อปฏิบัติตามที่ระบุแล้ว

นั่นหมายถึงยอมผิดต่อหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน และหากละเลยเพียงเพราะเสียงท่านนายกฯ เปล่งออกมา ก็ไม่ต่างอะไรจากถูก ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำหน้าที่

ขณะเดียวกัน อาจสวนแนวทางปฏิรูปที่นายกฯ วางไว้และกำลัง เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันเดินหน้าประเทศ และเรื่องดังกล่าวยังใช้เวลาพิสูจน์ เมื่อท่านบอกให้กฎหมายทำงาน

เพราะฉะนั้นท่านนายกฯ เองควรจะปล่อยเรื่องให้กฎหมายทำตามกลไกไป ไม่จำเป็นต้องมาบอกสื่อให้ลดราวาศอก เพราะสื่อเองไม่ได้มี หน้าที่ตัดสินว่าเรื่องนี้ถูกหรือผิด

มีเพียงหน้าที่รายงานความจริงและสะท้อนปัญหารวมถึงตรวจสอบการทำงานของรัฐสู่สังคม เมื่อเป็นประการฉะนี้ก็คงเข้าใจบริบทของสื่อมวลชน อาจไม่ถูกใจบ้าง แต่ไม่ประสงค์ร้าย