posttoday

การศึกษายังน่าห่วง

12 ธันวาคม 2560

การยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยในรัฐบาลนี้ ยังเป็นเรื่องที่เห็น

โดย...กาคาบข่าว

     การยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยในรัฐบาลนี้ ยังเป็นเรื่องที่เห็น ได้เพียงหน้ากระดาษ ผุดออกมาได้ก็แค่แนวทางที่จะไปเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการบริหาร ซึ่งเอาเข้าจริงเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว ก็เห็นชัดว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแวดวงการบริหารบุคลากรวงการแม่พิมพ์นั้นหวงแหนเรื่องนี้อย่างมาก

     เรื่องนี้เห็นชัดจากตัวอย่างกรณีการเปลี่ยนอำนาจการบรรจุและ แต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นของศึกษาธิการ (ศธจ.) ให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

     กศจ.นั้นนอกเหนือจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการศึกษาธิการภาคในพื้นที่ที่รับผิดชอบและบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แล้ว ยังมีตัวแทนกรรมการจากหน่วยงานอื่น เช่น จากการ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดและวัฒนธรรม เป็น ผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการครูในท้องถิ่น ฯลฯ

     จากเดิมอำนาจย้ายครูในแต่ละจังหวัดนั้นเป็นของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) แต่หลายฝ่ายมองว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่มีปัญหาเรื่องทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการแต่งตั้งย้ายครู

     ปัญหาความแตกแยกในแวดวงการบริหารการศึกษา ความขัดแย้ง การแย่งชิงอำนาจ สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ปัญหาอุปสรรคของการศึกษาไทยนั้นผูกโยงกับอำนาจการบริหารงานบุคคลที่มีรากลึกของผลประโยชน์ซึ่งถอนออกไปได้ยาก

     ขณะที่เรื่องแผน ยุทธศาสตร์ การจัดการศึกษา คุณภาพการศึกษา หลักสูตร กลับขยับไปได้ช้า เพราะกลัวว่าจะถูกเพิ่มงานและมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มข้นขึ้น

     และยิ่งน่าเป็นห่วงเมื่อเห็นข่าวผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ออกมา บอกว่า ระบบการศึกษาของไทยนั้นจริงๆ แล้ว ไม่ถือว่าแย่และถือว่าดีด้วยซ้ำ เพราะเมื่อดูจากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา ที่พบว่าไทยห่างจากสิงคโปร์ประมาณ 4-5 ปี แต่โรงเรียนที่อยู่ส่วนบนของไทย เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงก็มีคะแนนพิซาพอๆ กับโรงเรียนในสิงคโปร์ บางวิชาของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คะแนนสูงกว่าโรงเรียนในสิงคโปร์ด้วยซ้ำไป

     นั่นคือคำปลอบใจตัวเองที่ล้มเหลวในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปดูปัญหาเรื่องอำนาจการบริหารงานบุคคล ซึ่งในอดีตเคยทิ้งบาดแผล ในแวดวงแม่พิมพ์ของชาติที่ต้องกล้ำกลืนกับการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม หากจะย้ายกลับภูมิลำเนาหรือพื้นที่ที่ต้องการ ก็ต้องทำใจยอมรับกับค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น หรือต้องหาเส้นสายวิ่งเต้นให้

     จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับปัจจุบัน การ พัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาเป็น กุญแจไขไปสู่ปัญหาการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบจะออกหัวหรือออกก้อย