posttoday

การอำนวยความสะดวก ทางการค้าเมียนมา

17 ตุลาคม 2560

เมียนมาได้เข้าลงนามความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 และเป็นสมาชิกของอาเซียนและความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) & www.itd.or.th

เมียนมาได้เข้าลงนามความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 และเป็นสมาชิกของอาเซียนและความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดน ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อปี 2546 รวมทั้งได้ลงนามความตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ อาทิ ไทย จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เป็นต้น

แต่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาเกียวโตขององค์การศุลกากรโลก แม้ว่าได้เป็นสมาชิกขององค์การศุลกากรโลกแล้วก็ตาม ทางปฏิบัติจริงการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของเมียนมา อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าส่งออก ซึ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อปี 2555 โดยการนำเข้าสินค้าของเมียนมามีหลักเกณฑ์การควบคุมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่ว่าเป็นสินค้าเป็นประเภทที่นำเข้ามา เพื่อค้าขายหรือนำเข้ามาใช้

โดยภาพรวมถือว่าการนำเข้าสินค้าในเมียนมายังมีระบบที่ซับซ้อน ผู้นำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จึงนิยมใช้บริการผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการนำเข้าสินค้าหรือบริษัทนายหน้า เพื่อให้ความช่วยเหลือในการนำเข้าสินค้า โดยในการนำเข้าสินค้านั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องดำเนินการจดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจต่างประเทศกับสำนักงานการลงทุนและการจัดการบริษัท และจดทะเบียนกับกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งต้องเป็นสมาชิกของสหภาพหอการค้าและอุตสาหกรรม

เมื่อปี 2556 รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศยกเลิกการขออนุญาตนำเข้าสินค้าจำนวน 593 รายการ ประกอบด้วย อาหารผ่านการปรุง เสื้อผ้า สินค้าประเภทกระดาษ เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการขออนุญาตส่งออกสินค้า 166 ชนิด ประกอบด้วย สินค้าเกษตร สินค้าจากสัตว์ หรือสินค้าจากป่า ส่งผลให้การนำเข้ามีความสะดวกมากขึ้นระดับหนึ่ง การขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่ยังไม่ได้รับยกเว้นต้องไปดำเนินการขออนุญาตที่กระทรวงการค้า การเรียกหลักฐานประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจะขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีการเรียกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหากเป็นกรณีสินค้ามาจากประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือประเทศที่มีความตกลงเสรีทางการค้า

ทั้งนี้ กฎหมายหรือร่างกฎหมายของเมียนมาจะเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของรัฐ ได้แก่ เว็บไซต์ http://www.moi.gov.mm/moi:eng/ ของกระทรวงข้อมูลข่าวสาร Ministry of Information แม้เว็บไซต์นี้มีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากมีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษน้อย และยังมีเนื้อหาไม่ครบถ้วน แต่ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลด้านกฎหมายของเมียนมาได้