posttoday

ไลน์-สมรภูมิป้ายเหลือง

01 สิงหาคม 2560

ไลน์ ผู้ให้บริการเครือข่ายทางสังคมผ่านระบบมือถือ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่น่าสนใจอีกครั้ง

โดย... ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ไลน์ ผู้ให้บริการเครือข่ายทางสังคมผ่านระบบมือถือ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่น่าสนใจอีกครั้ง

กลุ่มที่ไลน์เข้าไปจับมือด้วยคือ เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนกว่า 6 หมื่นคัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของแท็กซี่ในกรุงเทพฯ โดยจะทำสิ่งที่เรียกว่า ไลน์ แท็กซี่ ไทยแท็กซี่ 4.0 (LINE TAXI : Thai Taxi 4.0)

รูปแบบของไลน์ แท็กซี่ ก็คือจะมีการพัฒนาโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่น บนมือถือ โดยเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้กับคนขับแท็กซี่

ผู้โดยสารจะสามารถเปิดโปรแกรมจากมือถือ และหาแท็กซี่ที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด โดยจะมีระบบด้านความปลอดภัย รวมถึงการป้องกันปัญหาการโก่งค่าโดยสาร

ส่วนแท็กซี่จะเพิ่มโอกาสในการใช้งาน รวมถึงไม่ต้องเสียเวลาในการขับรถวนหาผู้โดยสาร

ประเด็นที่สำคัญในการจับมือครั้งนี้ก็คือ มีการดึงเอากรมการขนส่งทางบก เข้ามาร่วมด้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

ตามเป้าหมายระบบไลน์ แท็กซี่ จะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และเชื่อว่าจะลดปัญหาที่ผู้โดยสารต้องเผชิญทั้งการที่ไม่สามารถเรียกรถแท็กซี่ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน ฝนตก หรือการปฏิเสธผู้โดยสาร พร้อมยกระดับความปลอดภัย

การขยับเข้ามาในกลุ่มแท็กซี่ครั้งนี้ แน่นอนสุดผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คืออูเบอร์ ที่เป็นแอพพลิเคชั่น ระบบรถโดยสารส่วนบุคคล หรือแท็กซี่ส่วนบุคคล

สาเหตุเนื่องจากอูเบอร์เป็นการสร้างระบบที่ให้คนนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการเหมือนรถรับจ้างสาธารณะ

แน่นอนธุรกิจอูเบอร์สร้างผลกระทบให้กับแท็กซี่ และรถบริการสาธารณะ จนถึงขั้นเกิดการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรงมาตลอด ทั้งมีการล่อซื้อ ทั้งมีการล้อมกรอบไล่จับ ฯลฯ

สำหรับจุดแข็งของอูเบอร์ก็คือ รถที่มาให้บริการเป็นรถส่วนตัว มีคุณภาพที่ดี คำนวณราคาค่าใช้จ่ายได้ ฯลฯ เป็นการให้บริการที่ดีกว่ารถแท็กซี่

แต่จุดอ่อนของอูเบอร์คือ ผิดกฎหมาย เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรถรับจ้างสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก เป็นรถยนต์ป้ายขาว ไม่ใช่รถยนต์ป้ายเหลือง

เมื่อไลน์กระโดดจับมือกับกลุ่มแท็กซี่ พร้อมกับนำกรมการขนส่งทางบกเข้ามาร่วม จึงทำให้เป็นการยกระดับแท็กซี่ขึ้นมา และทำให้กลายเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขันกับอูเบอร์

ผู้ใช้ระบบไลน์มีอยู่ถึง 83% ของประชากรในประเทศไทยจะเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญในการรองรับธุรกิจใหม่นี้ เหมือนกับเป็นการเสียบปลั๊กก็ใช้ได้ทันที

ขณะเดียวกัน เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพฯ มากกว่า 6 หมื่นคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ก็เป็นฐานสำคัญสำหรับการให้บริการ

แน่นอนว่า ถ้าในกรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จก็น่าจะขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มรถรับจ้างอื่นๆ ในต่างจังหวัด

และการขยับตัวของไลน์คงไม่หยุดอยู่กับเฉพาะธุรกิจขนส่ง แต่จะแตกตัวไปยังธุรกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จากฐานลูกค้าที่ขยายตัวมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่พัฒนาตลอดเวลา

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา เคยกล่าวไว้ว่า อนาคตของทุกธุรกิจจะอยู่บนมือถือ

ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งเห็นการตอกย้ำที่ชัดเจนมากขึ้น