posttoday

เส้นทางสายไหมขั้วโลก

14 กรกฎาคม 2560

อภิมหาโครงการแห่งยุคเห็นจะไม่มีอะไรเกิน เส้นทางสายไหมยุคใหม่หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road)

โดย... ณ กาฬ เลาหะวิไลย

อภิมหาโครงการแห่งยุคเห็นจะไม่มีอะไรเกิน เส้นทางสายไหมยุคใหม่หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่ผลักดันโดย ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน

โครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่จะใช้เงินลงทุน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกี่ยวข้องกับ 60 ประเทศ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาตะวันออกและเหนือ ส่งผลต่อ 65% ของประชากรโลก มีผลกระทบต่อ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และ 1 ใน 4 ของการค้าโลก

แกนกลางของเส้นทางสายไหม จะประกอบด้วยเส้นทางทางบก 6 เส้นทาง และเส้นทางทะเล 1 เส้นทาง

และเส้นทางสายไหมยุคใหม่กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยล่าสุดได้เกิดเส้นทางใหม่เป็นเส้นทางทะเล เรียกว่า เส้นทางสายไหมอาร์กติก หรือ Ice Silk Road

ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ไปจับมือกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในการริเริ่มเส้นทางสายน้ำแข็ง

เป้าหมายก็คือเส้นทางเดินเรือสายไหมจากจีนแล่นขึ้นไปยังมหาสมุทรอาร์กติก ใกล้ขั้วโลกเหนือ เชื่อมยุโรปผ่านรัสเซีย

ปฏิบัติการนี้จะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ยุโรป สั้นลง จากเดิมที่สินค้าจีนต้องแล่นลงใต้ ผ่านช่องแคบมะละกา และไปเข้าคลองสุเอซ เพื่อไปยังยุโรป

สิ่งที่จะตามมาก็คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับจีน รัสเซีย และประเทศต่างๆ ในแถบเส้นทางสายน้ำแข็ง

ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทั้งก๊าซ น้ำมัน ของรัสเซีย จะสามารถส่งออกไปจีน รวมถึงยุโรปได้รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าของจีนก็จะเข้าสู่รัสเซีย ยุโรป และประเทศอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ รัสเซียพยายามผลักดันกลุ่มการค้าสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย  ที่ล้วนแต่เชื่อมโยงกับมหาสมุทรอาร์กติกในแถบขั้วโลก

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียจะเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 180 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากเส้นทางสายไหมอาร์กติกเกิดขึ้นจริง จะทำให้สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียมีความเข้มแข็ง โดยจีนก็สนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มการค้านี้

และแน่นอนไม่ใช่เฉพาะแค่ดุลด้านความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะไหลบ่าไปยังจีนและรัสเซียเท่านั้น แต่ดุลด้านการเมืองโลกทั้งสองมหาอำนาจะมีพลังมากยิ่งขึ้น

เส้นทางเดินเรืออาร์กติกในปัจจุบัน ท่าเรือที่มีอยู่ยังคงเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ใช้สำหรับประมงเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงท่าเรือบางแห่งที่ทำการขนส่งสินค้าได้บ้าง

แต่ตามแผนในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 เส้นทางสายไหมสายน้ำแข็งจะเป็นจริงเป็นจังด้วยแรงผลักดันของสองมหาอำนาจ ที่จะทำให้เกิดการลงทุน การพัฒนาการขนส่งสินค้า

ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ยุคต่อไปคือยุคทองของเอเชียโดยมีพญามังกรเป็นหัวขบวนขยายขอบเขตไปแทบทุกมุมโลก

ก็ขนาดขั้วโลกเหนือยังบุกไปได้ ที่เหลือไม่ต้องพูดถึง