posttoday

ผ่านไหม...ประชามติ

04 เมษายน 2559

การทำประชามติ รธน.ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของประเทศ ครั้งแรกยุครัฐประหาร คมช. ตอนนั้นเนื้อหาร่าง รธน.ก็ถูกวิจารณ์จากฝั่งทักษิณว่า มุ่งขจัดระบอบทักษิณ ไม่เป็นประชาธิปไตย

โดย...พะนะท่าน  [email protected]

เห็นโฉมกันหมดแล้วร่าง รธน.ที่จะใช้ออกเสียงประชามติมีแนวโน้มเป็นวันที่ 7 ส.ค. 2559

การทำประชามติ รธน.ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของประเทศ ครั้งแรกยุครัฐประหาร คมช. ตอนนั้นเนื้อหาร่าง รธน.ก็ถูกวิจารณ์จากฝั่งทักษิณว่า มุ่งขจัดระบอบทักษิณ ไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่การออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2550 สุดท้ายแล้วฝ่ายสนับสนุน รธน.ชนะไป 14.7 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.7 ล้านเสียง 

มาครั้งนี้ร่าง รธน.ถูกวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองเช่นกันว่าถอยหลัง เปิดทางให้ คสช. สืบทอดอำนาจในระบบรัฐสภาผ่านกลไกให้มี สว.สรรหา 250 คน เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก แต่จุดเด่นร่าง รธน.ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยกให้ประชาชนเห็นคือ มาตรการปราบคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน

แล้วผลประชามติ รธน.ฉบับ คสช.จะออกมาอย่างไร?

แน่นอน ฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. ที่เสียประโยชน์เพราะถูกรัฐประหาร ย่อมไม่เอา รธน.ฉบับนี้ และต้องรณรงค์ว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่เอาสืบทอดอำนาจ ก็ให้โหวตคว่ำ รธน. 

ฝ่าย คสช.ก็คงใช้โอกาสนี้ เชิญชวนให้เห็นชอบ รธน. เพื่อเหตุผลให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะเปลี่ยนผ่านไปประชาธิปไตย มีรัฐบาลเลือกตั้ง ชาติตะวันตกจะได้เลิกกดดันประเทศไทย 

คนที่มีขั้ว นปช.-กปปส. ก็ต้องเลือกตามฝั่งตัวเอง ตัวชี้ขาดว่า รธน.จะผ่านหรือไม่ จึงอยู่ที่คนกลางๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจ

ปัจจัยการตัดสินใจของประชาชนว่าจะกาบัตรเห็นชอบหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเนื้อหา รธน.อย่างเดียว ผู้คนไม่น้อยเอียนกับสภาพม็อบเสื้อสี เบื่อความรุนแรง ระเบิดเอ็ม 79 ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยากให้ประเทศได้พักผ่อน สงบๆ กันเสียบ้าง พอกันที เพราะมันกระทบหมด โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้น ค่าครองชีพตกต่ำ

การผ่าน รธน.อาจเป็น “สัญลักษณ์” เพื่อสะท้อนว่า ต้องการให้ประเทศกลับเข้าสู่ความสงบ เหมือนตอนยกร่างปี 2540 นักการเมืองในรัฐสภาไม่เอาเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่ชอบระบบตรวจสอบที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเจอแรงบีบจากประชาชนและวิกฤตฟองสบู่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงจำนนรับร่าง รธน. เหมือนเรือประเทศกำลังจะจม รธน. คือขอนไม้กลางทะเลให้ช่วยพาถึงฝั่ง

ไม่ต่างจากการทำประชามติ รธน. ฉบับ 2550 กับวาทกรรม “รับไปก่อนแล้วค่อยแก้” ทำให้คนที่ไม่เลือกข้าง หันมาสนับสนุน เพราะกลัวความวุ่นวายทางการเมือง

มาปัจจุบัน คสช. ได้เปรียบทุกประตู กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งติดดาบเจ้าหน้าที่ทหารผ่านกลไกปราบมาเฟีย สำคัญ คือ ถ้า รธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็ยังแก้ไข รธน.ชั่วคราวเพื่อสร้าง รธน.ใหม่ตามที่ต้องการได้

ฝ่ายนักการเมือง แม้ไม่ชอบร่าง รธน.ฉบับนี้ แต่ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้เพราะไม่รู้แผนสำรอง คสช.คืออะไร 

ลึกๆ นักการเมืองนั่นแหละอยากเลือกตั้ง กลับมาเป็น สส. จะได้บริหารงบประมาณ มีเงินไปหล่อเลี้ยงหัวคะแนน เครือข่ายให้มีชีวิตชีวา

คาดการณ์ได้ว่า ผลประชามติน่าจะผ่าน  เพราะ คสช.อยู่ยาว นักการเมืองยิ่งอดอยากปากแห้ง เว้นเสียแต่ คสช.เกิดพลาดท่า สะดุดขาตัวเองจนประชาชนไม่พอใจ นั่นแหละที่ทำให้ รธน.ไม่ผ่าน แต่ไม่ว่าออกประตูไหน คสช. ก็วินวินสถานเดียว...