posttoday

ประชามติที่สมบูรณ์

08 กุมภาพันธ์ 2559

เกณฑ์การนับคะแนนของ “ประชามติ” ที่ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการนับคะแนนระหว่าง “ผู้มาใช้สิทธิ” หรือยึดเอาจากคะแนนของ “ผู้ออกมาใช้สิทธิ”

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

เกณฑ์การนับคะแนนของ “ประชามติ” ที่ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการนับคะแนนระหว่าง “ผู้มาใช้สิทธิ” หรือยึดเอาจากคะแนนของ “ผู้ออกมาใช้สิทธิ” เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่จบมาเนิ่นนาน ตั้งแต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จนกระทั่งห้วงเวลานี้ที่เข้าใกล้ที่ร่างรัฐธรรมนูญใกล้เสร็จสิ้นการทำประชามติจะต้องเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจฝ่ายบริหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้ประเด็นดังกล่าวชัดเจนหรือไม่

นอกจากนี้ การทำประชามติยังมีปัญหาอีก คือ เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ เพราะเรื่องดังกล่าวต้องออกเป็นกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดโทษ เช่น การฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงประชามติ ซึ่งต่างจากการเลือกตั้ง สส.ที่มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งรองรับ 

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม อธิบายว่า วิธีกำหนดโทษทำได้ 3 วิธี คือ ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 การออกพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ ซึ่งโทษก็มีได้ทั้งโทษทางอาญา โทษทางปกครอง โทษทางแพ่ง และการคาดโทษ

มีการคาดการณ์ว่าช่องทางที่ง่ายที่สุดและขั้นตอนสั้นที่สุด คือ การใช้คำสั่งมาตรา 44 แน่นอนว่า หากหัวหน้า คสช.ตัดสินใจใช้คำสั่งนี้จริง ก็จะเป็นการสร้างปัญหาเปิดช่องทางการก่อหวอดให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้อีก

อย่าลืมว่า “ประชามติ” ที่สมบูรณ์คือประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นหมายถึงประชาชนต้องมีข้อมูลเพียงพอทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ จากนั้นประชาชนจะตัดสินใจเองในคูหาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่รับ

ดังนั้น การออกกฎกติกาอะไรก็ตามจะต้องไม่ไปทำลายกระบวนการเหล่านี้ ทุบโต๊ะเลยว่า หาก คสช.คิดจะออกกติกาด้วยคำสั่งมาตรา 44 จะเป็นการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อเกินไป ยิ่งถ้าเนื้อหาในคำสั่งนั้นบังคับกดดันกันมากจะยิ่งแย่ไปใหญ่ จะเป็นการสร้างความรู้สึกท้าทายและไม่พอใจ ทำให้คนมีความรู้สึกไม่อยากรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป