posttoday

รอคำพิพากษา

31 มกราคม 2555

เป็นเรื่องที่ดีทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เป็นเรื่องที่ดีทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา พร้อมกับรายชื่อ สส. 1 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ เพื่อขอให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.หนี้ 2 ฉบับ จากที่ออกมารวม 4 ฉบับ

ฉบับแรกคือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

และอีกฉบับคือ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555

ประเด็นการโต้แย้งของฝ่ายค้านก็คือ การออก พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่ โดยฝ่ายค้านเห็นว่าการออก 2 พ.ร.ก.นี้ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งไม่มีรายละเอียดการใช้งบประมาณ และรัฐบาลสามารถใช้เงินตามระบบงบประมาณได้

พ.ร.ก.ดังกล่าว ฝ่ายค้านมองว่ายังสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการออกโดยฝ่ายบริหารแทนที่จะผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน

นี่แหละ คือการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

ผลที่ตามมาทันทีก็คือ เดิม พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว ที่จะต้องนำเข้าสภาเพื่อรับรองเป็น พ.ร.บ. ขณะนี้มีการบรรจุระเบียบวาระในวันที่ 1 ก.พ.นี้ แต่ต้องชะลอการพิจารณาไปก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนต่อไปหน้าที่ของรัฐบาลก็คือ พ.ร.ก.ทั้งหมดมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บเงินค่าต๋งจากธนาคารพาณิชย์

หรือแม้กระทั่งการเอาสินทรัพย์จากบัญชีย่อยในคลังหลวง ได้แก่ บัญชีผลประโยชน์ประจำปีในฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปใช้หนี้ด้วยเช่นกัน

ทุกอย่างดำเนินการไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้าย

หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ารัฐบาลมีอำนาจออก พ.ร.ก.ได้ ทุกอย่างก็จบ หมดประเด็นในเรื่องการขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในทางตรงกันข้าม การใช้ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับก็ต้องยุติ

แน่นอน รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ผลักดันกฎหมายออกมา รวมถึงเป็นผู้เชื่อว่าเนื้อหาทั้งหมดไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ทุกฝ่ายในขณะนี้ จึงต้องรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ยกเว้นกรณีของ สว.ที่จะยื่นตีความ พ.ร.ก.ดังกล่าวด้วย ก็ดำเนินการไปตามวิถีทางประชาธิปไตยที่กำหนดไว้

อย่าลืม นับตั้งแต่การเสนอ พ.ร.ก.เป็นต้น ก็เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการอธิบายที่สนับสนุนความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.ทั้งหมด เป็นเรื่องเป็นราวมานาน

ความเห็นในสาธารณะก็แยกเป็นหลายฝ่าย หลายแง่ หลายมุม สุดแต่ว่าจะฟังมาจากฝ่ายไหน หรือยืนกันอยู่มุมใด

สุดท้ายบ้านเมืองต้องมีทางออก มีข้อยุติ ไม่เช่นนั้นก็จะขยับไปทางไหนก็ไม่ได้

คำตัดสินเรื่องนี้ต้องบอกว่ามีเดิมพันมหาศาล