posttoday

ผ่าอาณาจักร 5.6 แสนล้าน ‘สิริวัฒนภักดี’ ในมือ 5 ทายาทโต้คลื่นธุรกิจครั้งใหญ่

05 กรกฎาคม 2567

โพสต์ทูเดย์ เปิดอาณาจักร "เจ้าสัวเจริญ" พร้อม “ 5 ทายาท” บริหารธุรกิจ "เครื่องดื่มและอาหาร-ค้าปลีก-อสังหา-ประกันการเงิน-สื่อ" ใครจะเชื่อว่าตระกูลที่ทรงอิทธิพลของไทย กำลังเผชิญความท้าทายทางธุรกิจที่ดุเดือด จับตา!การปรับโครงสร้างแบบยกกลุ่มครั้งใหญ่

     เมื่อพูดถึงมหาเศรษฐีธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ผู้ก่อตั้งกลุ่มทีซีซีและไทยเบฟฯ หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 10,000 ล้านเหรียญ หรือราว 368,000 ล้านบาท ซึ่งทางนิตยสาร Forbes Thailand ยกให้เป็นมหาเศรษฐีไทย อันดับที่ 3 ประจำปี 2567 

     แม้อันดับจะยังคงเหมือนเดิม แต่ดูเหมือนความมั่งคั่งของ "เจ้าสัวเจริญ" ในปีนี้กลับหดหายลงไปถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าปีก่อนเลยทีเดียว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ??

     ส่วนหนึ่งอาจด้วยราคาหุ้นของบริษัทที่อยู่ในมือของเจ้าสัวปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ หุ้นไทยเบฟ ที่เทรดในตลาดหุ้นสิงคโปร์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคปส์ หุ้นในกลุ่ม แตะระดับ 564,395.27 ล้านบาท

     และด้วยธุรกิจที่มีอยู่ภายใต้ชายคาของกลุ่มฯทั้งในตลาดหุ้นและนอกตลาดจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมีความทับซ้อนในหลายๆด้าน นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัทเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุมต้นทุนต่างๆได้ง่ายมากขึ้น อย่างล่าสุด "โซ วอเตอร์" ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ "บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC" และเป็นบริษัทย่อยของ "บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)" ประกาศรับซื้อหุ้นทั้งหมดของ SSC ก่อนที่จะเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นไทย คิดเป็นเงินลงทุน 5,918,577,840 บาท

     ทันทีที่ข่าวกลุ่มไทยเบฟฯรับซื้อหุ้น SSC ที่ราคา 63 บาทเท่านั้น ราคาหุ้นในช่วงเช้าวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เปิดกระโดดขึ้นไปที่ระดับ 62 บาท เพิ่มขึ้น 12.75 บาท จากราคาปิดวันก่อนหน้า อยู่ที่ 49.25 บาท สร้างผลตอบแทนอย่างงามให้แก่ผู้ถือหุ้นของ SSC ไม่น้อย 

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าสัวทำแบบนี้!!

     หากจำกันได้ก่อนหน้านี้กลุ่มไทยเบฟฯเข้าซื้อหุ้น "บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI" ในราคาหุ้นละ 59 บาท มูลค่า 4,500 ล้านบาท ก่อนเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มอาหารและกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(Non-Alcohol) พร้อมกับลดภาระต้นทุนต่างๆ 

     ส่วนเรื่องราคาหุ้น OISHI ไม่ต้องพูดถึง เพราะราคาพุ่งขึ้นกว่า 23% แตะระดับ 57.50 บาท เพิ่มขึ้น 11 บาท เรียกว่าจุดพลุให้ผู้ถือหุ้นทุกระดับประทับใจกันเลยทีเดียว 

     คำถาม คือ หุ้นตัวอื่นๆที่อยู่ภายใต้ร่มเงา "เจ้าสัวเจริญ" มีโอกาสออกจากตลาดหุ้น หรือไม่ ? 

     ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ "เจ้าสัวเจริญ และ ทายาททั้ง 5 " ดูแลธุรกิจอะไรบ้าง ? ซึ่งทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ได้รวบรวมมาดังนี้

 

ผ่าอาณาจักร 5.6 แสนล้าน ‘สิริวัฒนภักดี’ ในมือ 5 ทายาทโต้คลื่นธุรกิจครั้งใหญ่

     จากภาพดังกล่าวจะเห็นว่า "เจ้าสัวเจริญ" ได้วางกลยุทธ์ให้ลูกๆทั้ง 5 คนดูแลและบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจสำคัญๆ ดังนี้คือ 

     ลูกสาวคนโต คือ "อาทินันท์ พีชานนท์" ดูแลกลุ่มธุรกิจประกัน การเงิน ผ่านทาง "บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH"

     ลูกสาวคนรอง คือ "วัลลภา ไตรโสรัส" ดูแลกลุ่มธุรกิจอสังหาและโรงแรม ผ่านทาง "บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC"

     ลูกสาวคนเล็ก คือ "ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล" ดูแลกลุ่มธุรกิจ ค้าปลีก-ส่ง / อุปโภค บริโภค ผ่านทาง "บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC"

     ด้านลูกชายคนโต "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" ดูแลกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร ผ่านทาง "บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)" และ "บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC"

     นอกจากนี้ "ฐาปน" ยังดูแลกลุ่มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ผ่านทาง "บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN"

     ส่วนลูกชายคนเล็ก อย่าง "ปณต สิริวัฒนภักดี" ดูแลกลุ่มธุรกิจอสังหาฯและอาคารเชิงพาณิชย์ ผ่านทาง "บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT"

     ดังนั้นคำถามที่ว่า หุ้นตัวอื่นๆที่อยู่ภายใต้ร่มเงา "เจ้าสัวเจริญ" มีโอกาสออกจากตลาดหุ้น หรือไม่ ? คำตอบก็คือ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ!! เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าสัว

     แต่อย่าลืมว่า "เมื่อนำออก ก็สามารถนำเข้ามา"ได้เช่นกัน ดั่งเช่นกรณีของ "Big C" ที่เจ้าสัวประมูลได้มาจาก Casino Group และตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น Big C ทั้งหมดก่อนถอนออกจากตลาดหุ้นในพ.ศ.2560 ดีลนี้มีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่ล่าสุด ทาง "บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC" เตรียมนำ "บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC)" ซึ่งเป็นบริษัทย่อยกลับเข้ามาเทรดเป็นหุ้นน้องใหม่ IPO ในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

     "เจ้าสัวเจริญ" ได้กล่าวในรายงานประจำปี 2566 ว่า "แม้ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้นและภาวะเงินเฟ้อ แต่ไทยเบฟเชื่อว่าจะสามารถก้าวผ่านความท้าทายดังกล่าวไปได้ด้วยรากฐานอันมั่นคงและขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่ง สู่เป้าหมายเป็นผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร"

     และเพื่อการขึ้นไปสู่เป้าหมายสูงสุด ยืนเบอร์หนึ่งในอาเซียนได้อย่างมั่นคง จึงต้องจับตา "การปรับโครงสร้างแบบยกกลุ่มธุรกิจ" ของเจ้าสัวกันให้ดี นี่อาจจะเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญเพื่อเพิ่มแรงต้านทาน สร้างความพร้อม สร้างความสมดุลย์ของระบบภายในและภายนอก ที่เราอาจจะเห็นการซื้อหรือขายหรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ

     หรือแม้กระทั่งการควบรวมกิจการ การโอนสิทธิตามสัญญาทางการเงิน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงาน การกู้ยืม-การให้กู้ยืมเงิน ตลอดจนการระดุมทุนรูปแบบต่างๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และหน้าที่ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนในเร็วๆนี้อีกก็เป็นได้.