posttoday

ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO จ่อขายไอพีโอไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น เข้าเทรด SET

18 เมษายน 2567

“เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี” หรือ CHAO เตรียมเสนอขายไอพีโอ ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าเทรด SET หลัง ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง ชูจุดเด่นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสูตรลับความอร่อยตำรับ “เจ้าสัว”

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของบริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO เปิดเผยว่า หลังจาก CHAO ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ 

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบอัตโนมัติและการปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ ขยายกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 การลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงระบบความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ และใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน

นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ที่มีความอร่อย จากสูตรลับตำรับเจ้าสัว พร้อมให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูง ด้วยกรรมวิธีการปรุงอย่างพิถีพิถัน การคัดสรรวัตถุดิบที่ดี จากแหล่งที่มีคุณภาพ รวมทั้งยกระดับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย พกพาง่าย รับประทานได้ทุกที่ทุกเวลา (Everyday Consumption) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในทุกโอกาส 

โดยสินค้าที่จัดจำหน่ายเป็นสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ ภายใต้แบรนด์ “เจ้าสัว” และแบรนด์ “โฮลซัม (Wholesome)” ซึ่งได้รับความนิยมและครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน อ้างอิงข้อมูลรายงานภาวะอุตสาหกรรมของ Frost & Sullivan ในปี 2565 กลุ่มบริษัทเป็นผู้นำในตลาดข้าวตัง และตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู (Pork Snack) โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ 78.5% และ 57.2% ตามลำดับ ตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ (Modern Thai Snack) ได้อย่างดี

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี กลุ่มบริษัทมุ่งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยใช้จุดแข็งเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ดังนี้ 

1) การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ (Modern Thai Snack) ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย กลุ่มบริษัทฯ มุ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ (Modern Thai Snack) เติบโตต่อเนื่อง ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ด้วยกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน เพื่อยืดอายุของสินค้า รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สร้างความหลากหลายของรสชาติและขนาดสินค้า สื่อสารการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น 

รวมทั้งสร้างความแตกต่างและโดดเด่นจากผู้เล่นรายอื่นในตลาด ด้วยการสร้างสรรค์ขนมขบเคี้ยวที่นอกจากจะให้พลังงาน มีรสชาติอร่อย และยังให้คุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเป็นทางเลือกของขนมขบเคี้ยวที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค (Better-for-You Snack) 

2) แบรนด์ “เจ้าสัว” ที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมสูง กลุ่มบริษัทมุ่งสร้างการเติบโตผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การสื่อสารการตลาดผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ (Brand Ambassador) ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการทำการตลาดในต่างประเทศผ่าน Influencer เพื่อสร้างการรับรู้ให้แบรนด์มากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นสุดยอด “แบรนด์ขนมขบเคี้ยว” ที่สามารถรับประทานได้ทุกวัน (Everyday Consumption) รองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค 

3) มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย กลุ่มบริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุม 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

(3.1) กลุ่มร้านค้าปลีกและค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) มากกว่า 23,000 แห่งทั่วประเทศไทย โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) สูงถึง 26.2% ระหว่างปี 2563-2566 

(3.2) กลุ่มร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) รวมกันประมาณ 8,000 แห่ง ทั่วประเทศไทย ผ่านตัวแทนกระจายสินค้า 11 ราย ซึ่งดำเนินการผ่านกลยุทธ์แบบเฉพาะตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน รวมถึงการทดลองใช้ Product Mix นำเสนอสินค้าใหม่ เพื่อ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น 

(3.3) การส่งออกสินค้ากว่า 12 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละประเทศ 

และ (3.4) ช่องทางอื่นๆ เช่น Shopee, Lazada, Facebook Live, TikTok Shop เป็นต้น 

4) มีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีผลงานที่ประสบความสำเร็จในอดีตเป็นเครื่องพิสูจน์ กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองเทรนด์การบริโภคของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดยมีทีมการตลาดและฝ่ายขาย ผสานความร่วมมือกับฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่เข้าใจตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภค มีเอกลักษณ์ต่างจากคู่แข่ง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างดี เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู ซึ่งรวมถึงหมูแท่ง ยอดขายในช่วงปี 2564-2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 35.3%

5) มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนของวัตถุดิบแต่ละประเภท รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ (Supplier) ในประเทศหลายราย ทำให้สามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และมีต้นทุนที่แข่งขันได้ 

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทได้ลงทุนระบบอัตโนมัติ (Automation) ในโรงงาน เพื่อบริหารต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในตลาด  

6) มีความสามารถในการบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มบริษัทพัฒนาระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อการขาย รวมถึงมีการติดตามอายุสินค้าและดำเนินการติดตามสถานะของสินค้าคงคลังอย่างสม่ำเสมอ 

7) ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้เข้ากับสภาวะการแข่งขัน เศรษฐกิจ และเทรนด์การบริโภคของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง