posttoday

สแกนหุ้นกู้ TU ปลอดภัย GLOCON เสี่ยงก็อปปี้โมเดล JKN?

02 กุมภาพันธ์ 2567

ส่องหุ้นกู้ TU เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 5 ชุด แค่ปลดล็อคข้อจำกัด เพื่อให้จ่ายเงินปันผลได้เท่านั้น ไม่ได้เสี่ยงผิดชำระหุ้นกู้ หลังสภาพคล่องแกร่ง ผิดกับ GLOCON ที่ก็อปปี้โมเดลของ JKN-ITD ขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ แลกจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม หรือจ่อตามรอย JKN?

เริ่มต้นปี 2567 ปัญหาหุ้นกู้ก็เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนกันเลย จากการขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากปีก่อน ระส่ำกันไปกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN  

โดยรายแรกของปีนี้ คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น มูลค่าคงค้างรวม 14,455 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี เสนอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี ในปีแรก และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ต่อปี ในปีที่ 2 รวมทั้งขอผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิ ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 และวันที่ 30 ม.ค.2567 ได้มีมติเห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ต่อมาเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ขอผ่อนผันเงื่อนไขในข้อกำหนดหุ้นกู้ ก่อนการประกาศผลประกอบการประจำปี 2566 ได้แก่ 1.ขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ในการคำนวณอัตราส่วนของความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และ 2.ขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินปันผลที่สามารถจ่ายได้ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ 5 ชุด ประกอบด้วย

  • หุ้นกู้รุ่น TU24OA มูลค่าคงค้าง 3,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.58% ครบกำหนดชำระวันที่ 9 ต.ค.2567
  • หุ้นกู้รุ่น TU264A สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าคงค้าง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,619.72 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.66% ครบกำหนดชำระวันที่ 11 เม.ย.2569  
  • หุ้นกู้รุ่น TU26NA มูลค่าคงค้าง 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.78% ครบกำหนดชำระวันที่ 6 พ.ย.2569
  • หุ้นกู้รุ่น TU271A มูลค่าคงค้าง 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.94% ครบกำหนดชำระวันที่ 19 ม.ค.2570 
  • หุ้นกู้รุ่น TU29NA มูลค่าคงค้าง  4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.00% ครบกำหนดชำระวันที่ 6 พ.ย.2572

โดยจะแยกนับองค์ประชุมและการลงมติสำหรับหุ้นกู้แต่ละชุด ซึ่งมีกำหนดการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนกรรมสิทธิ์ วันที่ 1 ก.พ.2567 และจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 15 ก.พ.2567

ในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้นี้ บริษัทจะขอผ่อนผันเป็นการเฉพาะคราว เพื่อไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี เพื่อการคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และการคำนวณเงินปันผลที่สามารถจ่ายได้ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล จากงบการเงินรวมปี 2566 

ทั้งนี้ เมื่อหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีซึ่งไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทดังกล่าว ผลประกอบการของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ บริษัทขอเรียนว่า ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นกู้ได้ บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงิน ตลอดจนวงเงินสินเชื่อที่รองรับเพียงพอที่จะทำการไถ่ถอนบางส่วนหรือทั้งหมดของหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับความยินยอมได้

เหตุผลที่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2567 ประกาศแผนถอนการลงทุนใน Red Lobster Master Holdings, L.P. (RLMH) บริษัทร่วมของบริษัทที่ถือหุ้นโดย บริษัท Thai Union Investment North America LLC (TUINA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า ธุรกิจ Red Lobster ซึ่งมีความต้องการใช้เงินสูง ไม่สอดคล้องกับแผนการจัดสรรเงินลงทุนของบริษัท และเห็นควรถอนการลงทุนจากการลงทุนส่วนน้อยใน Red Lobster ซึ่ง

ทั้งนี้ ระหว่างที่บริษัทศึกษาช่องทางที่เป็นไปได้ในการถอนการลงทุนนี้ บริษัทจะบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว จำนวนประมาณ 18,500 ล้านบาท (ประมาณ 530 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งจะไม่มีผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ทรัพย์สิน หรือสภาวะทางการเงินของบริษัท 

อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นข้อกำหนดภายใต้หุ้นกู้บางชุด (5 ชุดดังกล่าวข้างต้น) ที่ออกโดยบริษัทก่อนหน้านี้   

จะเห็นได้ว่าในกรณีของ TU แตกต่างไปจากกรณีอื่นๆ เนื่องจากการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดให้บริษัทสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นการขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหุ้นกู้แต่อย่างใด ซึ่งก็ยังต้องจับตามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้วันที่ 15 ก.พ.นี้ ว่าจะออกมาอย่างไร 

ขณะที่รายล่าสุด คือ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ GLOCON242A ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 13 ก.พ.2567 ขอขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ GLOCON242A ออกไปอีก 2 ปี โดยแก้ไขวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จากเดิม วันที่ 25 ก.พ.2567 เป็น วันที่ 25 ก.พ.2569 และพิจารณาอนุมัติการแบ่งชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้เป็นรายงวด กำหนดชำระพร้อมวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ยจำนวน 9 งวด ตลอดระยะเวลา 2 ปี โดยการลดมูลค่าที่ตราไว้ต่อหน่วยลง รวมทั้งแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ ใบหุ้นกู้ ชื่อหุ้นกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

นอกจากนี้ ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ จากเดิม 7.25% ต่อปี เป็น 7.50% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.2567 จนถึง (แต่ไม่นับรวม) วันที่ 25 ก.พ.2569 ในช่วงเวลาที่ขอขยายอายุหุ้นกู้ออกไป รวมทั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในข้อกำหนดสิทธิ ใบหุ้นกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้

และสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 GLOCON แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่บริษัทได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 เกี่ยวกับการออกจำหน่ายหุ้นกู้ใน “คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2566” ว่าทางบริษัทจะดำเนินการยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในไตรมาส 4/2566 นั้น

บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้ส่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนไปถึงสำนักงาน ก.ล.ต. สำหรับหุ้นกู้ของบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด(มหาชน) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2566 
 
และต่อมาสำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ เรื่องกรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC ที่บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวโทษโดย ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค.2558 นั้น

ประกอบกับสภาวะทางตลาดของหุ้นกู้ในปัจจุบันการเสนอขายหุ้นกู้ค่อนข้างยาก บริษัทจึงได้พิจารณาถึงความเหมาะสม จึงแจ้งขอถอนการยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน ของ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567

และเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 ทางบริษัทได้เผยแพร่ข่าวภายใต้หัวข้อเรื่อง การเปิดเผยขอมูลกำหนดวันประชุมและวาระการประชุมผู้ถือหุนกู้ ครั้งที่ 1/2567 ของ บริษัทโกลบอล คอน ซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) เรื่องเกี่ยวกับพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถถอนหุ้นกู้ GLOCON242A ออกไปอีก 2 ปี 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้การจ่ายชำระคืนหุ้นกู้ชุดเดิม กล่าวคือ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567 ในวันที่ 20 มี.ค.2567 เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement : PP) และการออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Convertible Bond : PP) เพื่อนำเงินที่ได้รับส่วนหนึ่งมาชำระหนี้คืนให้กับผู้ถือหุ้นกู้ต่อไป 

เดิมที GLOCON มีแผนออกหุ้นกู้ 2 ชุด วงเงินรวม 480 ล้านบาท อายุ 2-4 ปี มูลค่าหุ้นกู้มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาที่เสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จำนวนของหุ้นกู้ที่เสนอขายรวมทั้ง 2 ชุดไม่เกิน 480,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 480 ล้านบาท โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ คือ บล.พาย ดังนี้

ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.50% ต่อปี ตลอดอายุหุ้นกู้ อายุหุ้นกู้ 2 ปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ 

ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2571 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.75% ต่อปี ตลอดอายุหุ้นกู้ อายุหุ้นกู้ 4 ปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ 

ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้มาชำระหุ้นกู้ GLOCON242A ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 25 ก.พ.2567 มูลค่าคงค้าง 300 ล้านบาท

ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ากรณีของ GLOCON คล้ายกับกรณีของ JKN และ ITD ที่ขอขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ และเสนอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ขอขยายวันกำหนดไถ่ถอน เรียกได้ว่า ก็อปปี้โมเดลกันมาเลยทีเดียว จับตา GLOCON เดินตามรอยเท้า JKN ด้วยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่!! ก็คงต้องรอดูว่าแผนขายหุ้นเพิ่มทุนให้ PP และขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้ PP จะผ่านฉลุยหรือเปล่า เพื่อนำเงินมาชำระหุ้นกู้ GLOCON242A แทน หลังจากยกเลิกแผนออกหุ้นกู้ล็อตใหม่ไป