posttoday

ก.ล.ต. ยันกำกับดูแล Short Sell ตรวจสอบเข้ม-ศึกษาใช้มาตรการอื่นเพิ่ม

17 พฤศจิกายน 2566

ก.ล.ต. ออกบทความ “ก.ล.ต. กับการกำกับดูแลการขายชอร์ต” ชี้ Short Sell เป็นกลไกหนึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตลาด แต่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพตลาด ยืนยันตรวจสอบเข้ม พร้อมเพิ่มมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอยู่ระหว่างศึกษาใช้มาตรการอื่นเพิ่มเติม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความเรื่อง ก.ล.ต. กับการกำกับดูแล “การขายชอร์ต” ระบุว่า ธุรกรรมการขายชอร์ต (short selling) เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตลาด โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาราคาที่เหมาะสม (price discovery) ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีการยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดการส่งมอบ (failed trade) โดยภายหลังต้องมีการซื้อหลักทรัพย์ตัวนั้นไปคืนให้กับ บล. อย่างไรก็ดี ธุรกรรมการขายชอร์ตอาจส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน 

ที่ผ่านมา การดูแลสภาพตลาดให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากธุรกรรมการขายชอร์ตดังกล่าว ก.ล.ต. ได้เห็นชอบให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินมาตรการ (1) การกำหนดให้ขายชอร์ตได้เฉพาะหลักทรัพย์ตามรายชื่อที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศกำหนด (2) การกำหนดให้ บล. ต้องระบุเครื่องหมาย “S” เมื่อมีคำสั่งขายชอร์ต เพื่อให้มีการตรวจสอบที่เหมาะสมได้ (3) การกำหนด price rule เพื่อให้การทำธุรกรรมขายชอร์ตสามารถทำได้ที่ระดับราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาตลาดครั้งสุดท้าย (zero uptick rule) เพื่อไม่ให้เกิดการ dump ราคา และ (4) การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่เหมาะสม 

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถปรับใช้มาตรการข้างต้น ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวม หรือเกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ 

ในการนี้ ก.ล.ต. จึงได้ติดตามสถานการณ์และประสานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการและพิจารณาปรับใช้มาตรการที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การยกระดับเกณฑ์ price rule ให้ธุรกรรมขายชอร์ตทำได้ที่ระดับราคาที่สูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้าย (uptick rule) และหากว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทบทวนและเสนอให้ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบได้   

ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบธุรกรรมการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (naked short) ที่เป็นประเด็นที่มีข้อกังวลในปัจจุบัน โดย ก.ล.ต. พบว่า ระบบการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการดำเนินการตามฐานความเสี่ยง (risk based) และมีความเข้มข้นตามสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถลงโทษหากพบการดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรการข้างต้น 

นอกจากนี้ หากเป็นธุรกรรมขายชอร์ตที่มีผลกระทบต่อราคาอันทำให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมจากต่างประเทศหรือในประเทศ ก.ล.ต. ขอให้ความมั่นใจว่า ก.ล.ต. สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อนำผู้กระทำผิดซึ่งอาจรวมถึง บล. ที่มีส่วนร่วมหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำผิดดังกล่าวมาลงโทษได้ 

ก.ล.ต. ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และมีการตรวจสอบการดำเนินงานของ บล. ให้มีระบบงานในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการทำธุรกรรมขายชอร์ตของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามีหลักทรัพย์หรือได้ยืมหลักทรัพย์มาก่อนส่งคำสั่งขายและเป็นไปตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเพิ่มการตรวจสอบและสอบทานระบบของ บล. ในการดำเนินการดังกล่าวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันด้วย

ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน และที่ผ่านมาได้สอบทานการดำเนินการดังกล่าวกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงและอาจมีแรงจูงใจให้เกิดการ naked short selling ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน ได้แก่ การซื้อขายโดยใช้ Program Trading/Algorithmic Trading เนื่องจากปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมากจากการที่มีต้นทุนต่ำ และอาจทำกำไรได้ในช่วงราคาแคบ 

ก.ล.ต. จึงได้ประสานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องจัดให้มีกลไกในการตรวจสอบคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (end beneficiaries) เพื่อให้การตรวจสอบธุรกรรมและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นใจต่อการซื้อขายผ่าน Program Trading/Algorithmic Trading ที่มีประโยชน์ต่อการเพิ่มสภาพคล่องของตลาดโดยรวม
 
นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการใช้มาตรการอื่น เช่น  alternative price rule ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้ uptick rule โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี การออกมาตรการต่างๆ ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และพิจารณาถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน เพื่อรักษาสมดุลทั้งการคุ้มครองผู้ลงทุน และด้านความสามารถทางการแข่งขันของตลาดได้ในระดับสากล 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ โดยจะไม่ยอมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย และขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจในระบบการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดของ ก.ล.ต.