posttoday

คำต่อคำ “ณพ-คุณหญิงกอแก้ว” ยันความบริสุทธิ์ หลังศาลตัดสินชนะ 6 คดีหุ้น WEH

02 พฤศจิกายน 2566

คำต่อคำ “ณพ ณรงค์เดช-คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา” เปิดข้อมูลอีกด้านยืนยันความบริสุทธิ์คดีหุ้น WEH ยึดคำพิพากษาศาลตัดสินชนะ 6 คดี หลังรอเวลาพิสูจน์ความจริงมาตลอด 6 ปี

วันนี้ (2 พ.ย.2566) นายณพ ณรงค์เดช และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา พร้อมที่ปรึกษากฎหมาย จัดแถลงข่าวเปิดข้อมูลสำคัญและยืนยันความบริสุทธิ์คดีครอบครัวและคดีหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังศาลชั้นต้นพิพากษาชนะ 6 คดี 

“คุณหญิงกอแก้ว” พ้นผิด 

คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เปิดเผยว่า ที่มาไม่ได้ออกมาพูดหรือให้ข่าวใดๆ เพราะต้องการความชัดเจนของกฎหมายและศาล ตอนนี้ก็ขัดเจนแล้วว่าดิฉันไม่โดงใคร และไม่ได้ปลอมลายเซ็นใครตามที่กล่าวหา 

ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข่าวที่ไม่ครบถ้วน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด ดิฉันในวัย 70 ปี ครอบครัวของดิฉันอยู่อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข และใช้ชีวิตอย่างสบายๆ ไม่ได้ต้องการอะไรของใคร 

คำต่อคำ “ณพ-คุณหญิงกอแก้ว” ยันความบริสุทธิ์ หลังศาลตัดสินชนะ 6 คดีหุ้น WEH

จนกระทั่งวันหนึ่ง นายณพ ณรงค์เดช ซึ่งเป็นสามีของลูกสาว และเป็นพ่อของหลาน 2 คน มาขอความข่วยเหลือ ดิฉันก็ต้องช่วยเหลือ ซึ่งในวันนั้นไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเขาเลย และไม่มีใครอยากจะยุ่งกับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ดิฉันเมื่อรักลูกรักหลาน ดิฉันก็ต้องรักลูกเขยด้วย วันนั้นถ้าดิฉันไม่ได้ซื้อหุ้น WEH ไว้ บริษัทอาจถึงขั้นล้มละลาย เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ ก็จะไม่ให้สินเชื่อ

“ณพ มาพูดกับดิฉันว่าเป็นคนสุดท้ายที่จะขอความช่วยเหลือ ดิฉันจึงตัดสินใจว่าให้ความช่วยเหลือ แต่มีเงิ่อนไขว่าแม่จะไม่ออกหน้า ณพหาคนที่เชื่อใจ และไว้ใจได้มาใส่ชื่อแทนแม่” 

 

เมื่อ WEH พ้นวิกฤต ดิฉันก็ไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์วุ่นวายจะเกิดขึ้น เมื่อ WEH พ้นวิกฤตและทำรายได้ปีละหลายพันล้านบาท คดีความต่างๆ การกล่าวหาก็เกิดขึ้น เพื่อต้องการอยากได้หุ้น 

“ถ้าคุณลงทุนคุณก็ต้องได้หุ้น ถ้าคุณไม่ลงทุนคุณย่อมไม่มีสิทธิ์ อันนี้เป็นสิ่งที่เราชัดเจน เมื่อไม่ลงทุนแต่อยากได้หุ้น เมื่อไม่ได้หุ้นก็เบี่ยงเบนหลักฐาน ความจริง แต่ทุกอย่าง การเงิน เรามีครบไม่ใช่พูดไปเรื่อย พูดไม่ครบ พูดเบี่ยงเบน ไม่ครบประโยค ไม่ครบเรื่อง พูดแต่เป็นบางส่วน หยิบมาทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าศาลได้มีคำพิพากษาออกมาทั้ง 3 ศาล ว่าดิฉันไม่ได้โกง และไม่ได้ปลอมลายเซ็นใครอย่างที่กล่าวหา” 

“อภิมุข ทองคำ” ลงลึกชนะ 5 คดี  

นายอภิมุข ทองคำ ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจนทั้งในมุมมองของสื่อมวลชนและสาธารณชนที่จะได้รับทราบข้อมูล

ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาหลายปี มีการออกข่าวทั้งแบบที่ครบถ้วน ไม่ครบถ้วนบ้าง ในฐานะที่ช่วยดูแลคุณหญิงกอแก้ว และคุณณพ ณรงค์เดช

โดยปัจจุบันมีคดีที่มีผลพิพากษาออกมาแล้ว ถึงแม้จะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ก็มีข้อเท็จจริง มีเหตุผลในการใช้ดุลยพินิจของศาลที่วินิจฉัยและฟังพยานหลักฐาน จนมีความพิพากษาออกมา

ดังนั้นอยากให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ลึกขึ้นจากการวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลในประเด็นที่เป็นเหตุเป็นผลและเกี่ยวข้อง คือ 

1.ใครเป็นเจ้าของหุ้น WEH มีบุคคลใดบ้างเป็นเจ้าของหุ้น
2.ใครจ่ายเงินค่าหุ้น WEH บ้าง
3.ปลอม-ไม่ปลอมเอกสาร / ใช้-ไม่ใช้เอกสารปลอมที่ไหนบ้าง 

โดยมี 5 คดีหลักๆ ที่เกี่ยวพันในเรื่องที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดหรือคาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง

คำต่อคำ “ณพ-คุณหญิงกอแก้ว” ยันความบริสุทธิ์ หลังศาลตัดสินชนะ 6 คดีหุ้น WEH

คดีที่ 1 – คดีฮ่องกง HCA 1525/2018 (ศาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง)
เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ ฟ้องโกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด จำเลยที่ 1 ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 2 คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 3 เรื่องละเมิดและขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เมื่อปี 2561 

คำพิพากษา: อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง โดยให้ชำระค่าใช้จ่ายในอัตราสูงสุด ให้แก่จำเลย   

คดีที่ 2 – คดีใช้เอกสารปลอม อ.2497/2561 (ศาลอาญา รัชดา)
เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์อ้างว่าตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด ฟ้องคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 1 ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 2 และสุรัตน์ จิรจรัสพร จำเลยที่ 3 เรื่องความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เมื่อปี 2561 

คำพิพากษา: ยกฟ้อง พยานผู้เชี่ยวชาญยันกันไม่อาจรับฟังเป็นยุติ ลายมื่อชื่อไม่ได้ผิดแผกแตกต่างให้เห็นชัดเจนว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เงินช่วยเหลือจากครอบครัวก็เป็นเงินกู้ยืม ซึ่ง ณพ รับผิดชอบภาระหนี้และการบริหารจัดการคนเดียวจึงไม่ใช่การร่วมลงทุนในความหมายของกฎหมาย พยานโจทก์รับฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัย ว่าเอกสารทั้ง 3 ฉบับเป็นเอกสารปลอม 

คดีที่ 3 – คดีเรียกทรัพย์คืน พ.1031/2562 (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้) 
เกษม ณรงค์เดช เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 14 คน และมีจำเลยร่วมอีก 31 คน เมื่อปี 2562 เรื่องให้เรียกทรัพย์คืน (หุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด) 

คำพิพากษา: โจทก์ขอถอนฟ้อง ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเรื่องนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง หลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนการอายัตเงินปันผลของบริษัท วินด์ฯ โดยให้เหตุผลชัดเจนว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้หากฟังว่า เกษม ให้หุ้นดังกล่าวแก่ ณพ การเรียกคืนจะต้องปรากฏว่า ณพ ประพฤติเนรคุณ แต่ไม่ปรากฏเหตุว่า ประพฤติเนรคุณ

คดีที่ 4 – คดีผิดสัญญา เรียกทรัพย์คืน พ.978/2565 (ศาลแพ่งกรุงเทพใต้)
กฤษณ์ และกรณ์ ณรงค์เดช เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง ณพ ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เป็นจำเลยที่ 4 เมื่อปี 2565 เรื่องสัญญาเพิกถอนนิติกรรม เรียกทรัพย์คืน 

คำพิพากษา: ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า เอกสารดังกล่าวในการโอนหุ้นไม่เป็นเอกสารที่แท้จริง หรือเป็นพยานเอกสารที่รับฟังไม่ได้เพราะเหตุใด ข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานกฎหมาย เมื่อโจทก์สืบไม่ได้จึงต้องฟังว่า การโอนหุ้นพิพาทหรือการซื้อหุ้นพิพาทมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ก็ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไม่เป็นโมฆะ เรื่องความเห็นเจ้าของหุ้นของโจทก์ทั้งสอง เมื่อได้ความว่า เงินที่ซื้อหุ้นพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองและไม่ปรากฏว่าเอกสารที่อ้างเป็นเอกสารปลอม การโอนหุ้นพิพาทถูกต้องตามแบบของกฎหมาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของหุ้นพิพาท ไม่จำต้องโอนหุ้นคืนแก่โจทก์ทั้งสอง

คดีที่ 5 – คดีปลอมลายเซ็น อ.1708/2564 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) 
คดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1) เป็นโจทก์ฟ้อง ณพ ณรงค์เดช กับพวกรวม 3 คน เมื่อปี 2564 ในฐานความผิด ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม 

คำพิพากษา: ยกฟ้อง ศาลใช้ดุลพินิจรับฟังว่า เอกสารทั้ง 6 ฉบับปลอม แต่ทางนำสืบและพยานหลักฐานรวมทั้งคำเบิกความของเกษมไม่มีข้อเท็จจริงใดที่ยืนยันว่า ณพ คุณหญิงฯ และสุภาพร เป็นผู้ปลอม มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงลายมือชื่อหรือนำมาใช้หรืออ้างชื่อใด ซึ่ง กฤษณ์ ก็เบิกความว่า ไม่ทราบว่าใคร เป็นผู้ลงลายมือชื่อปลอม ส่วน กรณ์ ก็เบิกความว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในขณะลงลายมือชื่อ จึงไม่ทราบว่า ผู้ใดลงลายมือชื่อ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันปลอมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอม

“ณพ” เปิดข้อมูลพิสูจน์ความบริสุทธิ์หุ้น WEH 

นายณพ ณรงค์เดช ระบุว่า เป็นเวลาเกือบ 6 ปีแล้ว ที่มีบุคคล 2 กลุ่ม คือนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ขายหุ้น บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ให้กับผม และพี่กับน้องของผม คือ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช ได้ทำการเผยแพร่ และให้ข่าวเกี่ยวกับการที่พวกเขามาฟ้องคดีผม และคุณหญิงกอแก้ว โดยใช้วิธีการให้ข่าวที่เบี่ยงเบนประเด็น โดยไม่ให้ข้อเท็จจริงครบถ้วน เพื่อทำให้ผู้ติดตามข่าว เกิดความเข้าใจผิดว่าผมไปโกง นายนพพร ไปโกงพี่น้อง ซึ่งทำให้ผม คุณหญิงกอแก้ว ภรรยา และลูกๆ เสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับผลกระทบต่างๆ มากมาย แต่เราเลือกที่จะไม่ตอบโต้ และรอให้ศาลมีคำพิพากษาครบทุกคดี จึงค่อยออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงทีเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความจริงคืออะไร ใครกันแน่ที่โกง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 และวันที่ 28 ก.ย.2566 ศาลอาญารัชดา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 คดี ในเรื่องที่พี่ชายและน้องชาย ได้ให้ นายเกษม ณรงค์เดช (คุณพ่อ) ฟ้องผม และคุณหญิงกอแก้ว ในข้อหาใช้เอกสารปลอม และปลอมเอกสาร 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา (คดีที่ 6) ศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งเป็นคดีที่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH ได้ฟ้องผมและพวกเป็นคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นคดีสุดท้ายที่รอฟังคำพิพากษาอยู่ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคนเช่นเดียวกัน

คำต่อคำ “ณพ-คุณหญิงกอแก้ว” ยันความบริสุทธิ์ หลังศาลตัดสินชนะ 6 คดีหุ้น WEH

ดังนั้น วันนี้ผมจึงพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงการเบี่ยงเบนประเด็นที่ทำให้ผมเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่พยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่าผมไม่ได้ทำผิดใดๆ 

โดยเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ผมเข้าไปซื้อหุ้น WEH จากนายนพพร ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศไทยจากการเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาฐานทำร้ายร่างกาย และหน่วงเหนี่ยวกักขัง ซึ่งกระทำการผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความจำเป็นต้องขายหุ้น WEH ออกมา เป็นการขายหุ้นแบบขายขาด และได้โอนหุ้นให้ผมก่อน แล้วค่อยชำระเงินค่าหุ้นที่หลัง เพื่อแก้ปัญหาของ WEH ที่ไม่สามารถกู้เงินเพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้ จากปัญหาที่นายนพพร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารจึงไม่ให้สินเชื่อ 

ทั้งนี้ เมื่อผมได้รับโอนหุ้นมาก็ได้จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นงวดแรกให้นายนพพรไปแล้วเมื่อปลายปี 2558 จำนวน 90.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท แต่เมื่อนายนพพรได้รับเงินไปแล้ว ได้ไปฟ้องคดีเรียกหุ้นคืน ซึ่งแพ้คดี อนุญาโตตุลาการบังคับให้นายนพพรปฏิบัติตามสัญญา คือ ให้รับชำระเงินค่าหุ้นในส่วนอื่นๆ ต่อไป และจะเอาหุ้นคืนไม่ได้ 

ผมจึงได้ชำระเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือ 85.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ให้นายนพพรไปตั้งแต่ต้นปี 2561 ครบถ้วนตามสัญญา เหลือเพียงเงินโบนัสที่ยังโต้แย้งกันอยู่ในคดีของศาลไทยเท่านั้น และเมื่อนายนพพรได้รับเงินไปแล้ว แต่ไม่ได้หุ้นคืน ก็ไปฟ้องคดีอื่นๆ ตามมาอีกหลายคดี ทั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในประเทศไทย และในประเทศอังกฤษ

สำหรับคดีทุกๆ คดี ทั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และในประเทศไทย ศาลได้ตัดสินให้คุณหญิงกอแก้วและผมชนะทุกคดี มีเพียงศาลอังกฤษเพียงศาลเดียวที่ตัดสินคดีบนกฎหมายไทย ตัดสินให้คุณหญิงกอแก้วและตนเองแพ้คดีต้องชดใช้เงินจำนวนมหาศาลให้แก่นายนพพร โดยศาลอังกฤษนี้ อ้างความชอบธรรมที่จะฟังความจากนายนพพรเพียงข้างเดียว โดยเขียนคำพิพากษาในทำนองว่านายนพพร เป็นผู้สุจริต โดยไม่โต้แย้ง หรือเขียนถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ฝ่ายผมในฐานะจำเลยได้นำสืบว่านายนพพรเป็นคนไม่สุจริตไว้ในคำพิพากษาเลย

ข้อยกตัวอย่าง 4 ข้อ 1.นายนพพร ถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลชั้นตนและศาลอุทธรณ์ในประเทศไทย ฐานความผิดยักยอกทรัพย์ 2.นายนพพร เป็นผู้ต้องหาหนีคดีอาญาฐานทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขัง และกระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

3.นายนพพร ถูกศาลฮ่องกงพิพากษาว่าจงใจปกปิดข้อเท็จจริงสำคัญในการดำเนินคดีที่ศาลญี่ปุ่น และ 4.นายนพพร ได้ขัดขวางไม่ให้ผมหาเงินกู้มาชำระค่าหุ้น WEH ให้กับนายนพพรให้ทันที่กำหนด เพื่อให้ผมผิดนัด และให้นายนพพรอ้างเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาซื้อขาย เพื่อเรียกเอาหุ้น WEH คืนทั้งหมด ตามที่นายนพพรวางแผนไว้ ซึ่งในที่สุดผมก็เป็นผู้ชนะคดี

ขณะที่คดีที่ศาลอังกฤษ นายนพพร ได้ใช้สื่อที่วางแผนเอาไว้ประโคมข่าวอย่างหนัก โจมตีว่าคุณหญิงกอแก้ว และผม โกงเขา ซึ่งในคำพิพากษาที่ศาลอังกฤษที่ได้ใช้กฎหมายไทยนี้ได้ถูกศาลแขวงพระนครใต้ของไทยตัดสินกลับแล้วเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ในคดีที่นายนพพรฟ้องผมและพวกเป็นคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งศาลไทยได้มีคำพิพากษาว่าไม่มีการโกงเจ้าหนี้ และให้ยกฟ้อง

ยันครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้ร่วมลงทุน WEH 

สำหรับเรื่องผมกับพี่น้องครอบครัวณรงค์เดชเป็นเรื่องที่มีคุณพ่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องที่ผมเสียใจที่สุด และไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิตผม โดยมูลเหตุที่เกิดขึ้นมาจากการเข้าไปซื้อหุ้น WEH ที่ซื้อมาจากนายนพพร ซึ่งพี่น้องต้องการหุ้น WEH ที่ผมซื้อมาไปเป็นของเขาจำนวน 49% แบบฟรีๆ โดยผมเป็นผู้ลงทุนคนเดียวส่วนตัว ไม่ใช่เป็นของกงสี ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาหาร 3 

“ยืนยันว่าเงินที่นำไปซื้อหุ้น WEH ได้กู้ยืมจากครอบครัวณรงค์เดชมาส่วนหนึ่ง แต่ได้มีการใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยไปแล้ว เหลืออีกเพียง 500-600 ล้านบาท เท่านั้น โดยมีการทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นการเข้ามาร่วมลงทุนในหุ้น WEH ในส่วนที่ผมซื้อมาจากนายนพพรแต่อย่างใด”     

ทรัพย์สินที่ถือร่วมกันของพี่น้องรอเวลาแบ่งสรรกันมีเพียงทรัพย์มรดกหลายรายการที่คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช (คุณแม่) กำหนดไว้ชัดเจนในพินัยกรรมให้แบ่งกันระหว่างพี่น้องทั้ง 3 คน โดยกำหนดให้ นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ในฐานะพี่ชายตนโตเป็นผู้จัดการมรดก แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการแบ่งออกมาตามพินัยกรรม

ส่วนธุรกิจที่มีนายกฤษณ์ นายกรณ์ และผม ถือหุ้นร่วมกันคนละ 1 ใน 3 มีเพียง บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด เท่านั้น ซึ่งในอดีตผมได้ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจนี้ให้กับครอบครัวด้วยความเต็มใจ จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งเรื่องหุ้น WEH จึงถูกกันออกมาไม่ให้ร่วมบริหาร หรือร่วมตัดสินใจใดๆ รวมทั้งการที่ เคพีเอ็น แลนด์ เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 1 ใน 3 

ขณะที่ธุรกิจส่วนตัวในปัจจุบัน คือ สถาบันดนตรี เคพีเอ็น ที่ได้ทำขึ้นตามความปรารถนาของมารดา ปัจจุบันมีทั้งหมด 26 สาขาทั่วประเทศ และธุรกิจโรงพยาบาลนวเวช ได้ร่วมลงทุนกับผู้ถือหุ้นอีก 2 บริษัท

นายณพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อมีธุรกิจที่น่าสนใจ ผมจะชวนพี่กับน้องก่อนเสมอว่าสนใจร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ รวมถึงกรณีการเข้าซื้อหุ้น WEH แต่ได้รับคำตอบว่า "เพ้อฝัน" เขาปฎิเสธที่จไม่ลงทุนกับผม ผมจึงเดินหน้าจัดหาเงินทุนด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีอนาคต 

“เมื่อผมเข้าไปบริหาร WEH จนมีกำไรสามารถจ่ายเงินปันผลได้ พี่กับน้องผมก็มากล่าวอ้างว่าได้ร่วมลงทุนด้วย ผมได้ชี้แจงไปว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม แต่นายกฤษณ์ นายกรณ์ ได้ยื่นฟ้องผมต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อบังคับให้โอนหุ้น WEH ให้เขาทั้ง 2 คน รวมกัน 49% แบบฟรีๆ โดยอ้างว่าร่วมลงทุนด้วย ซึ่งศาลพิพากษาว่าทั้ง 2 คน ไม่ได้ร่วมลงทุนซื้อ จ่ายเงินค่าหุ้น WEH ร่วมกับผม นอกจากนี้ ยังไปฟ้องคดีอาญาว่าคุณหญิงกอแก้วและผม ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เพื่อกดดันให้ผมยอมแบ่งหุ้น WEH ให้กับเขาทั้ง 2 คน ซึ่งศาลก็ได้ยกฟ้องแล้วทุกคดี” 

ส่วนการแถลงข่าวเรื่องปลอมเอกสาร ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากผลของคดีที่ยกฟ้องทั้ง 2 คดี คุณหญิงกอแก้ว และผมไม่ได้ปลอมเอกสาร รวมทั้งไม่ได้ใช้เอกสารปลอม ขณะที่นายกฤษณ์ นายกรณ์ ไม่เคยให้ข่าวว่าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้พิพากษายกฟ้องว่านายกฤษณ์ และนายกรณ์ ไม่ได้ร่วมลงทุนซื้อหุ้น WEH กับผมเลย เท่ากับไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในหุ้น WEH ที่พยายามบอกสื่อ เป็นเท็จทั้งสิ้นว่าผมโกง 

นอกจากนี้ นายกฤษณ์ ไม่เคยให้ข่าวเลยว่าถูกผมฟ้องฐานเป็นผู้จัดการมรดกที่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกตามเจตนารมณ์ของคุณแม่ที่เขียนไว้ในพินัยกรรมให้แก่ผมและหลานๆ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นเวลา 10 ปีแล้วที่คุณแม่จากไป นายกฤษณ์ ก็ยังมีพฤติการณ์เบียดบังค่าเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกไปเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งผมได้ฟ้องเรื่องนี้ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายกฤษณ์ เป็นเวลา 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และยังมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งนายกฤษณ์อาจจะต้องรับผิดเพิ่มอีกในหลายกรณี

“ที่ผ่านมาผมเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว จึงไม่ต้องการพูดผ่านสื่อ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ได้ใช้สื่อในการให้ร้าย กล่าวหาผมว่าเป็นคนโกงพี่โกงน้อง ทำให้ครอบครัวมีปัญหา จนเกิดความแตกแยกในครอบครัว ผมจึงถูกบังคับด้วยสถานการณ์ให้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ครบ เพื่อที่จะสรุปได้ว่าใครกันแน่ที่โกง แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ผมจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปพบคุณพ่อที่บ้านได้ ซึ่งผมและลูกๆ เคารพคุณพ่ออย่างสูงเช่นเดิม และรอวันที่จะได้เข้าไปกราบคุณพ่อ” 

คำต่อคำ “ณพ-คุณหญิงกอแก้ว” ยันความบริสุทธิ์ หลังศาลตัดสินชนะ 6 คดีหุ้น WEH “วีระวงศ์” ไม่ฟันธงใครถือหุ้นใหญ่ WEH 

นายวีระวงศ์ จิตรมิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นระหว่างนายนพพร กับนายณพ เป็นการซื้อหุ้นของ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH สัดส่วน 59.45% และเนื่องจาก WEH ที่มีโครงการพลังงานลม 8 โครงการ ดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการ และโครงการที่ 3 โครงการวัดตะแบก ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อ 8 โครงการ ได้ชะลอสินเชื่อโครงการวัดตะแบก 4,000 ล้านบาท หลังจากที่มีคดีฟ้องร้องเรื่องหุ้น WEH ที่ทางนายนพพรไปฟ้องที่ศาลในอังกฤษ

หากนายนพพรชนะ ก็จะกลับมาเป็นเจ้าของ REC ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ก็จะต้องเบรกการให้เงินกู้ ซึ่งจะทำให้โครงการที่เหลือ 5 โครงการเกิดไม่ได้ และเสี่ยงถูก GE ซึ่งเป็นผู้ผลิตกังหันลมฟ้อง รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ตนเองซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายก็แนะนำให้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น REC เปลี่ยนมาให้เป็นชื่อคุณหญิงกอแก้วซื้อแทนนายเกษม ในราคา Book Value ที่ 2,400 ล้านบาท ซึ่งต่อมาโอนไปให้ บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด (GML) ซึ่งสุดท้าย GML ถือ WEH 37.87% เพื่อที่จะให้ธนาคารไทยพาณิชย์ให้สินเชื่อเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป

ทั้งนี้ นายวีระวงศ์ กล่าวอีกว่า ใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH มีหลายเรื่องสับสน หุ้น WEH ได้กระจายออกไปหลายส่วน ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่การนำหุ้น WEH เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยประเด็นที่นายนพพรกับนายณพ ที่มีข้อตกลงว่าจะมีการจ่ายส่วนโบนัส 525 ล้านเหรียญ หาก WEH สามารถเดินหน้า 5 โครงการ และเข้าตลาดหุ้นได้ นอกจากส่วนที่นายณพ ได้จ่ายค่าหุ้นไปแล้วดังลก่าว เรื่องนี้มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากและลามไปถึงนักลงทุนอื่น เราต้องวิเคราะห์เรื่อง WEH ให้ชัดเจน

ส่วนนายณพและคุณหญิงกอแก้วถือหุ้น WEH กี่เปอร์เซ็นต์นั้น ขอเรียนว่าไม่มีใครถือหุ้น WEH ตรงๆ เลย มาเกิดการถือหุ้นตรงๆ ตอนที่ GML เข้ามาถือหุ้น WEH ซึ่งเมื่อศาลระบุว่าสัญญาซื้อขายหุ้น REC มาให้นายเกษม เป็นสัญญาปลอม ก็แสดงว่าโมฆะ เมื่อโมฆะ ก็ถือว่าใครที่เอาไปก็เป็นโมฆะ ดังนั้นตอนนี้ใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH ก็ได้ตั้ง ? ไว้ เพราะยังไม่ได้มีการฟันธง