posttoday

ผ่าเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" หมื่นบาท ความหวัง รึ ความเสี่ยง ?

02 ตุลาคม 2566

นายกฯย้ำชัดแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทันใช้ ก.พ.67 อัดฉีด 5.6 แสนล้านบาทเข้าระบบ ฟากโบรกผ่าไส้ใน เชื่อฟื้นเศรษฐกิจปีหน้า กลุ่มได้ประโยชน์เพียบ

     กระแสฮอตต้องยกให้นโยบายที่หลายคนเฝ้ารอคอย "ดิจิทัลวอลเล็ต" แจก 10,000 บาท ของ "เศรษฐา ทวีสิน"นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้รายละเอียดจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ล่าสุดนายกฯประกาศว่าทันใช้ภายในเดือน ก.พ. 2567 อย่างแน่นอน

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศดำเนินนโยบาย Digital Wallet ในวันที่ 1 ก.พ.2567 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Fitch และ Moody’s ต่างออกมาเตือนความเสี่ยงด้านฐานะทางการคลังของประเทศไทย หากต้องมีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ได้อันดับเครดิตเดียวกัน ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Bond Yield อายุ 10 ปีของไทยเร่งตัวขึ้นตลอดเดือนก.ย.

     หากพิจารณาแนวทางของรัฐบาล ที่ไม่ต้องการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเช่นกัน โดยจะใช้การดึงงบปี 2566 ที่ถูกใช้ไม่หมดกว่า 2 แสนล้านบาท และเกลี่ยงบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทับซ้อนกันอีกราว 1 แสนล้านบาท จึงเป็นการจัดหาเงินทุนจากงบประมาณใหม่ของปี 2567 อีกเพียง 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งระหว่างที่รออนุมัติงบประมาณปี 2567 จะใช้วิธียืมเงินจากรัฐวิสาหกิจที่จะไม่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นในทันที แล้วพอได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วจะนำเงินไปคืนให้กับรัฐวิสาหกิจดังกล่าว 

     นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ที่มีการก่อหนี้ใหม่ 1.9 แสนล้านบาท น้อยกว่าการคืนหนี้ที่ 3.9 แสนล้านบาท ทำให้เรายิ่งมั่นใจมากขึ้นว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะไม่เกินเพดานที่ 70% และเป็นไปได้สูงที่จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนระดับ 61% เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณได้อย่างชัดเจนว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงข้ามกลับหนุนให้ GDP เพิ่มขึ้นจากศักยภาพของประเทศที่เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังทำได้เพียง 2.9% ต่อปีอย่างมีนัยสำคัญ

     ซึ่งสุดท้ายจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ค่อยๆอ่อนตัวลงตามการจ่ายคืนหนี้และการเร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจ เราคาดว่าโอกาสที่จะถูกสถาบันจัดอันดับเครดิต ปรับลดเครดิตหรือมุมมองอับดับเครดิตจะค่อยๆผ่อนคลายลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกับประเทศไทย เราพบว่า ข้อมูลในปี65 มีค่าเฉลี่ยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ 69% มากกว่าไทยที่ 61% และมีสัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP เป็นลบเฉลี่ย -5%

     ขณะที่ไทยติดลบเพียง -0.5% ซึ่งถือว่าประเทศไทยยังมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยอยู่พอสมควรจึงยิ่งสนับสนุนมุมมองข้างต้นของเราที่ประเมินว่า ยังเร็วเกินไปสำหรับการปรับลดมุมมองด้านเครดิตของประเทศไทย 

เจาะลึก Digital Wallet

     นโยบาย Digital Wallet จะเป็นการแจก Utility Token มูลค่า 10,000 บาท โดยมูลค่าของ Token จะเท่ากับ 1 บาทเสมอ (มีลักษณะคล้ายๆ Stable Coin) ซึ่งไม่ใช่สกุลเงินใหม่ และ ไม่ใช่ Security Token ดังนั้นจะไม่สามารถเก็งกำไรได้ (Utility Token จะมีลักษณะคล้ายกับคูปองดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง สามารถนำไปใช้ในการแลกหรือใช้เป็นส่วนลดสำหรับการซื้อสินค้าและบริการของผู้รับ Token ดังกล่าวได้)

     รายละเอียดและเงื่อนไขเบื้องต้น คือ

     • ประชาชนชาวไทยทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประชาชน จะได้รับ Utility Token ผ่าน Digital Wallet

     • นโยบายดังกล่าวจะมีอายุการใช้เงิน 6 เดือน

     • ไม่สามารถซื้อสินค้าบน Platform ออนไลน์ และไม่สามารถซื้อสินค้าอบายมุข

     • ใช้จ่ายได้เฉพาะกับร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร

     • Digital Wallet ใช้ระบบ Block Chain ซึ่งจะสามารถติดตามแหล่งที่มาของ Token ได้ในทุกธุรกรรม และสามารถใส่ฟังค์ชั่นต่างๆเพิ่มเติมได้ เช่นการก าหนดรัศมีการใช้เงิน หรือในอนาคตรัฐบาลอาจใช้ระบบ Airdrop (แจก Utility Token ใหม่ๆที่อาจจะมีฟังค์ชั่นอื่นๆ)

     • เมื่อครบ 6 เดือน ร้านค้าที่สามารถนำ Utility Token ไปขึ้นเงินได้จะเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

     • ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ตามกฎหมายได้

แหล่งเงิน Digital Wallet 

     จำนวนประชาชนที่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับ Token ในนโยบายดังกล่าวมีทั้งสิ้น 56 ล้านราย คิดเป็นเงิน 5.6 แสนล้านบาท เบื้องต้นแหล่งที่มาของเงินจะมาจาก 3 ส่วนคือ 1. ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้ 

     2. กู้ยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน มูลค่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งออมสินมีเงินฝากราว 2 ล้านล้านบาท คนที่ฝากเงินไม่ต้องกังวล ไม่ต้องรีบไปถอนเงินเพราะไม่ใช่เม็ดเงินที่เยอะมาก 

     และ 3. ลดวงเงินจากนโยบายอื่นๆ

 

กระตุ้น ศก. อย่างไร ?

     กลไกการส่งผ่าน Utility Token สู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนได้รับ Token ใน Digital Wallet มูลค่า 1 หมื่นบาท ในขั้นตอนแรกประชาชนจะนำ Token ไปซื้อสินค้าในร้านค้าต่างๆ โดยเรายกตัวอย่างเป็นสถานการณ์การไปใช้ Token ในร้านอาหาร >> ร้านอาหาร นำ Token ไปซื้อวัตถุดิบ เช่น หมู ข้าว และเครื่องปรุง ผ่าน Modern Trade >> Modern Trade นำ Token ไปซื้อวัตถุดิบจาก Suppliers โดยเราให้สมมติฐานว่า Suppliers จะเก็บ Token ไว้เตรียมไปแลกเป็นเงินบาทหลังจากจบโครงการ

     สมมุติว่า รัฐบาลใส่เงินมา 10,000 บาท ไปซื้ออาหาร ซึ่งร้านอาหารต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 7% ราว 700 บาท ทางร้านอาหารจะได้รับเงินสุทธิ 9,300 บาท จากนั้นร้านอาหารนำเงินที่ได้ 9,300 บาทไปซื้อวัตถุดิบที่ร้านโมเดิร์นเทรด หัก VAT 7% ราว 651 บาท ร้านโมเดิร์นเทรดจะได้รับเงินสุทธิ 8,649 บาท และสุดท้าย ร้านโมเดิร์นเทรด นำเงินที่ได้ 8,649 บาท ไปซื้อที่ร้านซัพพลายเออร์ VAT 7% ราว 605.43 บาท ทำให้ซัพพลายเออร์ ได้รับเงินสุทธิ 8,043.57 บาท 

     ทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เรียกว่าตัวทวีทรัพย์ หมายความว่าหมุนเงินในระบบ 3 รอบ แต่ไม่ได้หมุน 1 หมื่นบาททั้ง 3 รอบ นั่นหมายความว่า ทุกๆ 1 หมื่นบาทที่รัฐบาลใส่เข้าไปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจราว 27,949 บาท Multiplier 2.8 เท่า ดังนั้นภาพเศรษฐกิจจะดีกว่านี้ถ้าเงินหมุนในระบบมากกว่า 3 รอบ 

     แต่ในทางกลับกันถ้าหมุนน้อยกว่า 3 รอบ หรือซื้อเพียงครั้งเดียวแล้วจบเลยจะกลายเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจเพราะรัฐบาลใส่เงินเข้าไปแล้วเงินไม่หมุนในระบบเลย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดการหมุนเงินในระบบแน่นอน เพราะยังไม่ให้ขึ้นเงินภายใน 6 เดือนแรก ดังนั้นน่าจะเกิดการใช้จ่ายหมุนในระบบต่อเนื่อง ดังนั้นยิ่งหมุนเร็ว รัฐบาลจะได้ VAT เพิ่มขึ้น  

     ซึ่งจากการคำนวณการหมุนเงินในระบบ 3 ครั้งจะทำให้รัฐบาลได้รับภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 1,956.43 บาท คิดเป็น 19.56% หากไปคำนวณกับมูลค่าของงบประมาณสำหรับนโยบาย Digital Wallet รัฐบาลจะได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 560,000 ล้านบาท คูณ 19.56% เท่ากับ 109,560 ล้านบาท 

กระทบ เงินเฟ้อ ?

     ประเด็นต่อมาคือ ถ้าเกิดการหมุนรอบจำนวนมาก จะกระทบเงินเฟ้อหรือไม่นั้น เราประเมินนโยบาย Digital Wallet ไม่ทำเงินเฟ้อไทยเกินระดับ 3% เนื่องจากเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำ บวกกับที่ผ่านมารัฐบาลขอคุมราคาสินค้าไม่ให้ขึ้น ทั้งลดค่าไฟ,ราคาน้ำมัน น่าจะทำให้เงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 0.88% ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อแบงก์ชาติ 1.6-2.6% ดังนั้นการจะเห็นเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 3% จึงค่อนข้างยาก 

ผลกระทบการบริโภค ?

     ทั้งนี้หากดูในฝั่งการบริโภคในช่วงของการจัดนโยบายในเดือน ก.พ.-ก.ค.2567 จะเห็นภาคการบริโภค เติบโตระดับ 15-20% แต่หากพิจารณาปัจจัยทางลบ คือ ทุกคนจะรอได้รับเงิน Digital Wallet ก่อนจึงจะตัดสินใจซื้อ หรือ บางท่านอาจซื้อข้าวของเครื่องใช้ตุนไว้ พอจบช่วงนโยบายนี้ ภาคการบริโภคอาจชะลอตัวลง เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่ารัฐบาลทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์ต่างๆดังกล่าว ดังนั้นเราก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะมีโนยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆออกมาเพิ่มเติม เช่น ช้อปช่วยชาติในช่วงปลายปีนี้ หรือปีหน้ามีช้อปดีมีคืน เป็นต้น 

ข้อจำกัดนโยบาย

     1. การซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น เช่น สินค้า IT , โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด เป็นลบต่อ GDP เพราะเป็นสินค้าที่นำเข้าเข้ามาทำให้เงินไม่ค่อยหมุนในระบบมากนัก 

     2. หนี้สินภาคครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น เพราะนำเงินไปซื้อสินค้าที่ราคาสูงกว่า 10,000 บาท จึงต้องผ่อนส่วนที่เหลือ 

     3. Twin Deficit คือ ภาวะที่เกิดจากการขาดดุลการคลังและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นความเสี่ยงต่อเนื่องจากการซื้อสินค้านำเข้าสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า

     4. หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจสูงขึ้นทำให้บริาท Credit Ratting มีโอกาสปรับมุมมองต่อ Credit Ratting ของไทยได้ ซึ่งอาจต้องรอดูรายละเอียดที่มาของแหล่งเงินก่อน

     5. การบริโภคจะชะลอตัวลงทั้งก่อนและหลังโครงการ

     6. ร้านค้าที่ไม่ได้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นอีกความเสี่ยงที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บ Vat ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 

     ฝ่ายฯประเมินว่านโยบาย Digital Wallet จะส่งผลกระทบเชิงบวกมากกว่าผลกระทบเชิงลบ ซึ่งเราประเมินว่ารัฐบาลทราบข้อจำกัดของนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี และหากรัฐบาลมีการแก้ไขหรือป้องกันข้อจำกัดดังกล่าวได้ จะเป็น Upside Surprise ต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดทุน

กลุ่มได้ประโยชน์

     เราประเมินผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของนโยบาย Digital Wallet เป็นหลัก เพราะนโยบายอื่นเป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดเดิม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงไม่ได้เป็นส่วนเพิ่มหรือส่วนลดจากคาดการณ์ GDP ปัจจุบันมากนัก

     โดยถ้าอิงจากแนวทางการจัดหาเงินของพรรคเพื่อไทยที่จะมีการลดงบซ้ำซ้อนบางส่วน 2 แสนล้านบาท คาดว่าผลกระทบเชิงบวกต่อ GDP ที่เป็นปริมาณเงินใหม่ราว 3-4 แสนล้านบาท จะอยู่ที่ 1.5-2% ของ GDP ซึ่งจะหนุนให้ GDP ปี 2567 โตสูงกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 10 ปีที่ 2.9% ได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลให้ SET INDEX สามารถเคลื่อนไหวบน Forward PE Band ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ราว 16.8 เท่าได้เช่นเดียวกัน

     เพราะฉะนั้น ฝ่ายฯมั่นใจว่า SET INDEX จะเคลื่อนไหว Outperform ตลาดหุ้นภูมิภาคเมื่อมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเมื่อสามารถชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณในโครงการ Digital Wallet ได้อย่างชัดเจน

     จากการรวบรวมข้อมูลใน Yuanta Universe ผนวกกับการประเมินผลกระทบของนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เราพบว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ คือ สื่อสาร ค้าปลีก อาหารเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์แต่มีบางส่วนที่ต้องช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งยังประเมินผลกระทบหักล้างที่ชัดเจนไม่ได้คือ ธนาคารพาณิชย์ และไฟแนนซ์

กลุ่มเสียประโยชน์? 

     กลุ่มโรงไฟฟ้า, โรงกลั่น, ปั้มน้ำมัน และรับเหมาก่อสร้าง แม้เราให้ชะลอการลงทุนในช่วงไตรมาส 4/66 นี้ไปก่อน แต่ราคาหุ้นอ่อนตัวลงจากความกังวลในการใช้กลไกของรัฐบาล เข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจไปแล้วพอควร เราจึงคาดว่า Downside จะอยู่ในกรอบจำกัดและมีโอกาสเห็นแรง Buy on fact ได้ทุกเมื่อ ถ้าประเด็นการแทรกแซงจากภาครัฐสามารถประเมินผลกระทบต่อ Valuation ได้อย่างชัดเจน

     หุ้นที่เราคาดว่าจะได้ประโยชน์จากหลายนโยบายเร่งด่วน และราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองเชิงบวกมากนัก คือ AOT, AAV ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ โดยการเพิ่มทั้งนักท่องเที่ยวและจำนวนเที่ยวบิน

     ส่วน CPALL, DOHOME, OSP ได้ประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวลง และมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่าน Digital Wallet 

     ขณะที่ ADVANC, TRUE, SYMC, BE8 ได้ประโยชน์จากนโยบาย Digital Wallet และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

 

โผหุ้นแจกเงินดิจิทัล

     ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส (ASPS) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า นโยบาย Digital Wallet และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท/คน กลุ่มหุ้นที่สามารถเก็งกำไรได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

     1) กลุ่มหุ้นที่ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น ADVANC, TRUE, COM7, SPVI,CPW, IT, SYNEX ,SIS เป็นต้น

     2) กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ Digital Asset ทั้งหมด

     2.1 บริษัทที่เข้าไปลงทุนใน Crypto Currency โดยตรง เช่น หุ้น BROOK ซึ่งผลประกอบการจะขึ้น / ลง หรือได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ฯจากแนวโน้มราคา เหรียญ

     2.2 บริษัทที่เข้าไปลงทุนขุด BITCOIN (BITCOIN Mining) : เช่น หุ้น JTS ต้นทุน คือ ค่าไฟ , อุปกรณ์ และการ์ดจอในขุด ฯลฯ ส่วนรายได้คือ เหรียญ Crypto อาทิ Bitcoin ที่ได้จากการเข้าไปแข่งกันถอดรหัส ทั้งนี้หากแนวโน้มราคา Bitcoin ปรับขึ้น , ต้นทุนเท่าเดิม จำนวนเหรียญฯที่ขุดได้เท่าเดิม แต่มูลค่า เหรียญที่ขุดได้จะเพิ่มเป็นกำไร

   2.3 บริษัทที่รับ Crypto currency หรือ tokens เพื่อใช้ซื้อสินค้า หรือ บริการ : ก่อนหน้าที่ออกข่าวและเกิดกระแสเก็งกำไร อาทิ RS, ANAN, SIRI ,SC, ORI ,ASW ,MAJOR, JMART ฝ่ายวิจัย ASPS ประเมินว่าจะได้เพียงกระแส หรือ Sentiment เชิงบวกเท่านั้น

     2.4 บริษัทที่ทำ ICO portal คือ (ผู้ให้บริการToken) ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงินในการตรวจสอบข้อมูลการออก ICO ของบริษัทที่เสนอขายโทเคน (due diligence) และเก็บรักษาทรัพย์สินของผู้ลงทุน ฯลฯ อาทิ KBANK, SCB , XPG, JTS 

     2.5 ทำระบบ Exchange ซื้อขาย Crypto currency อาทิ GULF