posttoday

“วีระวงค์” ชี้แจงคำพิพากษาศาลอังกฤษคดีหุ้น WEH

26 สิงหาคม 2566

“วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ” ชี้แจงผ่านเพจเฟสบุ๊ค Weerawong : Wonderful Ways ถึงคำพิพากษาศาลอังกฤษคดีหุ้น WEH หลังตกเป็นหนึ่งในจำเลยในคดีดังกล่าวให้เป็นผู้ร่วมจ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท

นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ผู้ก่อตั้ง บริษัท วีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ WCP โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊ค Weerawong : Wonderful Ways หลังจากตกเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกศาลอังกฤษตัดสินให้เป็นผู้ร่วมจ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) และได้มีการลาออกจากตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกแห่งที่ดำรงตำแหน่งอยู่

โดยระบุถึงความเท็จความจริงในคำพิพากษาคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษว่า คดีหุ้นวินด์มีทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ คดีในศาลฮ่องกง คดีในศาลอังกฤษ และคดีในศาลไทย แต่ที่เป็นประเด็นในเชิงวิชาการนิติศาสตร์และการใช้อำนาจตุลาการในช่วงนี้ที่ผ่านมา คือ การที่ศาลชั้นต้นของศาลอังกฤษมีคำพิพากษาให้ผม (นายวีระวงค์ไม่ใช่สำนักงานกฎหมายวีระวงค์ฯ) และจำเลยอื่น ๆ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายนพพรและบริษัทของนายนพพรจำนวนสูงมากในคดีแพ่ง ทั้ง ๆ ที่มีการฟ้องคดีอาญาในเรื่องเดียวกันอยู่ก่อนแล้วในศาลไทย 

คดีที่ศาลอังกฤษนี้ นายนพพร ซึ่งเป็นโจทก์เป็นคนไทย จำเลยเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย เรื่องราวทั้งหมดอันเป็นข้อหาฟ้องร้องของโจทก์เกิดขึ้นในประเทศไทย และตามหลักการเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับกับคดี จะต้องใช้กฎหมายไทย แต่ไปฟ้องที่ศาลอังกฤษได้ เพราะระบบกฎหมายของอังกฤษเปิดให้มีการฟ้องคดีที่ศาลอังกฤษได้ หากมีจำเลยแม้เพียงคนเดียวเป็นคนสัญชาติอังกฤษ (คดีนี้มีจำเลย 17 ราย มีคนสัญชาติอังกฤษ 1 คน) 

คำพิพากษาของศาลอังกฤษนี้เป็นเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งอาจมีการกลับได้ในชั้นอุทธรณ์/ฎีกา แต่ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลสูงของอังกฤษก็จะนำมาใช้บังคับกับจำเลยที่เป็นคนไทยในประเทศไทยไม่ได้ จึงมีจำเลยคนไทย 2 คน (คือนายเกษมและนายประเดช) ไม่ไปต่อสู้คดีเลย เพราะไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรก็ไม่กระทบถึงตนเอง 

แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายของโจทก์ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งหากไม่ไปต่อสู้คดีก็จะถูกพิพากษาฝ่ายเดียวให้แพ้คดีตามที่ฝ่ายนพพรกล่าวอ้าง และถูกยึดทรัพย์สินที่ SCB มีอยู่ในประเทศที่ใช้คำพิพากษาศาลอังกฤษไปบังคับเพื่อชำระหนี้ได้ คือ ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงเป็นเหตุให้ผมและจำเลยคนไทยคนอื่นๆ (นอกจากนายเกษมและนายประเดช) ต้องเข้าไปต่อสู้คดีเพื่อไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่ SCB ให้เงินกู้กับกลุ่มบริษัทวินด์ (ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของคดีที่มีการกล่าวหา SCB และจำเลยคนอื่น ๆ) ว่าเป็นไปด้วยความถูกต้อง จนในที่สุดคำพิพากษาของศาลอังกฤษต้องยกฟ้องในส่วนของ SCB และนายอาทิตย์ (CEO ในขณะนั้น)

ในการฟ้องคดีที่อังกฤษนี้ นายนพพร มีกองทุนค้าความชื่อ Harbour Litigation Funding เป็นผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนเงินลงทุนที่สูงจนน่าตกใจ แต่กองทุนค้าความ Harbour Litigation Funding นี้จะได้แบ่งผลประโยชน์หากนายนพพรชนะคดีอย่างเกินคุ้ม 

ซึ่งการดำเนินการเป็นธุรกิจเยี่ยงนี้ของ Harbour Litigation Funding ซึ่งเป็นกองทุนค้าความเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ผิดกฎหมายไทย การออกค่าใช้จ่ายในคดีที่มีการฟ้องร้องในประเทศไทยเพื่อหาประโยชน์เข้าตนจากคดีที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลยทำไม่ได้ ซึ่งกองทุนค้าความ Harbour Litigation Funding นี้เคยสนับสนุนคดีที่ดึงบริษัทไทยไปฟ้องในต่างประเทศ และทำผลกำไรมหาศาลมาแล้ว 

“วีระวงค์” ชี้แจงคำพิพากษาศาลอังกฤษคดีหุ้น WEH

ความจริงในคำพิพากษาคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษ 

  • ในช่วงปี 2554-2555 นายนพพรถูกฟ้องคดียักยอกทรัพย์ในประเทศไทย โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายนพพร 78 เดือน และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนแต่ลดโทษจำคุกเหลือ 56 เดือน นายนพพรยื่นฎีกา ศาลฎีกายังไม่มีคำพิพากษา
  • ในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 นายนพพรหลบหนีออกจากประเทศไทย เพราะไปก่อคดีใหม่และไม่ต่อสู้คดี จึงเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของพนักงานสอบสวนในข้อหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่เกี่ยวข้องกับการ “ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น ... โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” โดยมีมูลเหตุมาจากการที่นายนพพรไม่พอใจบุคคลที่เป็นโจทก์ฟ้องคดียักยอกทรัพย์ 
  • ในขณะนั้น บริษัทของนายนพพรเป็นผู้ถือหุ้นประมาณ 50+% (โดยถือผ่านบริษัท REC) ในบริษัท WEH ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังลมในประเทศไทยจำนวน 8 โครงการ โดยมีโครงการที่สำเร็จไปแล้ว 2 โครงการ
  • SCB ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้สินเชื่อแก่ 2 โครงการแรกของบริษัท WEH และได้มีสัญญาให้สินเชื่อแก่โครงการWatabak ซึ่งเป็นโครงการที่ 3 ของ WEH ปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ (ตามสิทธิภายใต้สัญญาให้สินเชื่อและเป็นไปตามนโยบายของ SCB) อันเนื่องมาจากการที่นายนพพรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท (ผ่านบริษัทREC) ตกเป็นผู้ต้องหา มาตรา 112 เกี่ยวเนื่องกับการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและหลบหนีไม่มาต่อสู้คดีตามหมายจับ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง)
  • กลางปี 2558 บริษัทของนายนพพรจึงขายหุ้นที่ถืออยู่ในขณะนั้นทั้งหมด คือ 100% ของบริษัท REC ให้แก่บริษัทของนายณพ เพื่อให้นายนพพรพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท WEH มิฉะนั้น จะมีปัญหาจากการที่ SCB และธนาคารอื่น ๆ ไม่ให้เงินกู้แก่ WEH โดยโครงการ Watabak จะมีปัญหาอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของอีก 5 โครงการที่เหลือทั้งหมด ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัท WEH ต้องด้อยค่าลงไปอย่างมหาศาล
  • เมื่อนายนพพรพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท WEH โดยขายหุ้นบริษัท REC ทั้งหมดให้บริษัทของนายณพ เป็นผลให้บริษัทของนายณพเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อมของบริษัท WEH โดยนายนพพรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆอีก SCB จึงกลับมาพิจารณาที่จะให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ได้ รวมถึงพิจารณาให้สินเชื่อบริษัทโครงการที่เหลือของแก่อีก 5 บริษัทของ WEH
  • ต้นปี 2559 หลังจากที่ได้รับเงินจากบริษัทนายณพไปแล้ว 90.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทของนายนพพรได้แจ้งบอกเลิกสัญญาขายหุ้น REC อ้างว่าบริษัทของนายณพไม่ชำระเงินอีก 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามกำหนดเวลาและนำคดีไปที่อนุญาโตตุลาการในสิงคโปร์เพื่อบังคับให้บริษัทนายณพโอนหุ้นคืนทันที ซึ่งบริษัทของนายณพต่อสู้ว่าการที่ไม่ได้ชำระเงิน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นมาจากความผิดของนายนพพร และพร้อมชำระเงินให้ โดยบริษัทของนายนพพรไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาขายหุ้น REC เพื่อบังคับให้บริษัทนายณพโอนหุ้นคืน
  • SCB ปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ SCB เนื่องจากหากบริษัทของนายนพพรชนะคดีอนุญาโตตุลาการ นายนพพรซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 เกี่ยวเนื่องกับการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและอยู่ระหว่างหลบหนีตามหมายจับจะกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท WEH (โดยถือผ่านบริษัทREC) อีกครั้งหนึ่ง แม้ผมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของ WEH ในขณะนั้นจะให้ความเห็นว่า บริษัทของนายนพพรไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาขายหุ้น REC เพื่อบังคับให้บริษัทนายณพโอนหุ้นคืน แต่จะได้รับเงินจำนวน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามที่บริษัทของนายณพเสนอซื้อให้ตามสัญญาเพราะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ตาม ทั้งนี้ ในการให้ความเห็นดังกล่าวผมให้ความเห็นในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของ WEH ไม่ใช่การทำหน้าที่ในฐานะกรรมการของ SCB และแม้ในขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทของ SCB แต่ผมก็ได้แจ้งประเด็นการที่จะต้องทำหน้าที่ในบทบาทของที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัท WEH ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ SCB จึงได้ขอไม่ร่วมและไม่เคยมีส่วนร่วมในการรับทราบหรือพิจารณาตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการให้สินเชื่อหรือให้เบิกเงินกู้แก่โครงการใดๆ ของบริษัท WEH
  • ผมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท WEH ในขณะนั้นได้ให้ความเห็นแก่บริษัท WEH รวมถึงบริษัท REC ว่าเนื่องจากโครงการ Watabak จะได้รับความเสียหายถึงขั้นดำเนินโครงการต่อไปไม่ได้ หากไม่ได้รับเงินกู้โดยเร่งด่วนรวมทั้งโครงการอื่น ๆ อีก 5 โครงการของ WEH ซึ่งจำเป็นต้องได้รับสินเชื่อโดยเร็วก็จะได้รับความเสียหายด้วย คณะกรรมการบริษัท REC มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน WEH ออกไปให้แก่บุคคลภายนอกได้ แต่จะต้องขายหุ้น WEH ในราคาไม่ต่ำกว่าราคาซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินเห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตตามความหมายของมาตรา 237 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย เพราะบริษัท REC ไม่มีเจ้าหนี้ และการขายหุ้นWEH นี้ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหนี้ของบุคคลอื่นใดไม่ได้รับชำระหนี้ เพราะเป็นการขายด้วยเหตุจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์และส่วนได้เสียของบริษัท REC เนื่องจากหากไม่ขายหุ้น WEH ออกไป ราคาก็จะลดต่ำลงไปเรื่อย ๆตามสภาพธุรกิจของ WEH ซึ่งนอกจากจะไม่มีมูลค่าเพิ่มจากโครงการ Watabak และโครงการอื่น ๆ แล้ว ก็ยังจะต้องถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก GE, EGAT และเจ้าหนี้อื่น ๆ จนถึงขั้นล้มละลายได้ด้วย  รวมทั้งจะไม่เป็นการไปล่วงละเมิดกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัทของนายนพพรกับบริษัทของนายณพ เพราะบริษัท REC ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทของนายนพพรและไม่ได้ถูกฟ้องด้วย และหุ้นที่เป็นประเด็นพิพาทของสัญญาในคดีอนุญาโตตุลาการคือหุ้นที่บริษัทของนายณพถืออยู่ คือ บริษัท REC ไม่ใช่หุ้น WEH ที่ถือโดยบริษัท REC ในทางกฎหมายไทยจะแยกนิติบุคคลคือบริษัท REC กับผู้ถือหุ้นคือบริษัทของนายณพออกจากกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการจึงได้มีคำสั่ง (EA Order) ห้ามจำหน่ายหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้น REC เท่านั้น ไม่ได้มีคำสั่งขยายไปถึงหุ้น WEH ที่ถือโดยบริษัทREC ตามที่บริษัทของนายนพพรร้องขอ
  • แต่ผู้ซื้อหุ้น WEH ไปนี้จะต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยง หาก SCB จะยังปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้และ/หรือไม่ให้สินเชื่อแก่โครงการอื่น ๆ เพราะในขณะนั้น SCB ไม่ได้ให้คำมั่นหรือแสดงออกใด ๆ ว่าหากมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเช่นนี้แล้ว SCB จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลให้ราคาหุ้น WEH ลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตามสภาพธุรกิจของ WEH
  • วันที่ 25 เมษายน 2559 คณะกรรมการบริษัท REC ได้มีมติให้บริษัท REC ขายหุ้น WEH ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว(นายเกษม-ตัวแทน) ในราคาตามมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ซึ่งเป็นราคาที่ที่ปรึกษาทางการเงินเห็นว่าเหมาะสมเนื่องจากไม่มีความแน่นอนใด ๆ ว่า SCB จะให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้และ/หรือจะให้สินเชื่อแก่โครงการอื่น ๆซึ่งเป็นสถานการณ์ในขณะนั้น 
  • เมื่อในทางกฎหมายสามารถยืนยันได้ว่า นายนพพรจะไม่กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท WEH โดยผ่านบริษัท REC ได้อีก แม้ว่าจะเป็นฝ่ายชนะคดีอนุญาโตตุลาการเรื่องบอกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นก็ตาม SCB จึงกลับมาพิจารณาที่จะให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ได้ รวมถึงพิจารณาให้สินเชื่อบริษัทโครงการที่เหลือของแก่อีก 5 บริษัทของ WEH
  • ในที่สุด อนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้บริษัทของนายณพชำระค่าหุ้นจำนวน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามที่บริษัทของนายณพเสนอพร้อมดอกเบี้ย โดยไม่ให้เลิกสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งในขณะนั้น บริษัทของนายณพไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น WEH (ผ่านบริษัท REC) แล้ว แต่บริษัทของนายณพก็ได้ชำระค่าหุ้นจำนวน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทของนายนพพรครบถ้วนตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แต่โต้แย้งคำตัดสินให้ชำระดอกเบี้ยในศาลไทย ซึ่งขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุด
  • ก่อนที่จะมาฟ้องคดีในศาลอังกฤษ บริษัทของนายนพพรได้ยื่นคำร้องต่อศาลในฮ่องกงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้าม GML (ซึ่งเป็นบริษัทในฮ่องกงของคุณหญิงกอแก้ว) ทำการจำหน่ายหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นWEH ที่ GML ถืออยู่แทนคุณหญิงกอแก้ว ซึ่งในชั้นแรกซึ่งเป็นการพิจารณาโดยเร่งด่วนโดย GML ไม่ได้โอกาสที่จะนำหลักฐานเข้าชี้แจงนั้น ศาลฮ่องกงได้มีคำสั่งตามคำขอดังกล่าว แต่ต่อมาภายหลังจากที่ศาลฮ่องกงได้พิจารณาพยานหลักฐานทางฝั่งของ GML แล้ว จึงได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว โดยศาลฮ่องกงตัดสินว่า บริษัทของนพพรจงใจปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญต่อการพิจารณาคดีซึ่งถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง (the seriousness and deliberateness…of material non-disclosure)  

คดีนี้เป็นคดีใหญ่มากมีการเรียกค่าเสียหายกันหลายหมื่นล้านบาท (ไทย) แต่ระบบกฎหมายอังกฤษกลับมีผู้พิพากษาเพียงนายเดียว คือ นาย Calver ทำหน้าที่รับฟังพยานเบิกความและพิจารณาพยานหลักฐานอื่น ๆ ทั้งหมด เพื่อตัดสินคดี ซึ่งในคำพิพากษาก็มีนาย Calver ลงชื่อคนเดียว โดยไม่มีองค์คณะ 

นาย Calver ได้รับพิจารณาและพิพากษาคดี ทั้งๆ ที่ทราบดีว่า บริษัทของนายนพพรได้ทำการฟ้อง “คดีอาญา” ในศาลไทยเอากับจำเลยหลายคนในคดีอังกฤษนี้ (ซึ่ง SCB นายอาทิตย์ อดีต CEO ของ SCB และผมไม่ได้ถูกฟ้องด้วย) ในฐานความผิดเดียวกัน คือ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกันให้บริษัท REC โอนขายหุ้น WEH ออกไป โดยมีเจตนาพิเศษที่จะทำให้บริษัทของนายนพพรไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทของนายณพ (ร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย) (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 ของศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งในขณะนี้ศาลยังไม่ได้พิพากษา) ก่อนที่จะไปฟ้อง “คดีแพ่ง” ในศาลอังกฤษ 

ซึ่งการที่นายนพพรและบริษัทของนายนพพรเลี่ยงไปฟ้องคดีแพ่งที่ศาลอังกฤษก็เพราะเมื่อฟ้องคดีอาญาไว้แล้วจะดำเนินกระบวนการในศาลไทยเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งในข้อกล่าวหาเดียวกันนั้นไม่ได้ ศาลไทยจะจำหน่ายคดี (คือฟ้องได้แต่ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไม่ได้) ต้องรอให้มีคำพิพากษาของศาลไทยในคดีอาญาก่อน และคำพิพากษาของศาลไทยในคดีอาญาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำการโกงเจ้าหนี้หรือไม่นั้นจะผูกพันศาลไทยในคดีแพ่งให้ต้องรับฟังเป็นอย่างเดียวกันด้วย จะชี้ขาดข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ในการตัดสินให้ผมและจำเลยคนอื่น ๆ ร่วมกันรับผิดนั้น นาย Calver ได้เขียนข้อความกล่าวหาผม และจำเลยคนอื่น ๆ  ด้วยถ้อยคำรุนแรงไว้ในคำพิพากษา (ซึ่งนักกฎหมายทั้งหลายที่ได้อ่านต่างเห็นว่าผิดวิสัยที่ผู้พิพากษาจะกระทำเช่นนี้และก็อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัยในทางลบเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนาย Calver) แม้ว่าคำพิพากษาของนาย Calver จะใช้บังคับในประเทศไทยไม่ได้ดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อมีการนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยผ่านสื่อบางสำนักที่มีการจ้างวานกันไว้ตามที่นายนพพรให้การยอมรับไว้ในคดี ก็จะทำให้ผมและจำเลยคนอื่น ๆ ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างรุนแรง เพราะคนไทยโดยทั่วไปย่อมจะมีความเชื่อถือว่าระบบการพิจารณาคดี รวมถึงผู้พิพากษาอังกฤษ (นาย Calver) ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีนี้ คงได้ทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม 

ผมจึงต้องการที่จะให้ข้อเท็จจริงในเชิงลึกเกี่ยวกับคำพิพากษาที่ตัดสินและเขียนโดยผู้พิพากษาอังกฤษ คือ นาย Calver คนนี้ไว้ เพื่อให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน คือ การนำคำพิพากษาของผู้พิพากษาอังกฤษมาชี้แจงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง และตามหลักกฎหมาย ที่ทำได้เช่นนี้เพราะผมไม่ใช่คนอังกฤษที่จะถูกกฎหมายปิดปากไม่ให้พูดในสิ่งที่ผมรู้ผมเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาอังกฤษที่ตัดสินคดี 

ผมไม่มีเจตนาใส่ความหรือต้องการทำให้นาย Calver เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ผมมีเจตนาเพียงเพื่อนำความจริงมาชี้แจงให้เห็นถึงประสบการณ์เลวร้ายอย่างไม่น่าเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นกับผมและจำเลยคนไทยคนอื่นๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ตามทำนองคลองธรรม และเพื่อให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับประชาชนคนไทยและธุรกิจของคนไทยโดยทั่วไปที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนสัญชาติอังกฤษ ให้เฝ้าระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดยวิธีการเช่นเดียวกันนี้ และผมยังมุ่งหวังให้การให้ข้อมูลของผมนี้เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการนิติศาสตร์และการใช้อำนาจตุลาการด้วย โดยผมจะใช้วิธีการชี้แจงแบบถาม-ตอบ (Q&A) ซึ่งคำถามตอบและคำตอบจะอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวกับหัวข้อต่อไปนี้ คือ

Q&A (1): ผู้พิพากษาอังกฤษโกหก-เท็จหรือไม่?
Q&A (2): ผู้พิพากษาอังกฤษตัดสินผิดหลักกฎหมายไทยหรือไม่?
Q&A (3): ผู้พิพากษาอังกฤษอยู่ในกระบวนการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่?