posttoday

ผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK ร้อง DSI กล่าวโทษ 8 ราย ฐานฉ้อโกง-ร่วมฟอกเงิน

06 กรกฎาคม 2566

ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK แจ้งความร้องทุกข์ต่อ DSI กล่าวโทษ “ชนินทร์-วนรัชต์” พร้อมพวกรวม 8 ราย ฐานฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.ค.) ผู้แทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSTARK จำนวนมากกว่า 11,000 ราย ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย ได้เข้าร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีต่อนิติบุคคล และบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกันกระทำความผิดจำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.หลักทรัพย์ 

โดยขอให้เร่งรัดจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดในทันที เนื่องจากผู้ต้องหาจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี เพราะมูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมาก และคัดค้านการประกันตัวระหว่างสืบสวนสอบสวนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที และไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะอาจหลบหนีไปต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ขอให้ DSI เร่งประสานงานกับคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยทันที ประกอบด้วย

1. บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

2. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบุคคลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ให้ข้อมูลว่าอาจได้รับผลประโยชน์จากการโอนเงินเข้าบัญชี บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

4. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK

5. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตกรรมการ STARK

6. นายกุศล สังขนันท์ อดีตกรรมการ STARK

7. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน STARK

8. และหรือบุคคล นิติบุคคลอื่นใดที่ร่วมกันสมคบคิดกระทำผิดโดยทุจริต

ทั้งนี้ บุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดระหว่างปี 2563-2564 สร้างงบการเงินบริษัทปลอม ทำให้พวกข้าพเจ้าที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยมากกว่า 11,000 ราย เข้าไปซื้อหุ้นลงทุน แต่ปรากฎความจริงจากการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษในภายหลังว่ามีการเบียดบังเงินของบง STARK ไปมากถึง 10,451 ล้านบาท 

โดยอ้างว่าเป็นการจ่ายให้บริษัทคู่ค้า 3 ราย แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีกลับพบว่า STARK ไม่ได้จ่ายให้บริษัทคู่ค้าดังกล่าวแต่เป็นการโอนเงินออกไปให้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยตรง อันเป็นพฤติการณ์ผิดกฎหมายฐานฟอกเงิน 

ทั้งยังปรากฏตามหลักฐานการให้สัมภาษณ์ของ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีต CFO ของ STARK ว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารของ STARK 3 ราย โดยรับคำสั่งโดยตรงจาก นายชนินทร์ ให้ปลอมแปลงบัญชี เพื่อหลอกลวงให้พวกข้าพเจ้า ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าใจผิดในสาระสำคัญว่ากิจการของ STARK กำลังมึความเจริญก้าวหน้า และราคาหลักทรัพย์มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้น พวกข้าพเจ้าจึงหลงเชื่อพากันเข้ามาซื้อหุ้นลงทุน จนผลักดันให้ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่5.50 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากถึง 73,733 ล้านบาท 

ซึ่ง นายศรัทธา ให้สัมภาษณ์ว่า นายวนรัชต์ได้ขายหุ้นล็อตใหญ่ออกไปได้เงินมากกว่าหมื่นล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดฐานปั่นหุ้นลวงให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าใจผิด และฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากเมื่อความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่าความจริงบริษัทประสบปัญหาขาดทุน จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ เข้าเกณฑ์ต้องหยุดการซื้อขายเพื่อฟื้นฟูกิจการ ราคาหลักทรัพย์ได้ตกมาเหลือราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 0.02 บาท หรือเหลือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพียง 268 ล้านบาท หรือมูลค่าหลักทรัพย์เสียหายไปรวมมากกว่า 73,465 ล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเนื่องจากราคาหลักทรัพย์ใม่ได้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดตามปกติธุรกิจ

ทั้งนี้ บรรดาผู้กระทำผิดร่วมขบวนการยังได้บังอาจกระทำการหลอกลวงโดยเจตนาทุจริต ให้พวกข้าพเจ้าหลงเชื่อโดยเสนอแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จทางสารสนเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่เป็นระยะ เป็นเหตุให้ประชาชนตลอดจนบริษัทกองทุนต่างๆ หลงเชื่อข้อมูลเท็จที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวนำเสนอและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ หลายกรรมหลายวาระ อันเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเป็นการฉ้อโกงประชาชน

พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนรายย่อยใน STARK มากกว่า 11,000 ราย รวบรวมหลักฐานชั้นต้นได้ 21 รายและอีก 1,759 ราย พร้อมจะร่วมเป็นเจ้าทุกข์ดำเนินคดีทั้งอาญาและทางแพ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใด จึงได้ร่วมกันมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

โดยขอให้ท่านเร่งดำเนินคดีต่อนิติบุคคล และบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกันกระทำความผิดจำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ รวมทั้งขอให้เร่งรัดจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดในทันที เนื่องจากผู้ต้องหาจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี เพราะมูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมาก 

และคัดค้านการประกันตัวระหว่างสืบสวนสอบสวน และไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะอาจหลบหนีไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที 

อีกทั้งขอให้ DSI เร่งประสานงานกับคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยทันที