posttoday

ช็อตฟีล! 30วันหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 7 แสนล้าน

24 มิถุนายน 2566

ไหลไม่หยุด! เช็คสถานะ 30 วันตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง ฉุดมาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 7 แสนล้านบาท วอลุ่มเทรดเหลือเพียง 4-5 หมื่นล้านบาท กลุ่มรับเหมา-ไฟแนนซ์ร่วงหนัก ฟาก DELTAเฉิดฉายดันกลุ่มอิเล็กฯพีคสุด “จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์”ชี้ทางรอดโฟกัสหุ้นได้ดีจีนกระตุ้นเศรษฐกิจหนุน

นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง วันที่ 12 พ.ค.66 จนถึงวานนี้(23 มิ.ย.66) ตลาดหุ้นไทย ตลอด 30 วันทำการ ดัชนีหุ้นไทยทำจุดต่ำสุด ณ วันที่ 22 พ.ค.66 ลดลงแตะ 1,491.12 จุด และเพิ่มขึ้นสูงสุด ณ วันที่ 14 มิ.ย.66 แตะระดับ 1,569.34 จุด ขณะที่ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization หรือ Market Cap.) ลดลง 698,108.95 ล้านบาท คิดเป็นลดลงราว 2% 

แต่หากพิจารณา Market Cap. หุ้นไทย นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงวานนี้(23 มิ.ย.66) ระยะเวลา 116 วัน พบว่า Market Cap. หุ้นไทย ลดลง 2,111,982.54 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 4-5 หมื่นล้านบาทต่อวัน เทียบกับปี 65 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันราว 7-8 หมื่นล้านบาท และในปี 64 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันราว 8 หมื่นล้านบาท

ช็อตฟีล! 30วันหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 7 แสนล้าน

 

ทำไม? Market Cap.หาย-วอลุ่มหด

“น้าแดง-จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์” หัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวกับ "ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์" ว่า หลังจากการเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค.66 เสร็จสิ้น จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอยู่ทางเดียว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ดัชนีปรับตัวลดลงราว 2% Market Cap. หายไปกว่า 6 แสนล้านบาท

และนี่ไม่ใช่การปรับตัวลดลงปกติ เพราะมูลค่าการซื้อขายต่อวันลดลงเช่นกัน

ช็อตฟีล! 30วันหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 7 แสนล้าน

 

 

 

 

นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ก่อนการเลือกตั้ง ซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 58,675 ล้านบาท

แต่หลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้น ณ วันที่ 15 พ.ค.66 วอลุ่มซื้อขายที่น่าจะคึกคัก กลับยิ่งเทรดยิ่งเหี่ยว มูลค่าซื้อขายหลังเลือกตั้ง เหลือเพียง 49,000 ล้านบาทต่อวัน เท่านั้น! หรือลดลงราว 17% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเลือกตั้ง

ซึ่งสะท้อนได้ 2 มุม คือ เลือกตั้งเสร็จแทนที่หุ้นจะขึ้นกลับลดลง 2% Market Cap.หาย แถมวอลุ่มเทรดหาย นั่นหมายความว่าตลาดไม่มีความมั่นใจ 

 

รอภาพการเมืองชัด

สาเหตุอาจเกิดจาก 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ 1.การเมืองไทยที่ยังไม่ชัดเจน ภาพความไม่ลงรอย ความไม่สามัคคี ทำเอาหลายฝ่ายต่างกังวลว่าปีงบประมาณอาจจะเกิดการล่าช้า เพราะตามไทม์ไลน์ ประธานสภา คาดชัดเจนเดือน ส.ค. และกว่าจะเรียกประชุมสภาฯตลอดจนอภิปรายเรื่องงบประมาณคาดว่าจะยืดเยื้อออกไปอีกซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าจะชัดเจนช่วงไหน 

และ 2.พรรคก้าวไกลหาเสียงใส่เต็มเรื่องของรัฐสวัสดิการ สมมุติ พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจริง สิ่งที่เคยหาเสียงจะสามารถขับเคลื่อนได้เต็มตามแผนหรือไม่ ซึ่งถ้าจัดเต็มตามแผนคนกังวลว่าจะเน้นแต่รัฐสวัสดิการแล้วเรื่องงบลงทุนจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจต้องยอมรับอีกขาหนึ่งเราต้องการเรื่องการลงทุนเช่นกัน

หากพิจารณาเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเมื่อเทียบกับเอกชนถือว่าเล็กกว่าภาคเอกชนค่อนข้างมาก และเอกชนไม่กล้าลงทุนหากไม่เห็นภาครัฐขับเคลื่อน สมมุติ พรรคก้าวไกลมา แล้วนโยบายการคลังที่พยายามขับเคลื่อนจะไปสุดทางอย่างที่หาเสียงหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ต้องติดตาม 

โดยทั้ง 2 ประเด็นข้างต้นส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะเทรดหุ้น เพราะไม่รู้ว่าการเมืองจะออกหน้าไหนจึงสะท้อนวอลุ่มการเทรดที่ลดลงเพราะคนไม่กล้าตัดสินใจลงทุน ซึ่งเราอยู่ในเมืองไทยยังพอเห็นภาพ แต่ต่างชาติอยู่ไกลกว่าเรายิ่งไม่แน่ใจว่าประเด็นต่างๆจะชัดเจนเมื่อไหร่ จึงเห็นต่างชาติขายตลอดทาง

นับตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จสิ้น ต่างชาติขายราว 38,000 ล้านบาท ฝั่งตราสารหนี้ค่อนข้างชัดเพราะก่อนการเลือกตั้งช่วงต้นเดือน พ.ค.66 ต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยราว 12,000 ล้านบาท พอเลือกตั้งเสร็จในเดือน มิ.ย.66 ต่างชาติขายตราสารหนี้ไหยราว 29,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าต่างชาติไม่ทราบว่าการเมืองไทยจะออกหัวออกก้อยจึงขายถอยออกมาก่อนทำให้หุ้นไทยไปต่อไม่ไหว 

 

ย้ำ! Sector รุ่ง-ร่วง หลังเลือกตั้ง 

จุดที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่เลือกตั้ง หุ้นไทยปรับตัวลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรมแม้ในช่วงแรกตลาดประเมินว่ากลุ่มค้าปลีกจะได้รับอานิสงส์เลือกตั้ง แต่กลับปรับตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งเดียวที่ได้รับอานิสงส์ นั่นก็คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ 1.หุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 28% จน Market Cap. แซงเป็นอันดับ 1 ขนาดโดนเรื่องแคชบาลานซ์ ถ้าไม่โดนจะไปได้ไกลกว่านี้ ดังนั้นหุ้น DELTA ช่วยดันกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 

และ 2.ค่าเงินบาท จุดน่าสนใจคือ หลังเลือกตั้งปรากฏว่าเงินบาทอ่อนค่า 3.7% สอดคล้องกับต่างชาติขายหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งเวลาที่ต่างชาติขาย เวลาเอาเงินกลับต้องขายเงินบาท ซื้อดอลลาร์ ทำให้บาทอ่อนค่า บางคนอาจจะถามว่าที่บาทอ่อนค่าเพราะดอลลาร์แข็งหรือไม่

ทั้งนี้หลังจากการเช็คข้อมูลกลับพบว่าดอลลาร์แข็งค่าจริง แต่แข็งค่าเพียง 0.3%หลังจากเลือกตั้ง ซึ่งปกติหากดอลล์แข็งค่า 0.3% บาทควรอ่อนค่า 0.3% เช่นกัน แต่เงินบาทกลับอ่อนค่าถึง 3.7% แสดงว่ารอบนี้ต่างชาติขายจริง ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ส่งผลให้ภาพตลาดหุ้นหลังเลือกตั้งดูไม่ดีเลย 

ส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงแรงที่สุด คือ 1.กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ลดลง 16% ตัวที่ลงหนักที่สุดคือ STEC ราคาลดลง 33% รองลงมาคือ CK ลดลง 17% ผลจากการเมือง และงบประมาณปี 67 จะล่าช้าหรือไม่ งบสวัสดิการจะพุ่งขึ้นสวนทางงบลงทุนน้อยหรือไม่ ดังนั้นหุ้นรับเหมาฯจึงได้รับผลกระทบที่สุด 

และอีกกลุ่มที่ปรับลดลงแรงหลังจากเลือกตั้ง คือ 2. กลุ่มไฟแนนซ์ ปรับลดลง 12% ถือว่าหักปากกาของนักวิเคราะห์เหมือนกัน เพราะนักวิเคราะห์มองหุ้นไฟแนนซ์จะเป็นไม้รองต่อจากกลุ่มค้าปลีก ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกคนเชื่อว่าหากเลือกตั้งเสร็จกลุ่มค้าปลีกจะอู้ฟู่ คนจะมีเงิน เศรษฐกิจเดินหน้า การผ่อนชำระหนี้จะกลับมาเป็นปกติ

แต่ทุกอย่างตรงกันข้าม เพราะหลังเลือกตั้งมีการประชุม กนง. ขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.75% เป็น 2% ทำให้ต้นทุนทางการเงินกลุ่มไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นราว 0.25% จึงปรับตัวลดลง แต่หากตัด DELTA ออก ถือว่าแย่ทั้งตลาด 

 

ถามว่า ตลาดหุ้นหลังจากนี้จะดีขึ้นหรือไม่ ?

หากพิจารณา P/E Ratio หุ้นไทยเทียบกับตลาดหุ้นในอาเซียน ต้องยอมรับความจริงว่าหุ้นไทยไม่ถูก เพราะหากเทียบตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย เทรด Forward P/E ระหว่าง 12-13.8 เท่า

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย เทรด Forward P/E 15.9-16 เท่า นั่นหมายความว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และ มาเลเซียเทรดพี/อีถูกกว่า แถมไม่มีประเด็นอะไรไม่ชัดเจนเหมือนไทย หุ้นไทยจึงไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ในเร็วๆนี้ 

"ตอนนี้ตลาดทำได้อย่างเดียว คือ Wait & See ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ลดลง 17% เทรดวันละ 4 หมื่นกว่าล้านเท่านั้น แสดงว่าตลาดรู้ตัว่าต่างชาติไม่เอา และเราไม่ได้ถูกมาก ที่สำคัญการเมืองไทยมี 2 เรื่องใหญ่ที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นการลดการลงทุน การเทรด หรือ การเก็งกำไร จึงเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นการจะกลับมาเทรดคึกคักต้องให้ภาพการเมืองชัด งบอย่าล่าช้า และนโยบายหาเสียงจะไปสุดทางอย่างที่ตั้งไว้หรือไม่"  

อย่างไรก็ดี หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม อย่างน้อยถือเป็นการปิด Downside Riskได้ ซึ่งดีกว่าการไม่มีรัฐบาล หรือ หากยังเป็นรัฐบาลรักษาการยืดเยื้อต่อเนื่องคาดว่าจะกดดันหนักกว่าเดิม ดังนั้นไทยต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ส่วนจะเดินหรือวิ่งไปข้างหน้าได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

ส่วนตัวถือว่าปีนี้เป็นอะไรที่ยากมากๆสำหรับนักลงทุน ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศตอนนี้ดีตรงที่ยังพอไปได้ โทนการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้แรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับ Dot Plot สะท้อนว่าจะขึ้น 1-2 ครั้ง เพียงแต่เศรษฐกิจจะถดถอยแบบ Soft Landing หรือ Hard Landing เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

 

กลยุทธ์ลงทุนหุ้นช่วงครึ่งปีหลัง ?

ส่วนตัวมองว่า เรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือภาพใหญ่ของโลก กว่าจะชัดเจนคาดว่าน่าจะเห็นช่วงคริสต์มาสในปีนี้ซึ่งต้องมาเปรียบกับกับคริสต์มาสปีนั้นจะแตกต่างกันขนาดไหน เพราะงั้นกว่าที่เราจะรู้ว่า Soft Landing หรือ Hard Landing ช่วงไตรมาส 4 ความไม่แน่นอนจะยังปกคลุม

ช็อตฟีล! 30วันหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 7 แสนล้าน    

 

 

 

 

 

 

เช่นเดียวกับประเทศไทย กว่าจะได้รัฐบาล ตามไทม์ไลน์คือเดือน ส.ค. และกว่าที่งบประมาณจะออกมา หรือ นโยบายออกมาชัดเจน คาดเดือน ต.ค. และกว่าจะทราบว่านโยบายที่ออกมาจะเอื้อกับเศรษฐกิจ หรือ ตลาดหุ้น หรือไม่นั้น กว่าทุกอย่างน่าจะชัดเจนคาดว่าน่าจะเห็นในช่วงปลายปีนี้

หากเป็นภาพแบบนี้ส่วนตัวคิดว่าตลาดหุ้นไทยคงปิดประตูการแรลลี่ คงไม่เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นวิธีการคืออาจจะต้องเล่นในเชิง Sideway (ไซด์เวย์) อีกสักระยะหนึ่ง เล่นแบบลงซื้อ-ขึ้นขาย โดยกลุ่มที่น่าสนใจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับประเทศจีน เพราะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าจีนเริ่มใช้นโยบายทางการเงิน โดยการอัดสภาพคล่องช่วยเษรษฐกิจ เช่น การลดดอกเบี้ย เป็นต้น แต่กว่าจะเห็นผลอาจจะช้า ต้องใช้เวลา ดังนั้นสิ่งที่ตลาดอยากเห็นคือ นโยบายการคลัง เพราะสามารถโยนไปในจุดที่อยากจะให้วิ่งได้ เช่น การกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการฉีดยาตรงจุด 

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่าจีนกำลังพยายามเรียกเศรษฐกิจกลับมา ซึ่งเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นหลังจากที่จีนเปิดตัวแผนลดหย่อนภาษี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์พลังงานใหม่(NEV) มูลค่า 5.2 แสนล้านหยวน (7.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายนโยบายยกเว้นภาษีการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ไปจนถึงสิ้นปี 2570

โดยยกเว้นการเก็บภาษีซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ที่ซื้อในปี 2567-2568 ซึ่งยานยนต์แต่ละคันจะได้รับการยกเว้นภาษีสูงสุด 3 หมื่นหยวน (ราว 1.45 แสนบาท) ส่วนยานยนต์พลังงานใหม่ที่ซื้อในปี 2569-2570 จะได้รับการลดภาษีซื้อครึ่งหนึ่ง สูงสุด 1.5 หมื่นหยวน (ราว 7.2 หมื่นบาท) เป็นต้น

นี่บ่งบอกว่าจีนอยู่ในโหมดกระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางประเทศอื่น อย่าง อังกฤษ หรือ อเมริกา ที่อยู่ในโหมดต่อสู้เงินเฟ้อ  

 

โฟกัสหุ้นรับอานิสงส์จีน

ดังนั้นในช่วงเรากำลังมีความเสี่ยงจากของเรื่อง Recession ที่กดอยู่ในช่วงปลายปีในฝั่งอเมริกา การเมืองไทยที่ยังไม่ชัดและสาระพัดสิ่งที่ปกคลุมแบบนี้ มันจะกดดันการขึ้นของตลาดหุ้น แต่หุ้นที่เกี่ยวกับจีนที่กำลังกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้จะเป็นตัวเล่นในช่วงครึ่งปีหลังที่น่าสนใจ 

แม้ภาพใหญ่ตลาดยังคงไซด์เวย์ แต่ยังมีหุ้นที่สามารถซื้อเก็งกำไรได้ มอง 3 กลุ่มที่น่าสนใจ คือ 1.กลุ่มหุ้นปิโตรเคมี เทรด P/BV ถูกมาก เพียง 0.6-0.7 เท่า ซึ่งจะสังเกตว่าช่วงที่หุ้นลงแรงแต่ปิโตรฯไม่ลง ยังสู้ตลาดได้ ถือว่าน่าสนใจ หุ้นที่น่าสนใจ คือ หุ้น IVL โดย  IAA Consensus ให้ราคาเป้าหมาย 41.67 บาท และ หุ้น PTTGC โดย  IAA Consensus ให้ราคาเป้าหมาย 47.73 บาท

2.กลุ่มเรือ เพราะจีนเป็นประเทศที่ใช้เรือในการขนส่งสินค้าและนำเข้าวัตถุดิบ พวกเรือเทกอง หรือเรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ น่าจะเล่นได้ สำหรับหุ้นเรือที่น่าสนใจ คือ หุ้น PSL โดย  IAA Consensus ให้ราคาเป้าหมาย 14.35 บาท 

และ 3.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จีนกระตุ้นเรื่อง EV ช่วยให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) กลับมาคึกคัก ดังนั้นหุ้นที่น่าสนใจ คือ หุ้น KCE ฝ่ายวิเคราะห์แนะนำถือ ให้ราคาเป้าหมาย 38 บาท มองรายได้ 60-70% อิงกับกลุ่มยานยนต์ที่มีความอ่อนไหวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้สะท้อนที่ผลกําไร และราคาหุ้นไปแล้ว

ฝ่ายฯเชื่อว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะลดผลกระทบนี้ลงได้เพียงแต่ต้องรอพ้นไตรมาส 2/66 ไปก่อน เพื่อเช็คดูว่าทุกอย่างจะฟื้นตัวได้หรือไม่จึงจะเป็นช่วงเวลาเหมาะสมสําหรับลงทุนรอบใหม่ หากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวอย่างที่คาด กําลังการผลิตเดิมก็เพียงพอรองรับคําสั่งซื้อได้ และมีกําลังการผลิตใหม่รออยู่อีกด้วยอาจได้เห็นช่วงเวลาที่ดีคล้ายวัฏจักรปี 2016 และ 2021ได้ระหว่างนี้เทรดเล่นรอบไปก่อนได้

นอกจากนี้ ยังมีหุ้น HANA ให้ราคาเป้าหมาย 49.75 บาท ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองว่าแม้กําไรปีนี้จะหดตัว แต่คาดกําลังผ่านช่วงตํ่าสุดในครึ่งปีแรก และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะดีขึ้นจากเข้าสู่ high season อีกทั้งจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 72.3 พันล้านเหรียญในระยะเวลา 4 ปี ข้างหน้าเพื่อกระตุ้นยอดขายรถ EV มองจะเป็นบวกต่อธุรกิจของ HANA ในจีน และสินค้ากลุ่ม SIC ใหม่ของบริษัท

แต่ราคาหุ้นอาจได้รับผลกระทบจากแผนการเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการคาดจะเกิดในครึ่งปีหลังนี้ อย่างไรก็ตาม valuation ของบริษัทถือว่าที่ถูกสุดในกลุ่ม และยังได้ผลบวกเต็มๆจากเงินบาทที่เริ่มกลับมาอ่อนค่า ราคาแถวนี้ นักลงทุนระยะกลาง-ยาวทยอยสะสมได้ เพื่อรอการฟื้นตัวรอบใหม่

"หุ้นทั้ง 3 กลุ่มที่ยกมาจะเห็นว่าเทรดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน อยู่โซนด้านล่าง Valuationไม่แพง เวลาเทรดไม่เจ็บเยอะ ยังพอเล่นแก้ขัดช่วงที่รอความชัดเจนได้ แต่อย่างที่บอกว่าเล่นได้ไม่ไกลเพราะภาพใหญ่ยังโดนกดดันจาก Recession ที่สำคัญงบไตรมาส 2/66 ยังไม่ค่อยดี เล่นเก็งกำไรสั้นๆ"