posttoday

TRUE พลิกขาดทุนไตรมาสแรก 492 ล้าน เหตุ EBITDA ลด-ค่าเสื่อมราคาพุ่ง

11 พฤษภาคม 2566

TRUE แจ้งงบไตรมาส 1/66 พลิกขาดทุนสุทธิ 492 ล้านบาท เหตุ EBITDA ลดลง-ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงขึ้น คาดปี 66 รายได้จากการให้บริการทรงตัว วางงบลงทุน 25,000-30,000 ล้านบาท ผลักดันการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการควบรวม ผ่านการขายพ่วงและขายเพิ่ม สร้างการเติบโตยั่งยืน

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 492 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,422 ล้านบาท เป็นผลจาก EBITDA ที่ลดลง และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้อานิสงส์จากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกัน

ทั้งนี้ บริษัทมี EBITDA ในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 19,452 ล้านบาท ลดลง 8.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ตามการอ่อนตัวของรายได้จากการให้บริการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 10.1% จากไตรมาสก่อน จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการเจรจาทางสัญญาในไตรมาส 4/2565 และการบรรลุข้อตกลงในเชิงบวกในไตรมาส 1/2566 ของข้อพิพาททางกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ มาตรการมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทยังคงส่งผลเชิงบวกต่อ EBITDA อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม ยังคงแข็งแกร่งที่ 37.8% 

ขณะที่ในไตรมาส 1/2566 งบการเงินเสมือนแสดงรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 51,463 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากไตรมาสก่อน และลดลง 6.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากรายได้จากการขายและรายได้จากการให้บริการที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 10.3% จากไตรมาสก่อน และลดลง 5.2% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แม้อัตราเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

โดยรายได้จากการให้บริการตามงบการเงินเสมือนในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 38,985 ล้านบาท ลดลง 1.8% ไตรมาสก่อน และลดลง 2% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน มีสาเหตุมาจากรายได้จากการให้บริการที่ลดลงจากธุรกิจโทรศัทพ์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์ 

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 0.7 ล้านราย เป็น 50.5 ล้านราย หรือเติบโต 1.4% จากไตรมาสก่อน ผู้ใช้บริการระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านราย เป็น 34.7 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 2.1% จากไตรมาสก่อน ตามการไหลกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยว ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบรายเดือนเป็น 15.7 ล้านราย ลดลง 0.02 ล้านราย จากไตรมาสก่อน โดยผู้ใช้บริการ 5G เป็น 6.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน พร้อมการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ ARPU ที่สูงกว่าถึง 10-15% 

ผู้ใช้บริการในธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสก่อน เป็น 3.8 ล้านราย ในขณะที่ ARPU ลดลง 1.3% เป็น 451 บาทต่อเดือน ท่ามกลางการแข่งขันในตลาด ส่วนสมาชิกโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ลดลง 2.7% เป็น 1.4 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ARPU ปรับตัวดีขึ้น 2.1% เป็น 279 บาทต่อเดือน จากกลยุทธ์การขายเพิ่มและขายพ่วงให้แก่ลูกค้า

สำหรับภาพรวมปี 2566 (ระยะเวลา 10 เดือนของปี 66 นับจากวันที่มีการควบรว) คาดรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่าย ทรงตัว และ EBITDA ทรงตัว หรือลดลงด้วยตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ รวมทั้งวางงบลงทุน ประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท 

บริษัทจะยังคงผลักดันการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการควบรวม (Revenue Synergies) ผ่านการขายพ่วงและขายเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็ยังจะดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้าง Synergies ที่เกิดจากการควบรวมให้ได้ตามที่คาดหวังไว้เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม Guidance สำหรับปีนี้ยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลังเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจของบริษัท และการดำเนินงานหลังการควบรวม