posttoday

FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนทรงตัว หวังเลือกตั้ง-เฟดชะลอขึ้น ดบ.หนุน

10 เมษายน 2566

FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนระยะ 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลง 21% สู่เกณฑ์ "ทรงตัว" หลังนักลงทุนกังวลวิกฤตธนาคารสหรัฐ-ยุโรปปิดตัว หวังเลือกตั้ง และเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย หนุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2566) อยู่ที่ระดับ 95.65 ปรับตัวลดลง 21.0% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”

FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนทรงตัว หวังเลือกตั้ง-เฟดชะลอขึ้น ดบ.หนุน

โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล ปรับลด 7.9% อยู่ที่ระดับ 112.07 และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับลด  20.0% อยู่ที่ระดับ 100.00 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ส่วนกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ปรับเพิ่มขึ้น 21.9% อยู่ที่ระดับ 131.25 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ปรับลด 38.6% อยู่ที่ระดับ 75.00 อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”

ทั้งนี้ ในเดือนที่ผ่านมา SET index มีความผันผวนจากวิกฤตธนาคารจากการปิดตัวธนาคารสหรัฐและยุโรป นักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งในประเทศ จะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว 

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการไหลออกของเงินทุน รองลงมา คือ แนวทางนโยบายการเงินของ FED เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และสถานการณ์ส่งออกที่ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) 

SET Index ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคม 2566 มีความผันผวนโดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนหลังเกิดวิกฤติธนาคาร จากข่าวการปิดตัวของธนาคารสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ธนาคาร Silicon Valley (SVB) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการระดมทุนของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ และธนาคาร Credit Suisse (CS) ซึ่งประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนทางการสวิตเซอร์แลนด์ด้องเจรจาให้ขายกิจการ CS ให้แก่ธนาคาร UBS ส่งผลให้กลุ่มธนาคารทั่วโลกปรับตัวลดลง รวมถึงความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED เพื่อสกัดเงินเฟ้อ  

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังแนวโน้มวิกฤติธนาคารเริ่มคลี่คลาย การที่ FED ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยปรับขึ้นเพียง 0.25%  และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไทย 0.25% อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองไทยมีความชัดเจนหลังจากที่กกต.ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ  

ด้านปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบของวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปหากลุกลาม แนวโน้มทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลาย 

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง และสถานการณ์การส่งออกที่หดตัวลงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า