posttoday

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. คนที่ 9 เตรียมอำลาเก้าอี้ 30 เม.ย. 66 นี้

03 กุมภาพันธ์ 2566

เปิดประวัติ "รื่นวดี สุวรรณมงคล" หลังที่ประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสียง 6:4 ไม่ต่ออายุงานขในตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต. ที่จะครบวาระในวันที่ 30 เม.ย. 2566

หลังจากที่ข่าวออกมาว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  เสียง 6:4 ไม่ต่ออายุงานของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ในตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต. ที่จะครบวาระในวันที่ 30 เม.ย. 2566 โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. 10 ราย ไม่นับรวมตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งมูลเหตุการไม่ต่ออายุการทำงานของ “รื่นวดี” ในตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. อีกวาระ ( 4 ปี ) มาจากปัญหาความขัดแย้งใน ก.ล.ต.ระหว่างกรรมการ กับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ทางความคิด และจุดยืนในการทำงานระหว่างเลขาธิการกับกรรมการ ใน 3 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน คือ

 

1.จุดยืน และความสัมพันธ์ของคนในเรื่องการปิดบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 24 ราย บัญชีทรัพย์สิน 30 รายการ มูลค่าราว 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้พัวพันไปถึง เส้นทางการเงินในอดีต และการโอนเงินในกลุ่มครอบครัวของผู้บริหาร และครอบครัวของผู้ถือหุ้น

 

2.เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและคาราคาซังมาจากคำสั่งของ ก.ล.ต.ในกรณีของกลุ่ม BITKUB ที่มีปัญหาเรื่องระบบปฏิบัติการ การให้บริการ การสร้างปริมาณเทียมราคาเหรียญ จนนำมาซึ่งคำสั่งเปรียบเทียบปรับ เรื่องคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่นำเข้ามาซื้อขายในกระดานสินทรัพย์ดิจิทัล

 

3.ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจาก ซิปเม็กซ์ ที่ประกาศระงับธุรกรรมการถอนคริปโทเคอร์เรนซี และเงินบาท จนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาทเศษและปัจจุบันยังจ่ายเงินคืนให้นักลงทุนไม่ได้

 

หากย้อนกลับไปดูเส้นทางในการเข้ามารับตำแหน่ง “เลขาธิการ ก.ล.ต.” ของ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการกิจการและการดำเนินงานของสำนักงาน ก.ล.ต.ให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของสำนังาน ก.ล.ต. ตลอดจนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และหลักธรรมาภิบาลที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด

 

สำหรับประวัติของ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2507 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย (นบ.ท.) สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (LL.M.) Harvard Law School, the United States of America ,  บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.) Walter A. Haas School of Business, University of California, Berkeley, the United States of America และนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ทางด้านประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เคยทำงานอยู่กับสำนักงาน ก.ล.ต. เคยเป็นยอธิบดีกรมคุมประพฤติ, ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม, รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, ช่วยปฏิบัติราชการทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

ในส่วนของผลงาน และ เกียรติประวัติ ประกอบไปด้วย บุคคลตัวอย่าง “คนไทย ตื่นรู้สู้โกง" องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 2561 , สตรีนักบริหารดีเด่น สาขาสตรีผู้บริหารภาคราชการดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2560 กระทรวงแรงงาน , สตรีผู้มีบุคลิกดีเด่น ปี 2559 สมาคมส่งเสริมบุคลิกสตรี , นักเรียนเก่าดีเด่น สมาคมนักเรียนเก่าราชินี ในพระบรมราชินูปถัมภ์ , รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น 2020 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

 

อย่างไรก็ตามในขณะที่ “รื่นวดี” ยังดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้เคยให้เป้าหมายใหญ่และหวังอยากให้เกิดขึ้น คือการขับเคลื่อน "แผนพัฒนาตลาดทุนไทย" เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็น "Capital Market for All" อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นหมายถึงความหวังที่อยากเห็นประโยชน์และการเข้าถึงตลาดทุนเกิดกับประชาชน SMEs Startup และผู้ลงทุนรายย่อย จะเป็นจริงเร็วขึ้น

 

ทั้งนี้มีรายงานข่าวระบุว่า บุคคลผู้ที่จะมาเป็น เลขาธิการ ก.ล.ต. คนต่อไป คือ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นลูกหม้อของแบงก์ชาติมากว่า 30 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี Economics and Mathematics Saint Olaf College สหรัฐอเมริกา ปริญญาโท Finance, Investment and Banking มหาวิทยาลัย University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา และ Chartered Financial Analyst (CFA)

 

แม้ นายรณดล  เรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เติบโตในสายงานกำกับสถาบันการเงิน โดยเริ่มงานกับ ธปท. ในหน่วยงานวิเคราะห์ฝ่ายการธนาคาร ทำงานวิเคราะห์ตลาดเงินและความเคลื่อนไหวของตลาดมาก่อน นอกจากนี้ “รณดล” ยังมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนธนาคารที่นครนิวยอร์กด้วย แล้วได้รับโอกาสให้ไปดูแลด้านบริหารเงินสำรอง จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ได้รับมอบหมายให้มาทำงานด้านการกำกับสถาบันการเงิน และเป็นสายงานหลักที่ดูแลมาถึงปัจจุบัน

 

หลังจากนี้คงต้องจับตากันต่อไปว่า ทาง ก.ล.ต. จะมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนออกมาอีกเมื่อไร !!!