posttoday

กรุงศรีฯส่องเงินบาทปีหน้าแข็งขึ้นราว 5% มองยืนที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี

29 ธันวาคม 2566

Krungsri Global Markets ส่องเงินบาทปีหน้าเทียบ 4 สกุลหลัก แข็งค่าขึ้นราว 5% คาดยืนที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี จากดอกเบี้ย FED และ ECB จบช่วงขาขึ้นสูงสุดในปี 66 แล้ว

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ถึงทิศทางค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ปีใน 2567 ว่า มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นราว 5% โดยให้เป้าหมายสิ้นปี 2567 ไว้ที่บริเวณ 33.50 บาท/ดอลลาร์

โดยปัจจัยชี้นำสำคัญมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักส่วนใหญ่ นำโดย ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แตะจุดสูงสุดของวัฎจักรแล้วในปี 2566 และคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินโลกในระยะถัดไปจะเริ่มปรับน้ำหนักไปที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลภาวะเงินเฟ้อ 

มองว่า FED จะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกช่วงกลางปี 2567 และลดครั้งละ 0.25% ทุกรอบประชุมหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี แม้มองเงินบาทแข็งค่าขึ้นบนพื้นฐานของทิศทางการเข้าสู่รอบลดดอกเบี้ยของเฟด และการที่ข่าวร้ายเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนถูกสะท้อนอยู่ในราคามากพอสมควรแล้ว แต่ค่าเงินบาทจะยังคงเหวี่ยงตัวในกรอบกว้าง และบรรยากาศการลงทุนสามารถพลิกผันอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแกนหลัก ซึ่งเป็นผลของการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินตลอดสองปีที่ผ่านมา อาจทำให้ภาวะการค้าโลกและเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯไม่สดใสนัก 

นางสาวรุ่งยังเปิดเผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทอีกว่า ช่วงขาลงของการลดดอกเบี้ยจะไม่เร็วและแรงเท่ากับขาขึ้น เนื่องจากว่าเป็นการลดสอดคล้องไปกับการชะลอตัวตามวัฎจักรของเศรษฐกิจ (Soft Landing) ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯคลายตัวลง

โดยในการประชุม FED เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ PCE พื้นฐานปี 2567 เหลือ 2.4% จาก 2.6% โดยหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงแผ่วลงต่อเนื่อง ประมาณการดังกล่าวอาจจะดูไม่สมเหตุสมผล ทำให้การลดดอกเบี้ยลงสามครั้ง ตาม Dot Plot ในปีหน้าอาจน้อยเกินไป

ทางด้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังขาดความชัดเจนแม้ว่าปี 2566 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ (รวมตราสารหนี้ภาครัฐครบอายุ) มากถึง 1.95 แสนล้านบาท และ 1.50 แสนล้านบาท ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 66) ซึ่งย่ำแย่กว่าตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยแนวโน้มอาจกระเตื้องขึ้นบ้างหากนโยบายภาครัฐชัดเจนมากขึ้น 

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าไทยจะพลิกกลับมาเกินดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 7.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 เทียบกับการขาดดุล 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 แต่ยอมรับว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในแง่รายรับ ถือว่ายังไม่เต็มที่นัก (11 เดือนแรกของปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 68% ของระดับก่อนโควิด ขณะที่ใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 60%) 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนหลากหลายมิติทั้งที่ยืดเยื้อและอาจปะทุขึ้นใหม่ อาทิ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนที่ต้องใช้เวลาแก้ไข และค่าความเสี่ยงจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ และน้ำมันดิบ ซึ่งเพิ่มความผันผวนให้กับค่าเงินบาท

สำหรับมุมมองต่อสกุลเงินยูโรนั้น นางสาวรุ่งกล่าวว่าค่าเงินยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่อ่อนลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินบาท ที่ให้กรอบ 37.00-38.75 บาทต่อยูโร โดยนักลงทุนคาดการณ์เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยไปไกลกว่า Dot Plot ที่ FED ให้ไว้พอสมควรแล้ว อีกทั้ง ECB มีแนวโน้มยุติการใช้นโยบายตึงตัวเช่นกันท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเปราะบางในยูโรโซน

ด้านความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินหยวนนั้น มองว่าแนวโน้มเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับค่าเงินบาท โดย กรุงศรี Global Markets มีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) จึงให้กรอบไว้ที่ 4.80-4.90 บาทต่อหยวน คาดหวังการฟื้นตัวตามวัฎจักรจากมาตรการประคองเศรษฐกิจของทางการจีน

นางสาวรุ่งได้ให้มุมมองต่อสกุลเงินเยนเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสกลุลเงินหลักทั้งหลายนั้น เชื่อว่าเงินเยนจะปรับตัวโดดเด่นที่สุด หลังค่าเงินเยนร่วงลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่วิกฤติเงินเฟ้อโลก โดยประเด็นสนับสนุนเงินเยนในปี 2567 ได้แก่ ความแตกต่างระหว่างนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กับธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลกจะแคบลง ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติและยุติการใช้ดอกเบี้ยติดลบ ดังนั้นจึงให้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่  0.2370-0.2620 บาทต่อเยน

ความเสี่ยงของประมาณการอัตราแลกเปลี่ยนของเรา ได้แก่ กรณีสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง นักลงทุนจะหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงและกลับเข้าถือครองเงินดอลลาร์ หรือกรณีที่เงินเฟ้อสหรัฐฯลดลงช้ากว่าคาด ทำให้ FED คงดอกเบี้ยนานกว่าที่เราประเมินไว้ รวมถึงกรณีเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ซบเซาเกินคาด

กรุงศรีฯส่องเงินบาทปีหน้าแข็งขึ้นราว 5% มองยืนที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี