posttoday

หมัดต่อหมัดนักวิชาการVSฝั่งรัฐบาลโต้เสียงค้านเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท

11 ตุลาคม 2566

กางข้อโต้แย้งของกลุ่มนักวิชาการเทียบคำตอบฝั่งรัฐบาลต่อประเด็นต่าง ๆ ที่ล่าสุดก.คลังยังยืนยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อ แม้มีเสียงค้าน

ตามที่ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงชื่อร่วมกับอดีตคณบดี และคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวม 99 คน ส่งแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” เพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยได้ยกเหตุผลสำคัญได้แก่

เนื่องด้วยเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว ซึ่งสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 67 จึงไม่จำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

อีกทั้ง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ จึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า อีกทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศยังอาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นอีก และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

ขณะที่ด้านงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ โดยเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริหารจัดการน้ำ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

นอกจากนี้ กลุ่มนักวิชาการยังให้เหตุผลอีกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะ ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของรัฐ

ดังนั้นการที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้น เศรษฐกิจ จึงเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเงินเฟ้อจากการเพิ่มปริมาณเงิน

จากประเด็นดังกล่าว ได้มีฟากฝั่งรัฐบาล ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงบรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทยออกโรงมาตอบโต้และชี้แจงกันถ้วนหน้า 

อาทิกรณีการโพสต์ผ่าน Facebook กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong โดยนายกิตติรัตน์ได้ตอบ 2 คำถามเกี่ยวกับนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล ดังนี้

1. “เงินดิจิทัล” จะสร้างเงินเฟ้อไหม ?

ไม่มีใครสั่งให้ธนาคารกลาง พิมพ์เงินใหม่มาใส่ระบบ แต่ “เงินดิจิทัล” ทุกบาท จะมาจากรายได้ของรัฐบาลเอง
“อุปสงค์ (Demand)” ที่เพิ่มจากโครงการ ย่อมเพิ่มปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่เป็นเหตุให้ “ราคาเฟ้อ” เพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่เพียงประมาณ 60% … อุปทาน (Supply) ย่อมเพิ่มได้โดยราคาไม่ขยับ และเมื่อผลิตเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตถูกลงอีก ถ้าไม่ลดราคา รัฐบาลขอเก็บภาษีจากกำไรที่สูงขึ้น

2. ทำไมไม่ให้เป็น “เงินสด” มีอะไรแอบแฝงรึเปล่า ?
“เงินสด” ใช้ซื้อ “สิ่งดี” ได้ และ ใช้ซื้อ “สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด” ก็ได้
เงิน “ดิจิทัล” ที่มีค่าเท่ากัน บาทต่อบาท ใช้ซื้อ “สิ่งไม่ดี/สิ่งผิด” ไม่ได้ ; ใช้ไม่หมดตามกำหนด แสดงว่าไม่จำเป็นนัก ก็ยกเลิกการให้ได้

ทั้งนี้สามารถสรุปประเด็นสำคัญของการคัดค้านและการโต้ตอบ เกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นล้านได้ตามนี้ 

หมัดต่อหมัดกลุ่มนักวิชาการ VS รัฐบาล

สุดท้ายแล้ว จะมีฝั่งนักวิชาการหรือกูรูเศรษฐศาสตร์ออกมาคัดง้างในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทอีกหรือไม่ เช่นเดียวกับท่าทีของรัฐบาลจากนี้ว่าจะเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายที่หาเสียงไว้ในเร็ววันแค่ไหนและเป็นอย่างไร ก็ต้องจับตามองกันต่อไป