posttoday

กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ด้วยเศรษฐกิจขยายตัวดีเสี่ยงเงินเฟ้อโต

31 พฤษภาคม 2566

กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ยกมือเอกฉันท์ มองเศรษฐกิจขยายตัวดีเสี่ยงเงินเฟ้อโตได้ จากท่องเที่ยวฟื้นดีกว่าคาด เผยแม้ภาพครม. ยังไม่ชัด แต่ได้ประเมินนโยบายเศรษฐกิจของพรรคต่าง ๆ แล้ว ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยส่งผ่านไปยัง MRR ถึง 60% แต่ถือว่าปกติ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นดีกว่าคาดและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงแต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน

ดังนั้น เห็นว่าการที่ กนง ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงานและเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป 

สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้มีการส่งผ่านสู่อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ในระดับที่ใกล้เคียงกับในอดีต ซึ่งส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) สูงถึง 60% แต่ในส่วนอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate: MLR) มีอัตราการส่งผ่านน้อยกว่าอยู่ที่ 40% ส่วนสินเชื่อผู้บริโภครายย่อยที่มีอัตราคงที่ประมาณ 60% ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะไม่สามารถรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นมองว่านโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่น่าจะกระทบมาก

ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงนั้น มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายและคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป จึงต้องติดตามพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการที่อาจเปลี่ยนไป

นายปิติกล่าวอีกว่า ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวชัดเจน แม้ภาคการส่งออกอาจติดลบ แต่มองว่าครึ่งปีหลังจะฟื้นได้ ด้วยแรงส่งสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว เพราะตัวเลขมากกว่าคาดไว้ จึงปรับประมาณการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวใหม่เป็น 29 คนในปีนี้ โดยเฉพาะมาจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าที่มองไว้ เช่น มาเลเซีย ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง

"แม้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายแล้ว จากที่ฐานปีก่อนที่สูงและมาตรการปรับค่าไฟฟ้า อีกทั้งมองว่าต่อไปจะยิ่งปรับลงกว่านี้อีก แต่คณะกรรมการฯ ยังต้องเฝ้าระวังว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงจะคงอยู่ในระยะเวลานานแค่ไหน เช่นเดียวกับต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมการขึ้นราคา และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ว่าจะส่งผลกับเงินเฟ้อหรือไม่อย่างไรด้วย"

สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง จากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

"การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้กระทบต่อกลุ่มเปราะบางมากนัก เพราะมองว่ากลุ่มนี้มีปัญหาอื่น ๆ ที่หนักกว่าเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่ ดังนั้นแบงก์ต้องแน่ใจว่าการปล่อยกู้ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบแล้ว"

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ที่ปรับอ่อนค่า ส่วนหนึ่งเป็นไปตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินหยวน รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ซึ่งยังต้องติดตามพัฒนาการ และความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

สรุปแล้ว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อด้านสูง จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
ในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

นายปิติ กล่าวอีกว่า กนง. ได้มีการประเมินนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าจะมีผลกระทบต่อด้านอุปสงค์และอุปทานอย่างไร แต่ด้วยความชัดเจนยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่แน่นอนว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล จึงดูเพียงว่านโยบายแต่ละพรรคจะกระทบต่อเศรษฐกิจในจุดไหน ในบริบทใดบ้างเท่านั้น อีกทั้งมองว่าความเสี่ยงจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าหรือเป็นสุญญากาศหรือไม่นั้น ไม่ได้มองว่ามีอะไรผิดปกติ

"หากตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย จะเห็นการลงทุนเพิ่มและมาตรการภาครัฐมากระตุ้นการบริโภคในประเทศ แต่เชื่อว่าจะส่งผลในปีหน้ามากกว่าปีนี้"