posttoday

จับตาแบงก์ชาติวางแนวทางคุมเข้ม Virtual Bank ก่อนเปิดบริการปี 2568

13 มกราคม 2566

หลัง AIS และธนาคารกรุงไทย จับมือจุดกระแสเปิด Virtual Bank แต่เพื่อให้ธนาคารไร้สาขาในไทยเติบโตยั่งยืนและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้จริง ธปท. จึงเริ่มวางแนวทางจัดตั้งและวางเกณฑ์คัดเลือกผู้ให้บริการแบบเข้มข้นจนอาจเหลือแบงก์พร้อมกดปุ่มให้บริการเพียง 3 ราย ในปี 2568

กำลังเป็นกระแสในวงการสถาบันการเงินและแวดวงโทรคมนาคม เมื่อ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ได้เซ็นสัญญาร่วมกันกับธนาคารกรุงไทยเพื่อร่วมกันจัดตั้ง Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยว่ามีผู้สนใจกว่า 10 ราย โดยเปิดทางให้ทั้งสถาบันการเงิน และ Non-Bank ทั้งไทยและต่างชาติเข้ามา เพียงแต่ต้องถือหุ้นในสัดส่วน 49%  แต่ ธปท.จะคัดเลือกอย่างเข้มข้นให้เหลือเพียง 3 ราย เพื่อให้ Virtual Bank เติบโตอย่างยั่งยื่น โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2568

 

นิยาม Virtual Bank


Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลายมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ด้วยต้นทุนด้านพนักงาน อาคารและสถานที่ที่ลดลง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและครบวงจรขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ 

 

ทั้งนี้เพื่อให้ Virtual Bank ที่จะเปิดให้บริการสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible innovation) และประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหรือใช้อำนาจตลาดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง จนกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้ฝากเงิน และผู้บริโภคในวงกว้างนั้น ธปท. ได้กำหนดแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ดังนี้ 

 

(1) ให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้ 

 

(2) ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม อาทิ มีรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์เป้าหมายข้างต้นได้อย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย 

 

(3) ให้ Virtual Bank ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture) รวมถึงความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบ IT ประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และความเหมาะสมของการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก

 

(4) ให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (phasing) เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้แจ้งเกิด Virtual Bank ได้ตามวัตถุประสงค์ข้างต้นและตอบโจทย์ความต้องการของภาคการเงินอย่างแท้จริง ธปท. จึงจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล [email protected] ซึ่ง ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาประกอบการจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ต่อไป 

 

โดยธปท.ได้กำหนดรูปแบบของ Virtual Bank ในประเทศไทย 5 ข้อ ได้แก่ 1.จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย 2. ให้บริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบโดยเน้นรายย่อยและเอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างพอเพียงและเหมาะสม 3.ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ไม่มีสาขาของตนเอง 4.ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายเพื่อพัฒนา/ให้บริการทางการเงิน และ 5.มีธรรมาภิบาล สามารถบริหารความเสี่ยง และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้

 

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank  มี 7 ข้อ ได้แก่  1. มีแผนธุรกิจตอบโจทย์ความยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาปิดบริษัท ดังนั้นในช่วง 3-5 ปีแรก ธปท.จะดูแลแผนการทำธุรกิจอย่างใกล้ชิดว่าทำได้หรือไม่  2.มีธรรมาภิบาลทั้งในส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ และผู้บริหารระดับสูง 

 

3.มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์อันดีแก่ลูกค้า 4.มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น คล่องตัว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว 5.มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ 6. มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม และ 7.มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้การดำเนินกิจการของ Virtual Bank ในช่วงระยะเวลา 3–5 ปีแรก ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดย ธปท. จะสื่อสารและติดตามการดำเนินธุรกิจของ Virtual Bank อย่างใกล้ชิด ซึ่งหาก ธปท. เห็นว่า Virtual Bank ไม่มีความพร้อม เพียงพอในการให้บริการหรือดำเนินธุรกิจ หรือธุรกรรมที่ Virtual Bank จะดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างดำเนินการอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของ Virtual Bank ระบบการเงิน หรือผู้บริโภคในวงกว้าง

 

ทาง ธปท. อาจพิจารณาสั่งการให้แก้ไขหรือ กำหนดให้ Virtual Bank ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในกรณีที่ Virtual Bank ผ่านการประเมิน จะสามารถออกจาก phasing เพื่อเข้าสู่การ ดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ (full-functioning) ได้แต่ในกรณีที่ไม่ผ่านการประเมินในช่วง phasing ธปท. อาจพิจารณาให้เลิกกิจการและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้ 

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสถานะที่แข็งแร่ง จึงกำหนดให้ Virtual Bank ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิดดำเนินการ และทยอยเพิ่มทุนให้มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าสู่การดำเนินธุรกิจแบบ full-functioning รวมถึงให้ Virtual Bank มีเงินทุนเพียงพอรองรับการขยายกิจการและการดาเนินงานที่ อาจมีผลขาดทุนในช่วงเริ่มต้น 

 

ทั้งนี้ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องจัดทำแผนรองรับกรณีเลิกกิจการ (exit plan) เพื่อรองรับกรณีที่ต้องเลิกกิจการในช่วง phasing โดยจะต้องมีกระบวนการ ดูแลผู้มีส่วนได้เสียของ Virtual Bank โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากเงินได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์


เปิดไทม์ไลน์ตั้ง Virtual Bank  

 

ด้านกรอบเวลา หรือ ไทม์ไลน์ในการจัดตั้ง Virtual Bank นั้น  ทาง ธปท. เริ่มจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank  วันที่ 12 ม.ค.-12 ก.พ. 2565 จากนั้นจะประกาศหลักเกณฑ์และเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเปิด Virtual Bank  ช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2566 โดยเปิดรับสมัครภายใน 6 เดือน 

 

จากนั้น ธปท.จะดำเนินการคัดเลือกผู้เหมาะสมเหลือเพียง 3 ราย โดยใช้เวลา 6 เดือน เพื่อส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่ออีก 3 เดือน คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบจัดตั้ง Virtual Bank  ภายในไตรมาส 2 ของปี 2567 ซึ่งก่อนที่จะเปิดให้บริการผู้ได้รับใบอนุญาตต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ 1 ปี ดังนั้นจึงคาดว่า Virtual Bank  จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568
 

ส่องผลศึกษา Virtual Bank  เกาหลีใต้


อย่างไรก็ตาม ธปท.ใช้รูปแบบการจัดตั้ง Virtual Bank อ้างอิงจากผลการศึกษาของเกาหลีใต้ จากข้อมูลการวิเคราะห์ของ กิตติมา สัตยพันธ์ CFA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ระบุว่า ในปี 2558 เกาหลีใต้เริ่มออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการธนาคารดิจิทัล เพื่อมุ่งเพิ่มการแข่งขันในระบบการเงิน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในปี 2560

 

โดยมีผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัล 2 แห่ง ที่ขอใบอนุญาต นั่นก็คือ 1. K Bank ของบริษัท KT Corporation บริษัทเทเลคอมที่ใหญ่สุดในเกาหลีใต้และ 2.KakaoBank ของบริษัท Kakao ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันแชทอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ และในปี 2564 Toss Bank เพิ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลรายที่ 3 ของเกาหลีใต้ 

 

สำหรับเกาหลีใต้มีธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่ง นั่นก็คือ Kookmin Bank, Shinhan Bank, Hana Bank และ Woori Bank ที่ยังเป็นผู้นำด้านการให้สินเชื่อ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่คนละ 20-30% และมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% ต่อปี 

 

แต่ธนาคารดั้งเดิมเหล่านี้กำลังเผชิญการแข่งขันที่ท้าทายจากธนาคารดิจิทัล โดยเฉพาะผู้นำอย่าง KakaoBank ที่ธุรกิจสินเชื่อมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง  60-70% ต่อปี จนมีส่วนแบ่งการตลาดไล่ตามมาเป็น 14% ซึ่งถ้ายังเติบโตด้วยอัตรานี้ Kakao Bank จะมีจำนวนลูกค้ากว่า 19.2 ล้านคน 

 

ทั้งนี้ พบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ Kakao Bank ประสบความสำเร็จ คือ การมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจาก Kakao Talk (แชทแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้) ซึ่งมีฐานลูกค้าจากแอปพลิเคชันแชท KakaoTalk ราว 40 ล้านบัญชี

 

เหตุที่ทำให้ Kakao Bank รุ่งในเส้นทาง Virtual Bank ก็ด้วย มี KakaoPay ซึ่งเป็นบริการชำระเงินเชื่อมกับแอปพลิเคชันแชทที่ได้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2557 และได้รับความนิยมสูงมากอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ใช้งาน KakaoBank สามารถโอนเงินระหว่างบัญชี KakaoTalk ได้เลย  

 

นอกจากนี้ ธนาคารดิจิทัลได้เปรียบธนาคารแบบดั้งเดิมในเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่า จากการที่ไม่มีต้นทุนบริหารจัดการหน้าสาขา ทำให้ไม่ต้องจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งด้วยความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนนี้ จึงทำให้ KakaoBank คิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าและให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ 

 

รวมถึงยังให้บริการด้านอื่น ๆ แบบไม่คิดค่าธรรมเนียม ได้มากกว่าธนาคารแบบดั้งเดิม  เช่น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อไมโครของธนาคารดั้งเดิมจะอยู่ที่ 6-19% แต่ KakaoBank คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อไมโครเพียง 3% ซึ่งถูกกว่าธนาคารดั้งเดิมมากกว่าครึ่ง 

 

ในแง่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และการออกแบบ User interface ที่น่าดึงดูดและใช้งานง่าย จึงเป็นธนาคารแห่งเดียวในเกาหลีใต้ที่ให้บริการผ่านโทรศัพท์ 100% จนสร้างสถิติใหม่ในวงการธุรกิจธนาคารในเกาหลีใต้ด้วยการมีผู้ใช้ทะลุ 1 ล้านรายภายใน 5 วันหลังเปิดตัวในปี 2560 

 

อีกจุดเด่นคือ ความง่ายและเร็ว ที่ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีผ่านมือถือได้ตลอด 365 วัน 24 ชั่วโมง จึงใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็มีบัญชีเป็นของตัวเองแล้ว รวมทั้งสมัครสินเชื่อ หรือ บัตรเครดิตได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้เงินเข้าบัญชีภายใน 5 นาทีไม่ต้องใช้เอกสาร 

 

นอกจากนั้นยังมี KAKAO FRIENDS คาร์แลกเตอร์เฉพาะตัวที่หน้าตาน่ารัก มาสร้างสีสันให้การทำธุรกรรมการเงินไม่เหมือนใคร เช่น ฟังก์ชั่นการออมเงินโดยใช้เจ้าสิงโต “ไรอัน” มาเป็นตัวแทนในการเก็บเงินแต่ละสัปดาห์ (26-week savings) โดยจะมี AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะตัวสำหรับลูกค้าแต่ละราย 

 

เมื่อเทียบกับ K Bank ธนาคารดิจิทัลของบริษัท KT Corporation ที่เปิดตัวเดือนเมษายน ปี 2560 หรือ 3 เดือนก่อนการเปิดตัวของ KakaoBank ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเพียง 6.3 ล้านบัญชี ทั้ง ๆ ที่ K  Bank ดูจะได้เปรียบกว่า เพราะมีฐานลูกค้าจากบริการเทเลคอมเกาหลีใต้กว่า 20 ล้านบัญชี แต่บริษัทก็ไม่สามารถดึงลูกค้าให้มาใช้บริการได้ ส่วน KakaoBank มีฐานลูกค้าจากแอปพลิเคชันแชท KakaoTalk ราว 40 ล้านบัญชี จึงเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน KakaoBank ได้อย่างรวดเร็ว

 

เมื่อมองในฝั่งของผลิตภัณฑ์สำหรับแบงก์ไร้สาขาในต่างแดนนั้น ด้านเงินฝาก เกาหลีมีผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 26 สัปดาห์ เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือ กลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน ซึ่งจูงใจผู้ฝากเงินด้วยการให้ดอกเบี้ยสูง และกำหนดเงินฝากขั้นต่ำในจำนวนน้อย ขณะที่ฝั่งฮ่องกง มีบริการ Smart saving  ช่วยบริหารจัดการเงินตามความต้องการของลูกค้า เช่น กำหนดเป้าหมายการออมเงิน และแยกเงินออมตามเป้าหมายออกจากเงินทีใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสามารถใช้ Financial tools คำนวณเงินที่ต้องออมเพื่อให้บรรถเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ด้านสินเชื่อ สำหรับ SMEs และลูกค้ารายย่อย (จีนและฮ่องกง) ใช้ Big data ในการประเมินรายได้และวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกหนี้แทนการใช้หลักฐานแสดงรายได้ ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการดำเนินการสินเชื่อและการชำระคืนก่อนครบกำหนด และใช้เวลาในการวิเคราะห์ อนุมัติ และเบิกจ่ายสินเชื่อภายในเวลาอันรวดเร็ว

 

ส่วนบริการโอนเงิน (ฮ่องกง) มี Gimmick ให้ลูกค้าเขย่ามือถือหลังชำระเงิน เพื่อรับ Cash reward หรือสะสม Point สำหรับเป็นส่วนลดร้านค้าและร้านอาหารบริการชำระเงิน (อังกฤษ) มี Financial Toos ที่เก็บรวบรวมข้อมูลรายได้และรายจ่ายประเภทต่าง 1 รวมทั้งสามารถกำหนดเพดานรายจ่ายและตั้งเวลาการชำระเงินอัดโนมัติได้

 

มั่นใจแบงก์ไร้สาขาค่ายกรุงไทย-เอไอเอส แกร่ง 

 

ข้อมูลการวิเคราะห์ของ กิตติมา ยังเปิดเผยอีกว่า การลงนามจัดตั้ง Virtual Bank  ของเอไอเอสและกรุงไทย มีจุดแข็งในแง่ของฐานลูกค้า โดยเอไอเอส มีฐานลูกค้าประมาณ 46 ล้านเลขหมาย โดย 70% เป็นระบบเติมเงินและ อีก 30 % เป็นระบบรายเดือน ขณะที่กรุงไทยมีฐานลูกค้า Mobile Banking ประมาณ 14 ล้านคน

 

นอกจากนี้ยังมีโอกาส Cross sell ไปยังผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันเป๋าตัง ดังนั้นจึงกิตติมาจึงมองว่า Virtual Bank ของกรุงไทย กับ เอไอเอส ซึ่งมีฐานลูกค้ากว้าง จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับใบอนุญาต โดยคาดว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้กำไร เนื่องจากในช่วงแรกต้องลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีสูง

 

สำหรับปัจจัยที่จะหนุน Virtual Bank ให้บริการอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1.ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ที่จะทำให้สามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการของลูกค้า 2.ฐานลูกค้า ซึ่งการมีฐานลูกค้าจากธุรกิจอื่นมาก่อนจะทำให้มี Cost of acquisition ที่ต่ำกว่า  จึงสามารถต่อยอดการให้บริการทางการเงินได้ 3. Value proposition การให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า  และ 4. ระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

 

สุดท้ายแล้วเมืองไทยจะแจ้งเกิด Virtual Bank ได้อย่างไร ภายใต้ผู้ให้บริการจากค่ายใดบ้าง ต้องรอติดตามกันต่อไป 

 

จับตาแบงก์ชาติวางแนวทางคุมเข้ม Virtual Bank  ก่อนเปิดบริการปี 2568