posttoday

“ตระกูลไชยวรรณ” ผู้นำธุรกิจประกันชีวิต ส่ง TLI ทำมูลค่าเฉียด 2 แสนล้าน

29 พฤศจิกายน 2565

ไทยประกันชีวิตของตระกูล “ไชยวรรณ” บริษัทคนไทยแท้ ที่อยู่คู่คนไทยมา 80 ปี ยังคงเป็นบริษัทแถวหน้าด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของตลาด จากการเข้าสู่สังเวียนตลาดหุ้นล่าสุดคว้ามูลค่า IPO เกือบ 2 แสนล้าน ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดทั้งในตลาดทุนไทยและตลาดอาเซียน

บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) ของตระกูล “ไชยวรรณ” บริษัทประกันไทยแท้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 14% ของธุรกิจประกันในประเทศไทย แม้จัดเป็นอันดับ 3 (พิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน 2565) ของผู้ให้บริการทั้งหมด แต่เป็นอันดับหนึ่งในฐานะบริษัทคนไทย อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ที่มีมูลค่าใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึง 1.83 แสนล้านบาท 

 

นับตั้งแต่เริ่มธุรกิจจนถึงปัจจุบัน บมจ.ไทยประกันชีวิตมีอายุครบ 80 ปี ในปี 2565 แต่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2565 ที่มีรายได้ 77,787.22 ล้านบาท กำไร 8,019.71 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 61,880 ล้านบาท 

 

จากรายงานของ Forbes พบมูลค่าทรัพย์สินของ “วานิช ไชยวรรณ” ผู้เป็นบิดา ของ “ไชย ไชยวรรณ ” และผู้บุกเบิก ไทยประกันชีวิต มีทรัพย์สินอยู่ที่ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565 จัดเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของเมืองไทย

“ตระกูลไชยวรรณ” ผู้นำธุรกิจประกันชีวิต ส่ง TLI ทำมูลค่าเฉียด 2 แสนล้าน
 

 

“วานิช ไชยวรรณ” วัย 90 ปี บิดาของตระกูล “ไชยวรรณ” มีลูกทั้งหมด 8 คน ปัจจุบันมอบหมายให้ลูกชายคนโต “ไชย ไชยวรรณ” รับไม้ต่อจากบิดา นั่งเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  นับเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลให้มาเรียนรู้งานไทยประกันชีวิตตั้งแต่ปี 2525 จากตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนดูแลด้านการลงทุน ก่อนที่จะเข้าไปรับผิดชอบด้านบัญชี ด้านการบริหารงานภายในและสาขาจนมาถึงตำแหน่งในปัจจุบัน

 

ซึ่งจุดเริ่มต้นของบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเกิดชาวต่างชาตินำเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 แต่ไม่ได้รับความนิยม ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มข้าราชการไทยจึงได้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทประกันชีวิตของคนไทยเป็นบริษัทแรก ในปี 2485 และตั้งบริษัทไทยประกันชีวิตด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในปี 2500 

 

จนกระทั่งในปี 2513 “วานิช” ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้าง ตลอดจนการวางแผนพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตสมัยใหม่ จนก้าวขึ้นสู่บริษัทประกันภัยไทยแท้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 3 ของประเทศรองจาก 2 รายที่เป็นต่างชาติคือ เอไอเอ และ เอฟดับบลิวดี

“ตระกูลไชยวรรณ” ผู้นำธุรกิจประกันชีวิต ส่ง TLI ทำมูลค่าเฉียด 2 แสนล้าน

 

อีกทั้งยังสามารถนำพาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ด้วย IPO ราคา 16 บาท (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap. ณ ราคา IPO อยู่ที่ราว 1.83 แสนล้านบาท ) นับเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตในตลาดทุนไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบัน Market Cap. ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท 
 

 

ไทยประกันชีวิต ถือหุ้นโดยตระกูลไชยวรรณ 85% มีเพียง 15% เท่านั้นที่ถือหุ้นโดยบริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ประเทศญี่ปุ่น โดยผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มวี.ซี.สมบัติ ของตระกูลไชยวรรณ ถือหุ้น 50.79%  ,บริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 15.00% และ  Her Sing (H.K.) Limited บริษัทที่จัดตั้งในประเทศฮ่องกงของ “วิญญู ไชยวรรณ” และ “ชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา” ถือหุ้น 6.19% ที่เหลือล้วนเป็นคนในตระกูลไชยวรรณถือหุ้น

 

ไทยประกันชีวิต ถือเป็นแบรนด์แรกและแบรนด์เดียว ที่สร้างเอกลักษณ์และการจดจำแบรนด์ผ่านหนังโฆษณา แบบสะเทือนอารมณ์มาหลายยุคสมัย ที่โด่งดังและจำกันได้จนถึงทุกวันนี้คือ ภาพยนตร์โฆษณา “ปู่ชิว” ในปี 2547 ที่มีกระแสการพูดถึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือ ภาพยนตร์โฆษณา Unsung Hero ในปี 2557 ที่มียอดรับชมในยูทูปกว่า 110 ล้านครั้ง

 

ภายใต้การบริหารงานของ “ไชย ไชยวรรณ” หลังจากนำพาบริษัทระดุมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น “ไชย ไชยวรรณ” เปิดเผยว่า คือ การวางวิสัยทัศน์บริษัทไปสู่ การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ยกระดับสู่การเป็น Data-Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ ในยุคดิจิทัล ที่ผู้คนมีความอดทนน้อยลง ต้องการสินค้าที่ตรงกับตนเองมากที่สุด และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือคู่แข่งที่ไม่ได้ทำธุรกิจเดียวกับไทยประกันชีวิต แต่สามารถแย่งลูกค้าของไทยประกันชีวิตไปได้จากแพลตฟอร์มดิจิทัล 

 

ก้าวสำคัญของไทยประกันชีวิต คือการกำหนดปรับเปลี่ยนองค์กร 2 ช่วง คือ ปี 2565-2569 การทรานฟอร์มเมชันองค์กรสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการออกบริการดิจิทัล อาทิ การชำระเบี้ย,คู่มือประกันภัย ควบคู่กับการ Upskill และ Reskill ตัวแทนจำหน่ายมีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น สามารถดูแลและวางแผนการใช้ชีวิตให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และการเชื่อมต่อสู่โลกเสมือนจริง และปี 2570-2574 กับการก้าวสู่องค์กรที่เข้มแข็งและยั่งยืน

 

ต้องดูกันต่อไปว่า ด้วยกลยุทธ์ข้างต้นนั้น จะมีส่วนทำให้ไทยประกันชีวิต สามารถขึ้นสู่เบอร์ 2 ในตลาดได้ตามเป้าหมายที่เคยบอกไว้ในช่วงที่กำลังเข้าตลาดหุ้นได้หรือไม่